0
กรรมาธิการปฏิรูปสื่อ สปท.เชิญตัวแทนกูเกิลเข้าหารือมาตรการเร่งด่วนจัดการเว็บกระทบความมั่นคง 

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เชิญตัวแทนจากบริษัท กูเกิล จำกัด เข้าหารือเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ในประเทศไทย ขณะที่ตัวแทนของกูเกิลแจงใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ระบุจะปิดกั้นเว็บไซต์ควรดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย และขออำนาจศาล ส่วนประชาชนที่เห็นเว็บไซต์ไม่เหมาะสม สามารถปักธงแจ้งกูเกิลตรวจสอบได้

เว็บไซต์สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เผยแพร่ภาพและสรุปรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนด้านการสื่อสารมวลชน วันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญนาย Matt Sucherman รองประธานและที่ปรึกษากฎหมายในประเด็นระหว่างประเทศ บริษัท กูเกิล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด เข้าร่วมประชุม โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตในทางไม่สร้างสรรค์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และมีการมุ่งทำลายสถาบันสำคัญของชาติ และละเมิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่าความนิยมของคนไทยในการใช้โปรแกรมต่างๆ ของบริษัท กูเกิลสูงเป็นอันดับ 9 ของโลกและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมาธิการฯ จึงขอความร่วมมือบริษัท กูเกิลในการสอดส่องและถอดเว็บไซต์ที่มีลักษณะดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ผ่านเครือข่ายของกูเกิล เช่น ยูทูบ ไม่ให้เผยแพร่สร้างความเสียหายต่อไป

ทางด้านตัวแทนบริษัท กูเกิล ให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า ทางบริษัททราบดีว่าการเผยแพร่เว็บไซต์บางเรื่องเป็นสิ่งต้องห้ามและอาจมีปัญหาจากแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งทางกูเกิลมีบริการและนโยบายที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก การถอดถอนหรือป้องกันการเผยแพร่เว็บไซต์ผิดกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น บริษัท กูเกิล ไม่อาจพิจารณาหรือตัดสินใจเองได้ จำต้องได้รับการร้องขอจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้นและมีขั้นตอน กระบวนการอันเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล คือการขอให้ศาลมีคำสั่งระงับ ยับยั้งการเผยแพร่เว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งทางกูเกิลได้ถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการฯ ยังคงแสดงความกังวลว่า ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน อยากให้บริษัท กูเกิล เร่งรัดกระบวนการในการถอดเว็บไซต์หากมีคำขอจากหน่วยงานที่มีอำนาจ เพื่อให้ทันต่อการยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งหากรอให้ผ่านกระบวนการทางศาลอาจไม่ทันการ อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการร้องขอดังกล่าวก็ต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่มีอำนาจยับยั้งการกระทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้าน

ตัวแทน กูเกิลตอบประเด็นนี้ว่าจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา โดยจะคำนึงถึงความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน และแนะนำว่า หากประชาชนเห็นว่าเว็บใดมีเนื้อหาไม่พึงประสงค์เพราะขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี สามารถใช้วิธีปักธงเว็บนั้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวังและตรวจสอบจากกูเกิล ซึ่งมีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์คอยสอดส่องตลอด 24 ชั่วโมง และหากเห็นว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่สมควรเผยแพร่ก็จะระงับหรือถอดออกจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตต่อไป


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top