ศึกใช้หนี้ชิงบัลลังก์: มอง Game of Thrones จากมุมเศรษฐศาสตร์
Posted: 30 Sep 2016 07:23 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
หลังจากที่ราชชนนีเซอร์ซีย์เริ่มเดินไถ่บาปไปตามถนนหนทางต่าง ๆ ของเมืองหลวงในช่วงท้ายของ Game of Throne ซีซันล่าสุด พระนางคงกำลังวางแผนล้างแค้นกลุ่มคนที่ทำให้พระนางต้องอับอายอยู่เป็นแน่ แต่พระนางคงสงสัยเช่นกันว่าตนเองมาตกอยู่ในสถานการณ์โชคร้ายเช่นนี้ได้อย่างไร เหตุผลหนึ่งที่คงไม่อยู่ในความคิดของพระนางซึ่งถูกศัตรูรายล้อมอยู่ คือความไร้เดียงสาทางการเงินของพระนางเอง โดยเฉพาะความล้มเหลวในการเข้าใจธรรมชาติความหายนะของนโยบายการคลังที่พระนางใช้กับอาณาจักรทั้งเจ็ด
ในการสัมภาษณ์กับโรลลิ่งสโตนแม็กกาซีน จอร์จ อาร์ มาร์ติน ผู้เขียน “Song of Fire and Ice” (ชุดหนังสือที่ใช้เป็นพื้นฐานเรื่องราวของรายการช่อง HBO) วิจารณ์ว่านักเขียนเรื่องราวแฟนตาซีมักจะล้มเหลวในการจัดการกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ “ผมชื่นชมโทลคีนมากเลยครับ แต่ผมก็ติติงเขาเหมือนกัน อย่างนโยบายภาษีของอารากอนเนี่ยเป็นยังไงกันแน่” มาร์ตินไม่เหมือนกับเซอร์ซีย์ตรงที่เขาขบคิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจอันเป็นรากฐานของโลกจินตนาการของเขาอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น เราจึงควรมองดูวิธีการทำงานของระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น สำหรับสถานการณ์ที่น่าอับอายและยากลำบากของเซอร์ซีย์ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วเกิดมาจากความล้มเหลวของพระนางในการทำความเข้าใจธรรมชาติของสินเชื่อระหว่างประเทศ
ข้ามน้ำข้ามทะเลจากคิงส์แลนดิงมายังเสรีนครแห่งบราวอส คือ ธนาคารเหล็กแห่งบราวอสซึ่งเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ที่ครอบงำภาคพื้นทวีปของเอสซอสและเวสเทอรอสอยู่ มาร์ตินได้สร้างธนาคารเหล็กโดยเอาอย่างจากธนาคารต่าง ๆ ในยุคกลางที่ถูกควบคุมโดยตระกูลที่ทรงอำนาจของหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ธนาคารเหล่านี้เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ เงินฝาก เงินกู้ และแลกเปลี่ยนค่าเงินระหว่างประเทศไปทั่วภูมิภาคยุโรปตะวันตก นายธนาคารจากฟลอเรนซ์ และลุกกาจะร่วมงานกับราชวงศ์อังกฤษภายใต้กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1, 2 และ 3 แล้วจัดหาทุนให้กับการทำสงครามของอาณาจักรในหลายครั้ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝรั่งเศส) รวมไปถึงเสนอให้บัญชีเงินสะพัด แถมยังเบิกเกินวงเงินได้ด้วย กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 2 และ 3 ถึงขนาดยอมมอบรายรับทั้งหมดให้กับธนาคารสองนี้เป็นการเฉพาะ โดยธนาคารเหล่านี้จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของกษัตริย์ และได้รับอนุญาตให้ผูกขาดขนแกะคุณภาพสูงซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศเป็นการแลกเปลี่ยน
