เอ็นจีโอสิทธิเรียกร้อง บ.ทุ่งคำ ถอนฟ้องหมิ่นประมาท ไทยพีบีเอส
Posted: 03 Oct 2016 06:28 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
3 ต.ค. 2559 องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์ (Fortify Rights) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งทำกิจการเหมืองทองคำในประเทศไทย ยุติกระบวนการทางกฎหมายอาญาใดๆ ที่มีต่อองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท) (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) และผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่คน ทั้งที่เป็นและเคยเป็นพนักงานของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จากกรณีการรายงานข่าวนักข่าวพลเมือง ตอน ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 รวมถึงเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา และประกันว่าผู้สื่อข่าวมีเสรีภาพในการรายงานข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหาสิ่งแวดล้อม
รายละเอียดมีดังนี้
ประเทศไทย: ถอนข้อกล่าวหาทางอาญาต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
รัฐบาลควรปกป้องเสรีภาพสื่อและยกเลิกบทลงโทษทางอาญาของกฎหมายหมิ่นประมาท
(กรุงเทพฯ, 3 ตุลาคม 2559)— บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งทำกิจการเหมืองทองคำในประเทศไทย ควรยุติกระบวนการทางกฎหมายอาญาใดๆ ที่มีต่อองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท) (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) และผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่คน ทั้งที่เป็นและเคยเป็นพนักงานของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์กล่าวในวันนี้ ศาลอาญากรุงเทพฯ มีกำหนดการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องคดีในวันนี้และวันที่ 10 ตุลาคม
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด กล่าวหาสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่าสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับบริษัท เนื่องจากรายงานข่าวที่กล่าวหาว่ามีผลกระทบในทางลบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการทำเหมืองทองคำในจังหวัดเลย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทางบริษัทเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท รวมทั้งร้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นเวลาห้าปี
“เป็นเรื่องจำเป็นที่นักข่าวในประเทศไทยต้องสามารถทำงานของตน โดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการถูกตอบโต้และการคุกคามด้วยกฎหมาย” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหาร องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์กล่าว “สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสให้บริการสำคัญต่อสาธารณะ สมควรรับการยอย่อง ไม่ใช่ถูกคุกคาม ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่เป็นความจริง และควรมีการถอนข้อกล่าวหาโดยทันที”
การตั้งข้อกล่าวหาคดีหมิ่นประมาททางอาญาของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์กล่าว
สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการนักข่าวพลเมือง เป็นรายงานข่าว เกี่ยวกับการจัดค่ายเยาวชน เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เด็กนักเรียนหญิงอายุ 15 ปี ซึ่งเข้าร่วมในค่ายเยาวชน เป็นผู้บรรยายในรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยระบุว่า หกหมู่บ้านในบริเวณเหมืองทองคำ “เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ” เธอได้กล่าวต่อไปว่า “ลำน้ำฮวยมีสารปนเปื้อน ทำให้ใช้ดื่มใช้กินไม่ได้”
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นฟ้องข้อกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งข้อกล่าวหาอื่นต่อนางสาววิรดา แซ่ลิ่ม ผู้สื่อข่าว นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในขณะนั้น นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายโยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการสำนักโทรทัศน์และวิทยุ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเองด้วย โดยกล่าวหาว่า เนื้อหาของรายงานข่าวจากนักข่าวพลเมืองที่เผยแพร่ทั่วประเทศผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ทำลายชื่อเสียงของบริษัท
ทั้งนี้ ศาลจะมีการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องในวันนี้และวันที่ 10 ตุลาคม หลังการไต่สวนมูลฟ้องหลายครั้งก่อนหน้านี้
ทนายความสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของทีมทนายความซึ่งเป็นผู้แทนทางกฎหมายให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และพนักงานที่เกี่ยวข้องในคดีนี้
ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐได้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา เพื่อปราบปรามเสรีภาพสื่อ และข่มขู่แกนนำชุมชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ก่อนหน้านี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาอีกหกคดีต่อสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่รณรงค์ให้ปิดเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ชาวต่างประเทศก็ตกเป็นเป้าคุกคามเช่นกัน เมื่อวันที่ 20 กันยายน ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตัดสินว่านายอานดี้ ฮอลล์ (Andy Hall) นักวิจัยสัญชาติอังกฤษว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา และละเมิดพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการทำงานข้อมูลการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงานในประเทศไทย บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดฟ้องคดีต่อนายฮอลล์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เนื่องจากการทำงานเก็บข้อมูลที่กล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานของคนงานในโรงานของบริษัทในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา และประกันว่าผู้สื่อข่าวมีเสรีภาพในการรายงานข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหาสิ่งแวดล้อม
“การหมิ่นประมาทไม่ควรเป็นคดีอาญา” เอมี สมิธกล่าว “รัฐบาลควรสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ ไม่ใช่บริษัท ซึ่งมุ่งปราบปรามไม่ให้ชุมชนส่งเสียงเรียกร้อง”
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น