0
รอบโลกแรงงานกันยายน 2559

Posted: 02 Oct 2016 02:46 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ข่าวเจาะเผยสหรัฐฯ ค้ามนุษย์แรงงานประมงเสียเอง/พนักงานธนาคารในบราซิลประท้วง หวังนายจ้างขึ้นค่าแรง/กลุ่มสิทธิแรงงานจี้บังกลาเทศปรับปรุงมาตรฐานโรงงาน/บราซิลสั่งยึดทรัพย์สินแม่ข่ายถ่ายทอดโอลิมปิกฐานละเมิดกฎหมายแรงงาน/เวียดนามเตรียมยืดเวลาเกษียณงานอายุ แก้ไขปัญหาเงินบำนาญ/Yahoo Japan เตรียมให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ รับมือสังคมสูงวัย/เผยแบตเตอรี่ผลิตจากโคบอลต์รถยนต์ไฟฟ้ามีสายพานการผลิตจากเหมืองใช้แรงงานเด็กในคองโก

สำนักข่าว AP ทำข่าวเจาะสหรัฐฯ ค้ามนุษย์แรงงานประมงเสียเอง


แม้สหรัฐอเมริกามีการจัดทำรายงานสรุปปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนทุกปี แต่ล่าสุดสำนักข่าว AP ก็ออกมาแฉว่าสหรัฐฯ เองก็มีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ในธุรกิจการประมงเช่นกัน โดย AP ระบุว่าแม้ธุรกิจการประมงในสหรัฐจะทำเงินมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมงปลาทูน่า ที่ปลาบางตัวทำเงินได้ถึงหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปรากฏว่าชาวประมงหลายคนเป็นชาวต่างชาติที่ไม่มีเอกสารการทำงานที่ถูกต้อง รวมทั้งได้ค่าจ้างแค่เพียงเล็กน้อย และถูกกักตัวอยู่บนเรือแต่ละครั้งนานเป็นปีแม้ว่าไม่ใช่เรือทุกลำจะมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายแต่ทาง AP พบปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ปัญหาอาหารไม่เพียงพอ และโรควัณโรคในลูกเรือเท่าที่ตรวจพบ ปรากฏว่าในสหรัฐมีแรงงานที่ไม่มีวีซ่ากลุ่มนี้อยู่ราว 700 คน เนื่องจากมีช่องโหว่ทางกฎหมาย ของรัฐบาลที่ระบุให้ชาวประมงที่ไม่มีเอกสารสามารถทำงานบนเรือของรัฐฮาวายได้ ตราบเท่าที่พวกเขายังคงอยู่แต่ในเรือเท่านั้นคนเหล่านี้จึงไม่มีการปกป้องเรื่องค่าแรงและมีการคุ้มครองทางกฎหมายน้อยมาก โดยบางคนมีรายได้ชั่วโมงละแค่ 70 เซ็นต์เท่านั้น และต้องทำงานวันละ 22 ชั่วโมง และแม้กระทั่งเรือจอดเทียบท่าที่ฮาวาย คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ โดยทางกัปตันเรือจะเก็บหนังสือเดินทางของพวกเขาไว้ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลยินยอมให้กระทำได้ โดยแรงงานส่วนมากมาจากประเทศแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกเคยมีลูกเรืออินโดนีเซีย 2 คนที่หลบหนีออกมาจากเรือที่จอดอยู่ที่ซานฟรานซิสโกและต่อมาพวกเขาได้วีซ่าพิเศษที่ออกให้เหยื่อการค้ามนุษย์

ที่มา: npr.org, 8/9/2016

Marks & Spencer เตรียมปลดพนักงานกว่า 525 คน ระบุปรับโครงสร้างองค์กร

Marks & Spencer ออกแถลงการณ์ว่า บริษัทฯ เตรียมปลดพนักงานที่สำนักงานใหญ่ 525 คน รวมทั้งยังวางแผนที่จะลดหรือย้ายพนักงานด้านไอทีและโลจิสติกส์ราว 400 คนที่ประจำสำนักงานในกรุงลอนดอน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น การประกาศในครั้งนี้สะท้อนความเคลื่อนไหวในการปรับโครงสร้างองค์กร หลังจากยอดขายในอังกฤษในไตรมาสที่สิ้นสุดวันที่ 2 ก.ค. ร่วงลง 4.3% สวนทางการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

