พบทารกแรกเกิดหัวเล็กจากโรคซิกา 2 รายแรกในไทย
Posted: 30 Sep 2016 06:50 PM PDT
กรมควบคุมโรคแถลงไทยเจอทารกแรกเกิดหัวเล็กจากซิกา 2 ราย แนะหญิงท้องระวังอย่าให้ยุงกัด-มีเซ็กใช้ถุงยางอนามัย ยันในไทยไม่ถือว่าระบาด
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าที่กรมควบคุมโรค ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งประกอบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาว่า จากกรณีที่ประเทศไทยมีทารกคลอดแล้วมีศีรษะเล็ก จำนวน 3 ราย ซึ่งไม่ได้เป็นการคลอดจากหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่พบผู้ป่วยโรคซิกา จึงจำเป็นต้องเข้าสู่การหารือของคณะกรรมการวิชาการฯเพื่อพิจารณาถึงสาเหตุ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯลงความเห็นเป็นมติว่า ในจำนวน 3 ราย พบว่า 2 ราย มีภาวะศีรษะเล็กจากโรคซิกา
รายแรก ยืนยันด้วยผลการตรวจน้ำเหลืองด้วยการตรวจหาภูมิคุ้มกันขั้นต้นไอจีเอ็มที่ให้ผลเป็นบวก แสดงว่ามารดาเคยติดเชื้อซิกาแต่ไม่ได้แสดงอาการของโรคซิกา และรายที่ 2 ยืนยันจากการตรวจปัสสาวะด้วยวิธีพีซีอาร์ (PCR) ซึ่งเป็นกระบวนการในการสังเคราะห์ชิ้นส่วนของดีเอ็นเอในห้องปฏิบัติแม้ว่าผลการตรวจไอจีเอ็มจะเป็นลบก็ตาม ซึ่งทราบภายหลังการซักประวัติว่ามารดาเคยมีประวัติออกผื่น ส่วนรายที่ 3 ทารกมีศีรษะเล็กแต่ไม่สามารถสรุกสาเหตุได้อย่างชัดเจน จำเป็นต้องพิจารณาและตรวจสอบเพิ่มเติม ขณะที่ทารกอีก 1 รายที่ยังไม่คลอด แต่มารดาเคยติดเชื้อซิกาแต่ไม่แสดงอาการ ยังไม่สามารถยืนยันได้ในขณะนี้ว่าทารกจะศีรษะเล็กจริงหรือไม่
“ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเด็กทั้ง 2 รายจะมีพัฒนาการเป็นอย่างไร แต่ขณะนี้มีอาการ เช่น เกร็ง เรียกแล้วไม่ค่อยได้ยิน ส่วนรายละเอียดอื่นๆต้องติดตามต่อไป ซึ่งทารกที่คลอดแล้วมีศีรษะเล็กเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความผิดปกติทางพันธุกรรม ซิฟิลิส หัดเยอรมัน เริม สารเคมี เช่น สารหนู ปรอท และการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งในสหรัฐอเมริกาพบว่าเกิดขึ้น 2-12 คนต่อเด็กเกิดมีชีพ 1 หมื่นคน ส่วนประเทศไทยในปี 2557 พบ 31 ราย คิดเป็น 4.36 รายต่อเด็กเกิดมีชีพ 1 แสนราย ขณะที่เด็กอายน้อยกว่า 1 ขวบได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะศีรษะเล็ก 159 ราย คิดเป้นควมชุก 22.34 ราย ต่อแสนประชากร” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการวิชาการฯได้ตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่งติดเชื้อซืกา ที่มี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นประธานและมีผู้แทนจากกรมการแพทย์ สำนักระบาดวิทยา ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ราชวิทยาลัยสูติแพทย์ฯ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ และราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ฯ เข้าร่วมเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เป็นมาตรฐานแนวทางในการดูแลคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิกาไม่ได้หมายความว่าทารกจะมีศีรษะเล็กทุกราย คณะกรรมการวิชาการฯมีคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป ดังนี้ 1.ประชาชนควรช่วยกันกำจัดยุงลายและลูกน้ำยุงลายทั้งในและรอบบริเวณบ้าน เพราะยุงลายเปรียบเหมือนกับผู้ร้ายที่อยู่ในบ้านท่านจะปล่อยให้ลอยนวลไม่ได้ 2.หญิงตั้งครรภ์ควรป้องกีนตนเองไม่ให้ยุงกัด ด้วยการทายากันยุงหรือสวมใส่เสื้อผ้าปิดมิดชิด 3.หญิงตั้งครรภ์หากต้องมีเพศสัมพันธ์ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพราะเชื้อสามารถติดต่อจากน้ำอสุจิได้
