ผู้หญิงในซาอุฯ เรียกร้องสิทธิ-ขอยกเลิกระบบต้องคอยให้ผู้ชายคุ้มหัว
Posted: 03 Oct 2016 12:53 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ในซาอุดิอาระเบียมีระบบที่บังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลของผู้ชายที่อยู่ใกล้ชิด เป็นการจำกัดสิทธิทางกฎหมายและลิดรอนสิทธิในชีวิตประจำวันของพวกเธอ แต่ก็เริ่มมีผู้หญิงจากระดับรากหญ้าเริ่มเคลื่อนไหวไม่ยอมตกอยู่ภายใต้ "ความคุ้มครอง" ที่บีบเค้นพวกเธออีกต่อไปแล้ว
I Am Still My Own Guardian #Iammyownguardian #سعوديات_نطالب_باسقاط_الولايه #madeatsca #politicalart pic.twitter.com/jLKJk4halb
— Ms Saffaa (@MsSaffaa) 2 สิงหาคม 2559
3 ต.ค. 2559 ในประเทศซาอุดิอาระเบียที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยการเหยียดเพศ มีผู้หญิงที่เริ่มแสดงให้เห็นถึงความพยายามจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไม่กี่เรื่องในแบบที่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างเช่นการที่พระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ให้สิทธิผู้หญิงในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อปี 2554 ในระดับรากหญ้าก็มีคนจำนวนมากพยายามเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานมากกว่านั้น เช่นในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นฤดูร้อนของประเทศซาอุฯ มีนักกิจกรรมรณรงค์ผ่านทางออนไลน์เพื่อเรียกร้องให้มีการรื้อถอนระบบ "ความคุ้มครอง" (guardianship) ซึ่งเป็นระบบที่บังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองของญาติเพศชาย หลายคนมองว่าระบบนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงในซาอุฯ เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้หญิงซาอุฯ และผู้สนับสนุนพวกเธอจากทั่วโลกมีการรณรงค์ด้วยการทวีตผ่านแฮชแท็กที่ระบุว่า "ผู้หญิงชาวซาอุฯ ต้องการทำให้ระบบความคุ้มครองหมดไป" นอกจากนี้ยังมีการใช้แฮชแท็กเป็นภาษาอังกฤษว่า #IAmMyOwnGuardian (ฉันเป็นผู้คุ้มครองตนเอง) และ #StopEnslavingSaudiWomen (หยุดทำให้ผู้หญิงซาอุฯ เป็นทาส) เพื่อดึงดูดการสนับสนุนจากนานาชาติรวมถึงผู้สนับสนุนในประเทศ
อะซิซา อัล ยุสเซฟ นักกิจกรรมในซาอุฯ กล่าวว่า การรณรงค์ในครั้งนี้เพราะต้องการให้ผุ้หญิงซาอุฯ ได้รับสิทธิ "เป็นพลเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ... รับผิดชอบกับการกระทำของพวกเธอเอง" โดยที่การลงนามเรียกร้องหยุดระบบความคุ้มครองมีผู้ลงนามสนับสนุนมากกว่า 14,000 รายชื่อแล้ว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักกิจกรรมหลายคนรวมถึง อัล ยุสเซฟ นำข้อร้องเรียนนี้เสนอต่อราชสำนัก โดยที่พวกเธอไม่สามารถนำเอกสารส่งด้วยตนเองได้จึงมีการส่งให้ผ่านทางจดหมาย
ช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มุฟตีสูงสุด อับดุลลาซิซ อัล ชีค ที่เป็นผู้นำทางศาสนาของซาอุฯ แสดงการต่อต้านการรณรงค์ของผู้หญิงซาอุฯ อย่างหนัก โดยกล่าวหาผ่านทางทวิตเตอร์ว่าเป็น "อาชญากรรมต่อต้านอิสลาม" แต่ก็มีคนจำนวนมากโต้แย้งว่าระบบความคุ้มครองในซาอุฯ นั้นเป็นการตีความคัมภีร์อัลกุรอานที่ไม่แม่นยำ ผู้จัดการรณรงค์ยังบอกอีกว่ามีผู้นำศาสนาคนอื่นๆ จำนวนมากสนับสนุนการรณรงค์ของพวกเขา "พวกเขาทุกคนประกาศว่า (ระบบความคุ้มครอง) ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา" อัล ยุสเซฟ กล่าว "มันเป็นกฎที่มาจากรัฐบาลทั้งหมดและควรจะเปลี่ยนแปลง"
ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ระบบความคุ้มครองในทางกฎหมายทำให้ผู้หญิงอยู่ในสถานะ "ผู้น้อยตลอดชีวิต" ทำให้ผู้หญิงไม่มีสิทธิดำเนินการทางกฎหมายอย่างเต็มที่ในซาอุฯ และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองที่เป็นชายก่อนในเรื่องสำคัญอย่างการเดินทางและการแต่งงาน ในบางครั้งยังรวมถึงการสมัครงานและการรับบริการทางการแพทย์ด้วย โดยปกติแล้วผู้ปกครองของผู้หญิงในซาอุฯ มักจะเป็นญาติที่ใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นพ่อ, พี่ชาย, น้องชาย, สามี หรือลูกชาย ผู้หญิงมีหนทางน้อยมากในการที่จะทำตรงข้ามการตัดสินใจของผู้ปกครอง ยังไม่นับว่าในซาอุฯ มีกฎหมายที่แบ่งแยกกีดกันเพศหญิงอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการห้ามผู้หญิงขับรถ รวมถึงยังมีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นทางการในชีวิตประจำวันที่ลิดรอนสิทธิพวกเธอโดยไม่ต้องอาศัยกฎหมาย
หญิงชาวซาอุฯ คนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ประเด็นการถูกเหยียดในชีวิตประจำวันกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า "มันกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอะไรในหัวของคุณและเปลี่ยนแปลงวิธีการที่คุณมองตัวเองได้ว่าคุณเคารพตัวเองในแบบไหน หรือครอบครัวคุณเคารพในตัวคุณอย่างไรถ้าเขาเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายของคุณ"
รัฐบาลซาอุดิอาระเบียเคยสัญญาว่าจะยกเลิกระบบนี้ 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งในปี 2552 และอีกครั้งหนึ่งในปี 2556 เมื่ออยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในขณะที่การรณรงค์ครั้งล่าสุดนี้ได้รับการสนับสนุนจากฮิวแมนไรท์วอทช์ที่มีบทวิจารณ์เสียดแทงระบบความคุ้มครองของซาอุฯ เช่นในรายงานฉบับหนึ่งของพวกเขาระบุว่าระบบนี้เป็น "อุปสรรคสำคัญที่สุดที่กีดขวางสิทธิสตรีในประเทศแม้ว่าจะมีการปฏิรูปตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา" ถึงแม้ว่าซาอุฯ จะมีแผนการวิสัยทัศน์ที่เสนอให้ขยายบทบาทของผู้หญิงในสังคมของซาอุฯ แต่นักวิจารณ์ก็ยืนยันว่าจะยังคงระบบความคุ้มครองอยู่ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม กระแสเริ่มตีกลับเมื่อมีประชาชนผู้หญิงในซาอุฯ ที่ได้รับการศึกษาระดับสูงเข้าถึงการจ้างงานได้มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่นได้ในระดับจำกัด ในระดับประเทศผู้นำหญิงอย่างเจ้าฟ้าหญิงรีมาร์ บินท์ บันดาร์ ที่แสดงออกสนับสนุนการเสริมพลังให้ผู้หญิงอย่างเปิดเผยและดูมีความคืบหน้า ในขณะเดียวกันการรณรงค์ที่เกิดขึ้นจากอัล ยุสเซฟ ก็แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีการเคลื่อนไหวจากในระดับรากหญ้าที่พร้อมจะเดินทางกันต่อไปในระยะยาวด้วย
อัล ยุสเซฟ ให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีว่าพวกเขามีความหวังอยู่ตลอดเวลาเพราะถ้าไม่มีความหวังก็ทำงานไม่ได้
เรียบเรียงจาก
Saudi women push for full rights, demand end to guardianship system, Waging Nonviolence, 29-09-2016
http://wagingnonviolence.org/2016/09/saudi-women-push-full-rights-demand-end-guardianship-system/
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น