Marks & Spencer เปิดเผยก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ค. ว่าบริษัทจะพิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรและร้านค้าในอังกฤษ เนื่องจากบริษัทกำลังหาทางฟื้นฟูและขยายธุรกิจเสื้อผ้าและของตกแต่งบ้าน ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานประจำสำนักงานใหญ่ 7 แห่งในอังกฤษมากกว่า 3,500 คน และมีพนักงานหน้าร้านและพนักงานบริการลูกค้า 71,000 คนในอังกฤษ

ที่มา: bbc.co.uk, 5/9/2016

พนักงานธนาคารในบราซิลประท้วง หวังนายจ้างขึ้นค่าแรง

สหภาพแรงงานของภาคธนาคารบราซิลเปิดเผยว่า พนักงานธนาคารของบราซิลจะเริ่มหยุดงานประท้วงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อเรียกร้องให้ปรับเพิ่มค่าจ้างในอัตรา 14.78% การประท้วงครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อทั้งธนาคารของรัฐบาลและเอกชน หลังจากที่สหภาพแรงงานของภาคธนาคารไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างกับนายจ้างได้ โดยธนาคารได้ปรับเพิ่มค่าจ้างให้กับพนักงานเพียง 6.5% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 10.67% ในปี 2015 ของบราซิล

ทั้งนี้พนักงานเรียกร้องให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ 3,940 เรียล (1,194 ดอลลาร์) ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศถึง 4 เท่า ให้ปรับปรุงสวัสดิการด้านอาหารของพนักงานธนาคารให้ดีขึ้น และให้ใช้มาตรการเพื่อลดการปลดพนักงานลง ด้านสหพันธ์ธนาคารแห่งชาติของบราซิลระบุวานนี้ว่า ทางสหพันธ์จะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของพนักงาน พร้อมกับเสริมว่า ทางสหพันธ์ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าจ้างให้กับพนักงานในอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พนักงานของธนาคารในบราซิล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 512,000 ทั่วประเทศ ได้ผละงานประท้วงมาแล้วหลายครั้ง และยังไม่มีครั้งไหนที่การเจรจาประสบความสำเร็จ ในปี 2015 พนักงานภาคธนาคารของบราซิลได้ผละงานประท้วงติดต่อกันนานถึง 21 วัน และได้ยุติลงหลังจากที่ธนาคารยอมปรับเพิ่มการขึ้นค่าจ้างจาก 6.5% เป็น 10%

ที่มา: Xinhua, 6/9/2016

กลุ่มสิทธิแรงงานจี้บังกลาเทศปรับปรุงมาตรฐานโรงงาน

องค์กรสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ ประกอบด้วยสภาองค์กรสิทธิแรงงานสภาสิทธิแรงงานนานาชาติ (International Labor Rights Forum) เครือข่ายการรณรงค์เสื้อผ้าสะอาด (Clean Clothes Campaign) และเครือข่ายสมานฉันท์ “Maquila” ร่วมกันออกแถลงการณ์เพื่อให้รัฐบาลบังกลาเทศและแบรนด์ข้ามชาติ เร่งขยายการปรับปรุงความปลอดภัยของโรงงานอุตสาหกรรม ภายหลังที่โรงงานสิ่งทอ Tampaco Foils เกิดเพลิงไหม้

ทั้งนี้โรงงานผลิตต้นทุนต่ำมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจบังกลาเทศ เนื่องจากผู้ค้าปลีกข้ามชาติแห่มาลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดใหญ่และแรงงานราคาถูก โดยจำนวนโรงงานทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าศักยภาพการควบคุมความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากโรงงานอยู่บ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ที่มา: cleanclothes.org, 10/9/2559