ต่อข้อถามถึงกรณีที่ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาหรือซีดีซีออกประกาศเตือนหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้เดินทางมาประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า สถานการณ์โรคซิกาถือว่าเสี่ยงเหมือนทุกประเทศทั่วโลก แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็พบทารกที่คลอดออกมาแล้วมีศีรษะเล็กมา 1 ปีแล้วและเจอในเกือบทุกรัฐ รวมทั้งมีการเตือนไม่ให้หญิงตั้งครรภ์สหรัฐอเมริกาเดินทางไปในบางรัฐเช่นกัน อาทิ ฟลอริดาและไมอามี่ ไม่ถือว่าประเทศไหนในโลกจะเสี่ยงมากน้อยกว่ากัน เพราะเสี่ยงเท่าๆกัน
“มีการรายงานข้อมูลในแถบอเมริกาใต้ว่าไวรัสซิกาทำให้เกิดทารกศีรษะเล็กได้ 1-30 % หากนำอัตราดังกล่าวมีเทียบกับประเทศไทย ซึ่งมีการติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่พบผู้ป่วยซิกา 32 ราย หากเจอ 1 % ก็จะพบ 3 ราย ถ้า 30 % ก็จะพบ 9 ราย ก็อยู่ในเกณฑ์เหมือนกันทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องตื่นตระหนกมาก เพราะไม่ใช่หญิงท้องทุกรายจะคลอดทารกศีรษะเล็กทุกราย แต่ต้องตระหนักและป้องกัน”ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า ทารกที่คลอดแล้วมีศีรษะเล็กทั้ง 2 ราย เป็นการย้อนหลังกลับไปหาสาเหตุ จึงพบว่ามารดา 1 รายเคยติดเชื้อไวรัสซิกาแต่ไม่แสดงอาการและอีก 1 รายเคยมีออกผื่นมาก่อน ทั้งนี้เป็นเพราะโรคซิกา 80 % มีการติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และ 20 % มีอาการ แต่น้อย และหายได้เอง จึงถือว่าโรคซิกาเป็นเชื้อเก่าที่มีมานานแต่ก่อโรคใหม่ คือ ทำให้เกิดศีรษะเล็กในทารก ซึ่งที่ผ่านมาทั่วโลกไม่เคยสนใจประเด็นนี้มาก่อน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ทารกศีรษะเล็กอาจตรวจเจอได้ทั้งการตั้งครรภ์ในระยะกลางและระยะท้าย เพราะฉะนั้น หญิงตั้งครรภ์ต้องป้องกันตัวเองตลอดการตั้งครรภ์ ส่วนคนทั่วไปที่ติดเชื้อซิกาในรายที่โชคร้ายอาจมีอาการทางระบบประสาทผิดปกติ เช่น ไขสันหลังอักเสบ สมองอักเสบ แขนขาอ่อนแรง ซึ่งประเทศไทยก็พบไคนไข้ 1 รายที่ติดเชื้อแล้วมีอาการหายใจไม่ได้ แขน ขาอ่อนแรงแต่ขณะนี้รอดชีวิตและกลับบ้านได้แล้ว
นพ.ธนารักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ระบบการเฝ้าระวังทารกศีรษะเล็กที่อาจเกิดจากโรคซิกาจะมี 2 ระบบ คือ 1.ระบบการสอบสวนการระบาดโดยจะเน้นเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา โดยทำการตรวจปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์เพื่อดูว่าเคยติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ ซึ่งมีการเฝ้าระวังอยู่ประมาณ 32 ราย คลอดแล้ว 8 รายเป็นปกติทั้งหมด และ2.ระบบติดตามจากทารกที่คลอดแล้วมีศีรษะเล็ก โดยหากพบว่าทารกคลอดแล้วศีรษะเล็กก็จะเข้าไปดูว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เป็นการตรวจดูย้อนหลัง ซึ่งทั้ง 3 รายที่พบว่าทารกศีรษะเล็กก็ได้จากระบบการติดตามนี้ จึงไม่รู้ว่ามารดามีประวัติเคยติดเชื้อซิกามาก่อน
“มีรายงานนักท่องเที่ยวของบางประเทศเดินทางไปท่องเที่ยวในบางประเทศเมื่อกลับประเทศแล้วตรวจเจอว่าติดเชื้อซิกา 3-4 ราย ทั้งที่ประเทศที่เดินทางไปท่องเที่ยวไม่ได้มีรายงานว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อซิกาเลย กลับกันนักท่องเที่ยวประเทศเดียวกันนั้นเดินทางมาไทย แต่เมื่อกลับไปตรวจเจอซิกาเพียง 1 ราย เป็นการสะท้อนว่าภูมิภาคอาเซียนมีโรคซิกาอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนจะรายงานหรือไม่ อย่างไร ซึ่งประเทศไทยรายงานโดยไม่ปิดข้อมูล ในปีนี้ ถือว่าไทยมีการตรวจหาเชื้อซิกาแบบก้าวกระโดดตรวจไปแล้วกว่า 1 หมื่นราย มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อป้องกันทารกมีศีรษะเล็ก จึงไม่อาจนำข้อมูลของปี 2558 ที่มีการตรวจเพียงหลักร้อย แล้วมาสรุปว่าปีนี้เจอผู้ป่วยมากกว่าปีก่อนๆ เชื่อว่าสถานการณ์โรคซิกาในไทยยังเหมือนปีก่อน ๆ ไม่ใช่การระบาดมากขึ้น” นพ.ธนรักษ์กล่าว
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น