คำพูดที่ว่า “ธนาคารเหล็กแห่งบราวอสได้เงินคืนเสมอ” เป็นคำติดปากของนักการเมืองทุกคนในเวสเทอรอสและเอสซอส ยกเว้นเซอร์ซีย์ พระนางตัดสินใจทำให้หนี้สินที่อาณาจักรมีต่อธนาคารอยู่มหาศาลนั้นเป็นโมฆะ เพื่อทุ่มกำลังไปกับการฟื้นฟูกองทัพเรือซึ่งถูกทำลายลงในสมรภูมิ ธนาคารเหล็กจึงหันไปสนับสนุนผู้ท้าชิงบัลลังก์ สแตนนิส บาราเทียน ขึ้นแทน เพื่อหวังให้เกิดการชำระหนี้ขึ้นอีกครั้ง กล่าวคือ ใครก็ตามที่ปกครองอาณาจักรทั้งเจ็ดจะต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินของบัลลังก์เหล็ก ขณะเดียวกัน ธนาคารอื่น ๆ ของเสรีนครก็ได้รับคำสั่งจากธนาคารเหล็กไม่ให้ขายของให้กับพ่อค้าเวสเทอรอสที่ใช้สินเชื่อเงินผ่อน การค้าระหว่างประเทศจึงมีเหตุเป็นอันให้ต้องหยุดชะงักลงไป
การเสียชีวิตลงของบิดาของเซอร์ซีย์คงช่วยได้บ้าง ไทวิน แลนนิสเตอร์ หัวหน้าใหญ่ของตระกูลแลนนิสเตอร์ คงมาทวงหนี้ที่พระนางเคยกู้ไปไม่ได้แล้ว แต่เซอร์ซีย์ก็ไม่สามารถหวังพึ่งพาคลังสมบัติของครอบครัวได้อีกต่อไป เหมืองทองของตระกูลแลนนิสเตอร์ไม่เหลือทองให้ขุดแล้ว คำขวัญประจำตระกูล “ตระกูลแลนนิสเตอร์ชำระหนี้เสมอ” ก็กำลังหมดความน่าเชื่อถือลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับช่วงขาลงของเซอร์ซีย์โดยตรงยิ่งกว่าก็คือศาสนจักร (the Faith) ซึ่งเป็นศาสนาหลักของอาณาจักรทั้งเจ็ด และเอาต้นแบบมาจากคริสตจักรในยุคกลาง ราชวงศ์ต้องกู้เงินจำนวนมากจากศาสนจักร เพื่อนำมาจ่ายค่าเลี้ยงอาหารในงานแต่งงานที่บริการกันไม่อั้นถึง 77 ชุด และยังไม่รวมค่าของหรูหราฟุ่มเฟือยอื่น ๆ ของจอฟฟรี่ ซึ่งเป็นโอรสของพระนางเซอร์ซีย์ ต่อมาในระหว่างการพูดคุยกับไฮสแปร์โรว์ซึ่งเป็นผู้คลั่งลัทธิและผู้นำศาสนจักรคนใหม่ เซอร์ซีย์จึงยอมให้สิทธิ์การถืออาวุธกับศาสนจักรกลุ่มใหม่ที่กระตือรือต้นอย่างมาก ตราบเท่าที่หนี้ของราชอาณาจักรยังคงได้รับการยกเว้น ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อ ด้วยเหตุนี้เองกองกำลังของศาสนจักร (Faith Militant) จึงถือกำเนิดขึ้นมาเป็นกลุ่มภราดรภาพติดอาวุธ การปกครองด้วยความกลัวจากการผสมผสานตำรวจศาสนาเข้ากับกระบวนการสอบสวนความเชื่อได้ทำให้ดุลอำนาจปรับไปอยู่ในจุดที่พวกเขาต้องการให้เป็น นั่นจึงเป็นเหตุผลโดยสรุปว่าทำไมเซอร์ซีย์จึงได้เดินร่างเปลือยไปตามถนนหนทางต่าง ๆ ของคิงส์แลนดิง ตลอดจนถูกก่นด่าและทารุณกรรมจากประชาชนที่ไม่จงรักภักดีต่อพระนาง
ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปยังอ่าวค้าทาส (Slaver’s Bay) ของเอสซอส ก็จะพบว่า แดเนริส ทาร์แกเรียน ราชินีมังกรกำลังง่วนอยู่กับการเลิกทาสในเมืองทุกเมืองที่พระนางยึดครองอยู่ อย่างน้อย สิ่งนี้ก็เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน คาโว เจ้าหน้าที่ศุลกากรการค้าของเสรีนครแห่งโวแลนทิส ตั้งข้อสังเกตว่า “เจ้าเด็กโอหังนี่จะยกเลิกการค้าทาสด้วยตัวคนเดียว แต่เส้นทางการค้าจำกัดอยู่แค่อ่าวค้าทาสเสียที่ไหน อ่าวค้าทาสเป็นส่วนหนึ่งของทะเลการค้าที่ครอบคลุมไปทั่วโลก ราชินีมังกรจึงก่อปัญหาไปทั่วน่านน้ำ” เนื่องจากในโวแลนทิสมีสัดส่วนทาสอยู่ถึง 5 คนต่ออิสรชน 1 คน การท้าทายเชิงอุดมการณ์ของแดเนริสต่อระบบทาสจึงก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นเป็นอันมาก อย่างน้อยที่สุดก็สร้างความไม่พอใจต่อคาโวที่เป็นอิสรชนโดยกำเนิด แนวร่วมทหารรับจ้างที่อาศัยอยู่ในเอสซอส ซึ่งรับจ้างมาเพื่อรื้อฟื้นระบบค้ามนุษย์ซึ่งเป็นรากฐานเศรษฐกิจของภาคพื้นทวีป จึงเดินทัพไปโจมตีนครเมียรีนซึ่งเป็นที่พำนักของแดเนริส การต่อสู้กับพลังของทุนนิยมโลกาภิวัตน์เป็นกิจกรรมหนึ่งที่นับว่าอันตราย
บรรดานายพลของแดเนริสจะสามารถรักษาแนวต้านข้าศึกของพระนางเอาไว้ได้หรือไม่ ธนาคารเหล็กจะเดิมพันกับผู้ท้าชิงบัลลังก์เหล็กรายใหม่อีกหรือไม่ แล้วโต๊ะประชุมอนุสภา (Small Council) อันแสนน่าเบื่อหน่ายของเซอร์ซีย์จะสามารถสกัดกั้นวิกฤติการณ์ที่ขยายใหญ่ขึ้นในคิงส์แลนดิงได้หรือไม่ การสูญเสียความน่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศไปไม่เพียงแต่จะทำให้พ่อค้าของเมืองหลวงล้มละลายเท่านั้น แต่การที่ศาสนจักรจำคุกสมาชิกสองคนสำคัญของตระกูลไทเรลล์ยังทำให้การนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมจากดินแดนของพวกเขานั้นตกอยู่ในอันตรายตามไปด้วย ยิ่งกว่านั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นในริเวอร์แลนด์ก็ได้ทำลายแหล่งอาหารของเมืองในยามปกติลงไปอีก ตอนนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฤดูหนาวกำลังมาเยือน สามัญชนคนธรรมดาแห่งคิงส์แลนดิงจะไม่ยอมทนกับความอดอยากเป็นแน่ เมื่อซีซันหกเริ่มขึ้น กลิ่นอายของการปฏิวัติจะกระจายไปทั่วทุกหนแห่ง บรรดาผู้ปกครองแห่งอาณาจักรทั้งเจ็ดควรรีบหาคำปรึกษาทางเศรษฐกิจที่ดีกว่านี้จะดีกว่า
0000
หมายเหตุ: แปลจาก บทความเรื่อง “Game of Loans” ใน 1843 Magazine ซึ่งเป็นนิตยสารออนไลน์ในเครือของ the Economist สามารถเข้าถึงต้นฉบับได้ที่ https://www.1843magazine.com/culture/the-daily/game-of-loans
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น