กลุ่มผู้ประท้วงกฎหมายปฏิรูปแรงงานฝรั่งเศสปะทะตำรวจ

กลุ่มผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจปราบจลาจล ทั้งในกรุงปารีสและหัวเมืองต่าง ๆ ในการประท้วงกฎหมายปฏิรูปแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วฝรั่งเศส มีการขว้างระเบิดเพลิง ขวดน้ำและกระป๋องเบียร์ใส่ตำรวจ ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนไปตามถนนใจกลางกรุงปารีส มีการจุดไฟเผาสิ่งของกลางถนน ขว้างปาประทัดและวัตถุสิ่งของใส่ตำรวจ ทำให้ตำรวจตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา โดยตำรวจเฉพาะในกรุงปารีสตำรวจคาดการว่ามีผู้ประท้วงระหว่าง 12,500-13,500 แต่สหภาพแรงงานโต้ว่าตัวเลขจริงสูงกว่านั้นไม่ต่ำกว่า 2 เท่า อย่างไรก็ตามกลุ่มสหภาพแรงงานในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้นำการประท้วงกฎหมายปฏิรูปแรงงานตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาประกาศว่าการประท้วงครั้งนี้ จะเป็นครั้งสุดท้ายของการประท้วงกฎหมายดังกล่าว ส่วนสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ต้องยุติการประท้วง คาดว่าเป็นเพราะผู้เข้าร่วมการประท้วงลดลงเรื่อย ๆ

สำหรับกฎหมายปฏิรูปแรงงานของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชนวนการประท้วงที่เกิดขึ้นหลายครั้งนั้น มีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานอย่างมากมายของฝรั่งเศส เพื่อให้นายจ้างสามารถจ้างและเลิกจ้างแรงงานได้ง่ายขึ้น และเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานสูงเกือบร้อยละ 10 ของฝรั่งเศส แต่แรงงานฝรั่งเศสไม่พอใจ โดยระบุว่า เป็นการลดมาตรฐานการคุ้มแรงงานที่สูงของฝรั่งเศส

ที่มา: businessinsider.com, 15/9/2016

บราซิลสั่งยึดทรัพย์สินแม่ข่ายถ่ายทอดโอลิมปิกฐานละเมิดกฎหมายแรงงาน

ศาลบราซิลสั่งยึดทรัพย์สินสำนักงานบริการแพร่ภาพกระจายเสียงโอลิมปิก (OBS) ซึ่งเป็นแม่ข่ายแพร่ภาพกระจายเสียงการแข่งขันให้แก่ผู้รับสิทธิการถ่ายทอดทั่วโลก เนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงาน อัยการบราซิลแถลงว่า OBS ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ตั้งขึ้นในปี 2001 กดขี่ลูกจ้างหลายพันคน เช่น ให้ทำงานนานกว่าวันละ 10 ชั่วโมงในช่วงที่มีการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนรีโอ 2016 ระหว่างวันที่ 5-21 สิงหาคม และการแข่งขันพาราลิมปิกระหว่างวันที่ 7-18 กันยายนที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป ศาลจึงมีคำสั่งเมื่อวันจันทร์ตามเวลาบราซิลให้ยึดยวดยาน อุปกรณ์การแพร่ภาพกระจายเสียง เครื่องใช้ และทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ในธนาคารบราซิล

ที่มา: bloomberg.com, 19/9/2016

ประท้วงต่อต้านข้อตกลงการค้า TTIP ตามเมืองใหญ่ของเยอรมนี

ผู้ประท้วงต่อต้านข้อตกลงการค้า TTIP (Transatlantic Trade and Investment Partnership) รวมตัวกันแสดงพลังตามเมืองใหญ่ของเยอรมนี เพราะไม่เห็นด้วยกับการเปิดการค้าเสรีของสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ การประท้วงนี้ยังต่อต้านความตกลงลักษณะเดียวกันระหว่างยุโรปและแคนาดา ที่เรียกว่า CETA (Canada-EU Comprehensive and Trade Agreement) ด้วย

ฝ่ายผู้ประท้วงประเมินตัวเลขผู้เข้าร่วมเดินขบวนว่ามี 320,000 คน ตามเมืองใหญ่ๆ เช่น Berlin, Cologne, Frankfurt, Hamburg, Leipzig, Munich และ Stuttgart ขณะที่ฝ่ายตำรวจกล่าวว่า จำนวนผู้ประท้วงอยู่ราว 180,000 คน และว่าการเดินขบวนในเมืองต่างๆ เป็นไปอย่างสงบ โดยประชาชนเหล่านี้เชื่อว่า ความตกลงการค้าทั้งสองฉบับจะทำให้ความปลอดภัยด้านอาหารลดลง รวมถึงมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานที่อาจถูกลดทอนลงด้วย

