0
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.
ยกเลิก 'สิทธิชุมชน' - ปิดทางฟ้องรัฐ ?

------------------------------------------------
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ได้เผยแพร่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2559 จำนวน 15 หมวด รวมทั้งสิ้น 270 มาตรา โดยพบว่ามีการตัดสาระสำคัญเรื่อง "สิทธิชุมชน" ออกทั้งหมด ซึ่งเดิมทีในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ได้บัญญัติไว้อยู่ในหมวด 3 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในมาตราที่ 66 ระบุว่า บุคคลที่รวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมี "สิทธิ" อนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

ขณะที่มาตรา 67 ระบุไว้ว่า สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อ สุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของ ตน ย่อมได้รับความคุมครองตามความเหมาะสม

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอยด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเพื่อให้ปฎิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ย่อมได้รับความคุ้มครอง

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การกุมทิศทางของนายมีชัย กลับไม่มีการพูดถึง "สิทธิชุมชน" เลย มีเพียงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องใน 3 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 43 ที่ระบุว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิดำเนินการหรือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียบ และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ

มาตรา 53 รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการ และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 54 การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข วิถีชีวิตหรือสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระม้ดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายใก้แก่ประชาชนหรือชุมชน ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้พิจารณาเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว พบว่าเนื้อหาสาระที่ว่าด้วยสิทธิชุมชนหายไปทั้งหมด ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยรับรองสิทธิของชุมชนให้สามารถฟ้องร้องรัฐได้กรณีที่ถูกละเมิ

ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว กลายเป็นกำหนดเพียงว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำ ซึ่งแตกต่างกับการให้เป็นสิทธิ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าเรามีสิทธิแล้วถูกละเมิดจะสามารถฟ้องร้องได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ตัดเนื้อหาเหล่านี้ทิ้งไป หลังจากนี้จึงจะไม่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกแล้ว และชุมชนจะฟ้องร้องรัฐไม่ได้อีกแล้ว

"ประชาชนต้องเริ่มใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่ โดยอาจจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร แสดงจุดยืนอย่างไร หรือตัดสินใจลงประชามติอย่างไรก็ได้ตรงนี้ผมเคารพความคิดเห็นและการตัดสินใจของทุกคน"ดร.เดชรัต ระบุ
------------------------------------------------
http://www.greennewstv.com/?p=8100


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top