0

ฝูงวาฬหัวทุยเกยตื้นตายในทะเลเหนือ: อะไรคือสาเหตุ ?
เมื่อไม่กี่วันก่อนวาฬหัวทุย หรือวาฬสเปิร์ม 5 ตัว พากันมาเกยตื้นตายบนชายหาดทางฝั่งตะวันออกของอังกฤษ โดยคาดกันว่าวาฬทั้ง 5 ตัว เป็นวาฬฝูงเดียวกับอีก 12 ตัว ที่ถูกพบว่าเกยตื้นตายที่ชายหาดในเนเธอร์แลนด์เช่นกัน โดยทั้งหมดเป็นวาฬตัวผู้ สิ่งนี้ทำให้มีข้อสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับวาฬเหล่านี้ แคลร์ เบทส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ได้ไปค้นหาคำตอบในเรื่องนี้มาค่ะ
วาฬหัวทุยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลลึกและมักจะหากินในน้ำลึกราว 3,000 เมตร โดยในขณะที่วาฬตัวเมียและลูกจะปักหลักอาศัยอยู่ในทะเลแถบเขตร้อน แต่วาฬตัวผู้มักจะชอบเดินทางไกล เคยมีผู้พบเห็นวาฬหัวทุยเหล่านี้ทั้งที่ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และเชทแลนด์
อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่วาฬเหล่านี้ว่ายข้ามมาถึงทะเลเหนือ มันมักจะประสบปัญหา เพราะทะเลเหนือนั้นอยู่ในบริเวณไหล่ทวีปยุโรป ซึ่งพื้นทะเลค่อนข้างตื้น จุดที่ลึกที่สุด มีความลึกเพียง 200 เมตรเท่านั้น
วาฬหัวทุยอาศัยระบบโซนาร์ในการนำทาง โดยส่งคลื่นเสียงออกไปเป็นจังหวะและฟังเสียงสะท้อนกลับ เพื่อให้สามารถรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวใต้ทะเลได้ ซึ่งความสามารถพิเศษนี้ใช้ไม่ได้ในจุดที่พื้นทะเลเป็นทรายทั้งยังไม่ลึกพอ อย่างเช่นในอังกฤษ ซึ่งสภาพภูมิประเทศแบบนี้ทำให้วาฬตกอยู่ในสภาพหลงทิศหลงทาง
ปีเตอร์ อีวานส์ ผู้อำนวยการองค์กร The SeaWatch Foundation เชื่อว่าวาฬหัวทุยฝูงที่มาเกยตื้น อาจจะว่ายน้ำตามฝูงปลาหมึกจนเข้ามาถึงทะเลเหนือในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เพราะยิ่งว่ายลงใต้ไปมากเท่าไหร่ น้ำก็จะยิ่งตื้นขึ้น และถ้าวาฬมาเกยตื้นเมื่อใดก็ถือได้ว่าเป็นจุดจบ เพราะระบบหัวใจและหลอดเลือดจะล้มเหลว รวมทั้งอวัยวะต่าง ๆ จะหยุดทำงาน
ด้านแอนดริว บราวน์โลว์ แห่งโครงการ Scottish Marine Animal Stranding Scheme ซึ่งเป็นผู้ชันสูตรซากวาฬตัวหนึ่งที่เนเธอร์แลนด์ เล่าว่าวาฬที่พบอยู่ในสภาพดี ไม่ได้ตายเพราะขาดน้ำ นอกจากนี้พวกมันก็ไม่ได้ตายเพราะถูกเรือชน หรือติดอวนจับปลา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการมาเกยตื้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ ทีมชันสูตรยังไม่ได้ตรวจสอบสมองของวาฬ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่ามันมีอาการป่วย หรือได้ยินเสียงอะไรที่ทำให้ตกใจกลัวจนมาเกยตื้นหรือไม่
ในอังกฤษนั้นมีจำนวนวาฬเกยตื้นตายเพิ่มมากขึ้นจากที่เคยพบเฉลี่ยปีละ 1 ตัวในช่วงทศวรรษ 1940 (พ.ศ.2483-2492) ถึงทศวรรษ 1980 (พ.ศ.2523-2532) มาเป็น 6 ตัวต่อปี จากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี บราวน์โลว์ไม่เชื่อว่า การกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้วาฬมาเกยตื้นมากขึ้น แต่น่าจะเป็นเพราะวาฬมีจำนวนมากขึ้นจากมาตรการห้ามล่าที่บังคับใช้มาในช่วง 30 ปีก่อน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำทำให้ทะเลทางตอนเหนืออุ่นขึ้น กระตุ้นให้วาฬจำนวนมากมาอาศัยหากินอยู่ในบริเวณนอกชายฝั่งนอร์เวย์และเชทแลนด์ตลอดทั้งปี จำนวนประชากรที่หนาแน่น อาจทำให้วาฬหนุ่มจำนวนมากแยกฝูงออกไป เพราะไม่ต้องการแก่งแย่งหาคู่กับวาฬฝูงเดียวกัน ‪#‎SpermWhale‬


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top