Latest News

0



นักวิชาการเสนอแยกรัฐ-ศาสนาออกจากกัน แก้ปัญหาการเมืองสงฆ์และการแต่งตั้งสังฆราช

จากกรณีข้อถกเถียงเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ซึ่งตกเป็นข้อพิพาทระหว่างมหาเถรสมาคม (มส.) ที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) กับกลุ่มฆราวาสและพระป่าบางส่วนซึ่งคัดค้านการเสนอชื่อผู้ที่ “ไม่เหมาะสม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัดพระธรรมกายนั้น เรื่องดังกล่าวยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ โดยมีแนวโน้มว่าความขัดแย้งในวงการสงฆ์ครั้งนี้จะยืดเยื้อออกไปอีกนาน โดยฝ่าย มส. ยังคงยืนยันการเสนอชื่อพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ตามกฏหมาย แต่อีกฝ่ายกลับเรียกร้องให้ถวายคืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเอง

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเกิดขึ้นในวงการสงฆ์ไทย และเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา คณะสงฆ์และสังคมไทยจะหาทางออกจากวังวนนี้ได้อย่างไร บีบีซีไทยได้พูดคุยกับนักวิชาการด้านพุทธศาสนาสองคน คือ สุรพศ ทวีศักดิ์ และวิจักขณ์ พานิช ซึ่งต่างก็เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้ ก็ด้วยการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนาให้แยกขาดจากกัน เพื่อไม่ให้ประเด็นทางการเมืองเข้าครอบงำกิจการศาสนา จนทำให้ศาสนาห่างไกลจากความศรัทธาและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมสมัยใหม่

สุรพศ ทวีศักดิ์ มองว่าความขัดแย้งในเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยมีประเด็นการเมืองเรื่องการแบ่งข้างเป็นฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยฝ่ายรัฐมองว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองฝ่ายเสื้อแดงและทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่เป็นที่พึงประสงค์ ทั้งความขัดแย้งดั้งเดิมในเรื่องการแย่งชิงอำนาจการปกครองสงฆ์ ระหว่างฝ่ายธรรมยุติและมหานิกายก็ยังคงอยู่เช่นเดิมด้วย โดยโครงสร้างความสัมพันธ์ของรัฐกับศาสนาที่วางรูปแบบมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 กำหนดให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายธรรมยุติและมหานิกายไม่เท่าเทียม ทำให้มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจการปกครองสงฆ์ของทั้งสองฝ่าย ผ่านการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสงฆ์ฉบับต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมามหาเถรสมาคมเองก็เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในระบอบเผด็จการ ทำให้เกิดความขัดแย้งและไม่สามารถทำงานได้ในสังคมยุคใหม่ที่ เป็นประชาธิปไตย

“การแก้ปัญหาเรื่องพระสังฆราชในระยะสั้นต้องทำตามกฎหมาย แต่ในระยะยาว เมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตยแล้ว สังคมย่อมต้องการเห็นการพัฒนาของสถาบันศาสนาที่สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตย จะต้องมาคุยกันถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐใหม่ ควรแยกรัฐออกจากศาสนา รัฐไม่ใช่เวทีที่ศาสนาจะเข้ามาแชร์อำนาจ แชร์งบประมาณ ด้วยการออกกฎหมายต่าง ๆ ถ้าระบบแบบนี้มีอยู่ความเป็นกลางของรัฐจะหาไม่เจอ ควรจะให้เป็นแบบในโลกตะวันตก ให้ศาสนาเป็นองค์กรเอกชนไปเลย ถ้าแยกไม่ได้ก็จะเป็นปัญหาเช่นนี้อยู่ตลอด” สุรพศ ทวีศักดิ์ กล่าว

ด้านวิจักขณ์ พานิช แสดงความเห็นว่า ควรแยกกิจการศาสนาออกจากการควบคุมของรัฐ เพราะแนวทางคำสอนของสงฆ์แต่ละรูป แต่ละวัด ไม่เหมือนกัน ควรให้สถาบันศาสนาเป็นอิสระในการบริหารและเผยแพร่คำสอนเอง และอาจทำการบริหารในรูปมูลนิธิ ซึ่งจะสอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่มากที่สุด ส่วนเรื่องความขัดแย้งกรณีการแต่งตั้งพระสังฆราช คนรุ่นใหม่อาจมองได้ว่าไม่เกี่ยวอะไรกับตน เพราะการทะเลาะถกเถียงเรื่องสังฆราช ไม่มีความสัมพันธ์กับประเด็นทางศาสนาที่คนรุ่นใหม่เกี่ยวข้องและให้ความสนใจอยู่แต่อย่างใด การที่สงฆ์ทะเลาะกันไม่เสร็จเสียที ทำให้คนตั้งคำถามว่า การแย่งชิงอำนาจของสงฆ์มันเกี่ยวอะไรกับศาสนาพุทธของคนรุ่นใหม่ การเมืองของสงฆ์ในเรื่องนี้ยิ่งทำให้ศาสนาแยกห่างจากชีวิตของผู้คนทั่วไปออกไปอีก


Loading video......
Posted by บีบีซีไทย - BBC Thai on 28 มกราคม 2016

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Emoticon
:) :)) ;(( :-) =)) ;( ;-( :d :-d @-) :p :o :>) (o) [-( :-? (p) :-s (m) 8-) :-t :-b b-( :-# =p~ $-) (b) (f) x-) (k) (h) (c) cheer
Click to see the code!
To insert emoticon you must added at least one space before the code.

 
Top