0

ตัวเรือดในสหรัฐฯ สามารถต้านทานฤทธิ์ยาฆ่าแมลงได้แล้ว
ผลการศึกษาล่าสุดบ่งชี้ว่า ตัวเรือดในสหรัฐฯ ได้พัฒนาความต้านทานต่อ “นีโอนิโคตินอยด์” ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดในโลกได้แล้ว
คณะผู้วิจัยพบว่า ตัวเรือดซึ่งเป็นแมลงดูดเลือดในเมืองซินซินเนติและรัฐมิชิแกน มีระดับภูมิคุ้มกันต้านทานสารเคมีในปริมาณที่ใช้กันตามปกติสูงมาก และการจะฆ่าแมลงชนิดนี้ จะต้องใช้สารเคมีที่เข้มข้นกว่าแบบที่ใช้ฆ่าแมลงปกติถึง 1,000 เท่า
เนื่องจากประชากรมนุษย์ทั่วโลกสูงขึ้นและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการเดินทางติดต่อระหว่างประเทศ ตัวเรือดได้กลายเป็นแหล่งสร้างความระคายเคืองอย่างยิ่งตามห้องพักในโรงแรมทั่วโลก นอกจากนี้ ตัวเรือดยังแพร่กระจายสู่บ้านเรือนและสถานที่ทำงาน ทั้งยังยากที่จะกำจัดให้หมดสิ้น เพราะหากมันลงหลักปักฐานที่ใดแล้ว ก็จะสามารถมีชีวิตรอดได้ถึงหนึ่งปีโดยไม่ต้องหาอาหาร ตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้ว สามารถทำให้อาคารอพาร์ตเมนต์ทั้งหลังเต็มไปด้วยตัวเรือดได้
ตัวเรือดส่วนใหญ่หากินตอนกลางคืน โดยกินแต่เลือดเท่านั้นเป็นอาหาร นักเดินทางมักตื่นนอนมาพบรอยกัดและรอยแดงทั่วตัว เดิมตัวเรือดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในทศวรรษ 1940 และ 1950 แต่เมื่อมีการนำดีดีทีและยาฆ่าแมลงที่มีฤทธิ์แรงชนิดอื่น ๆ มาใช้ ก็สามารถจำกัดจำนวนประชากรเรือดได้ในระยะแรก ๆ แต่พอถึงทศวรรษ 1960 ตัวเรือดได้เริ่มพัฒนาภูมิคุ้มกันจนสามารถต้านทานฤทธิ์ยาฆ่าแมลงได้
คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวเม็กซิโก นำโดย ดร. อัลวาโร โรเมโร ผู้ทำการศึกษาครั้งนี้ย้ำว่า แม้จะพบระดับความต้านทานนีโอนิโคตินอยด์สูงในตัวเรือดในสองพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ขณะนี้ตัวเรือดทั่วสหรัฐฯ และที่อื่น ๆ ทั่วโลกมีภูมิต้านทานสารเคมีแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตัวเรือดมีช่วงเวลาขยายพันธุ์สั้น และมีความสามารถทางพันธุกรรมที่จะพัฒนาความต้านทานสารพิษ นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกร้องให้ลดการพึ่งพาสารเคมีในการควบคุมประชากรเรือด
ดร. โรเมโรกล่าวว่า แมลงชนิดนี้ไม่น่าจะควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยวิธีการทางเคมีในอนาคตอันใกล้ "มันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก และเราจะต้องมีตัวเรือดต่อไปอีกนานหลายปีเพราะปัญหายาฆ่าแมลงนี้ นอกจากนั้น ยังมีบริบททางสังคมที่ทำให้การกำจัดและควบคุมเรือดทำได้อย่างยากลำบากมากด้วย"


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top