ที่มา: VOA, 19/9/2016

สหภาพแรงงาน Unifor แคนาดาเล็งปิดโรงงาน GM ประท้วง

สหภาพแรงงานภาคยานยนต์ของแคนาดา (Unifor) เปิดเผยว่าพนักงานของบริษัท General Motors กว่าหลายพันคนเตรียมปิดโรงงานประท้วง หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงในเรื่องสัญญาได้ภายในวันนี้ตามเวลาแคนาดา หลังจากที่เจรจามาหลายสัปดาห์แต่ไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้นอกเหนือจาก General Motors แล้ว ทางสหภาพแรงงานยังมีแผนเจรจากับ Ford และ Fiat Chrysler ด้วย

ที่มา: fortune.com, 20/9/2016

เวียดนามเตรียมยืดเวลาเกษียณงานอายุ แก้ไขปัญหาเงินบำนาญ

กระทรวงแรงงานเวียดนามออกมาระบุว่าต้องการเพิ่มอายุเกษียณในกลุ่มคนทำงานผู้ชายอีก 2 ปี เป็น 62 ปี และผู้หญิงเพิ่มอีก 3 ปี เป็น 58 ปี นอกจากนั้น อายุเกษียณควรแตกต่างกันไปแต่ละอุตสาหกรรมที่มีอยู่หลากหลาย ตามข้อเสนอที่จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนหน้า

แรงงานหนุ่มสาว และแรงงานราคาถูกเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดึงดูดความสนใจการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในเวียดนาม ที่มีมูลค่าถึง 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีก่อน ประมาณร้อยละ 70 ของประชากร 90 ล้านคนของเวียดนามอยู่ในวัยทำงาน ซึ่งธนาคารโลกระบุว่า ผู้สูงอายุในเวียดนามมีอัตราเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ระดับรายได้กลับต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มอายุเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ความกังวลของรัฐบาลคือ แรงกดดันในระบบประกันสังคม ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ไว้ว่า จะหมดลงในปี 2034 หากเวียดนามยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย แต่แผนของกระทรวงแรงงานดูเหมือนจะสอดคล้องต่อสิ่งที่ ILO ได้แนะนำไว้ คือ การปรับเพิ่มอายุเกษียณเพื่อชดเชยการลดลงของประชากรวัยทำงานในอนาคต และช่วยให้โครงการเงินบำนาญดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: businessinsider.com, 22/9/2016

ผลสำรวจการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนพบว่า ชะลอตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2015

บริษัท IHS Markit ที่ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนมีรายงานประจำเดือนกันยายนว่า ตัวเลขการขยายตัวน่าผิดหวังจากภาวะชะลอตัว และระบุว่าทางการจำเป็นต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น รายงานผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)ในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรประจำเดือนกันยายนพบว่าลดลงมาที่ 52.6 จุด จาก 52.9 จุดเมื่อเดือนสิงหาคม สำหรับระดับที่เหนือกว่า 50 ถือว่าเศรษฐกิจขยายตัว ดัชนี PMI เป็นมาตรวัดธุรกิจและเครื่องชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจ

ที่มา: economiccalendar.com, 23/9/2016

สหภาพแรงงาน Hyundai หยุดงานประท้วงเต็มรูปแบบครั้งแรกในรอบ 12 ปี

โรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่งของบริษัท Hyundai Motor ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ผละงานประท้วงของกลุ่มคนงานในวันนี้ ซึ่งนับเป็นการประท้วงครั้งแรกในรอบกว่า 12 ปี โดยโฆษกของสหภาพแรงงานได้เปิดเผยว่า จำนวนพนักงานเกือบ 50,000 คนที่ทำงานอยู่ในโรงงาน 3 แห่งทั่วเกาหลีใต้ ได้พร้อมใจร่วมผละงานเพื่อทำการประท้วงแบบเต็มวันในวันนี้

นอกจากนี้ในแผนการหยุดงานของสหภาพแรงงานยังรวมไปถึง การประท้วงผละงานแบบไม่เต็มวันเป็นเวลา 6 ชม.ต่อวัน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันอังคาร (27 ก.ย.) ไปจนถึงวันศุกร์ (30 ก.ย.) โดยพบว่าพนักงาน Hyundai ได้จัดการประท้วงผละงานแบบไม่เต็มวันทุกปีนับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา และเกิดขึ้นเกือบจะ 20 ครั้งเฉพาะสำหรับในปีนี้ ซึ่งจุดประสงค์การประท้วงผละงานเพื่อต้องการต่อรองขอค่าแรงเพิ่มและต้องการเรียกร้องให้มีการจัดการสวัสดิการสำหรับพนักงานให้ดีขึ้น โดยในการเรียกร้องล่าสุดยังรวมไปถึงการขอขึ้นค่าแรงอีก 7.2% และโบนัสสำหรับพนักงาน รวมคิดเป็นราว 30% ของกำไรสุทธิของบริษัทในปีที่ผ่านมา

ที่มา: wsj.com, 26/9/2016

Yahoo Japan เตรียมให้พนักงานทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ รับมือสังคมสูงวัย

สื่อท้องถิ่นเปิดเผยว่า Yahoo Japan กำลังศึกษานโยบายปรับเวลาทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อรับมือสังคมสูงอายุซึ่งบีบให้พนักงานออฟฟิศในญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยต้องลาออกไปดูแลพ่อแม่หรือญาติสูงอายุ ทั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผยอัตราเงินเดือนตามนโยบายใหม่นี้

นอกจากนโยบายปรับวันทำงานแล้ว เดือนตุลาคมนี้ บริษัทฯ จะเริ่มเปิดให้พนักงานเบิกค่าเดินทางได้สูงสุด 150,000 เยนต่อเดือน เพื่อให้พนักงานที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถนั่งรถไฟมาทำงานได้ พร้อมกับอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ 5 วันต่อเดือน เพิ่มจากเดิม 2 วันต่อเดือน

ที่มา: japantimes.co.jp, 25/9/2016

กัมพูชาเตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภาคอุตสาหกรรมผลิตรองเท้าและเครื่องนุ่งห่มเป็น 153 ดอลลาร์ต่อเดือนตั้งแต่ปีหน้า

ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ผู้ประกอบการ และสหภาพแรงงานที่สนับสนุนการปรับเพิ่มเงินเดือนจาก ได้ข้อสรุปในการเพิ่มค่าแรงจาก 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันเป็น 153 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในภาคอุตสาหกรรมผลิตรองเท้าและเครื่องนุ่งห่ม หลังเจรจากันนานหลายเดือน โดยกระทรวงแรงงานกัมพูชาระบุว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงาน และกระตุ้นการผลิต ส่วนผลประโยชน์อื่น ๆ ที่แรงงานเคยได้รับก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม โดยอัตราค่าแรงใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2017 อย่างไรก็ตาม ค่าแรงขั้นต่ำใหม่นี้ยังไม่เท่ากับที่สหภาพแรงงานเรียกร้องที่จำนวน 171 153 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: cambodiadaily.com, 29/9/2016

เผยแบตเตอรี่ผลิตจากโคบอลต์รถยนต์ไฟฟ้ามีสายพานการผลิตจากเหมืองใช้แรงงานเด็กในคองโก

Amnesty International เปิดเผยว่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตจากโคบอลต์ซึ่งขุดจากเหมืองที่ใช้แรงงานเด็กในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเรียกร้องให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้เคารพสิทธิมนุษยชนตลอดสายการผลิตแบตเตอรี่

โดยแถลงการณ์ระบุว่า "รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้สะอาดจริงอย่างที่ท่านคิด" รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเปิดเผยข้อเท็จจริงกับลูกค้าถึงสภาพการทำงานของเด็กในเหมืองโคบอลต์ ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก "เป็นไปได้มากว่ามีการนำโคบอลต์ที่ขุดจากเหมืองโดยการใช้แรงงานเด็กมาใช้สำหรับผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

Amnesty International ยังระบุว่าไม่มีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใดที่ทำการชี้แจงแหล่งที่มาของโคบอลต์ ที่ใช้ในแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อาจเป็นเพราะว่า ไม่มีระบบการตรวจสอบที่มาของสินค้า หรือไม่เคยค้นหาถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต จำนวนโคบอลต์กว่าครึ่งหนึ่งที่ใช้ในโลกมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และร้อยละ 20 ที่มีการขุดด้วยมือจากเหมืองแร่โคบอลต์ นอกจากนั้น แบตเตอรี่ลิเทียมยังมีการใช้อย่างแพร่หลายในโทรศัพท์มือถือ โดย Amnesty International ก็ระบุว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ที่มา: Amnesty International, 29/9/2016

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top