เตือนไวรัสซิกาอาจระบาดรุนแรงซ้ำรอยอีโบลา ชี้วัคซีนยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกถึงสิบปี
นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯเรียกร้ององค์การอนามัยโลกให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วในการควบคุมเชื้อไวรัสซิกา ที่มีแนวโน้มจะแพร่ระบาดอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีเชื้ออีโบลาแพร่ระบาดรุนแรงก่อนหน้านี้
แดเนียล อาร์ ลูซีย์ และลอว์เรนซ์ โอ กอสติน เขียนบทความในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน JAMA ระบุว่า องค์การอนามัยโลกเคยล้มเหลวในการรับมือวิกฤติเชื้ออีโบลาระบาดมาแล้ว เพราะไม่ได้รีบเข้าไปจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ดังนั้นจึงควรใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ด้วยการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา
ทั้งนี้ วัคซีนไข้ซิกาอาจพร้อมสำหรับการทดลองในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ก่อนที่จะสามารถผลิตออกมาให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้กัน
ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังแนะนำว่า องค์การอนามัยโลกควรเรียกประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกว่า เมื่อใดควรประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสซิกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ พร้อมชี้ว่า การเรียกประชุมดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ประชาคมโลกสนใจ ช่วยสนับสนุนเงินทุนและการวิจัยเพื่อรับมือกับไวรัสชนิดนี้
ประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟฟ์ ของบราซิล เรียกร้องประเทศในกลุ่มลาตินอเมริการ่วมมือกันต่อสู้กับไวรัสชนิดนี้ และมีการเรียกประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขในภูมิภาคเพื่อหารือเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า ด้านโฆษกทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุเมื่อวานนี้ (27 ม.ค.) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะประชาสัมพันธ์ให้ชาวอเมริกันทราบถึงความเสี่ยงที่เกิดจากไวรัสซิกา
ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสซิกานั้น ปัจจุบันได้แพร่ระบาดไปในราว 20 ประเทศ และมีผู้ติดเชื้อหลายพันคน ทั้งยังก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในบราซิล เพราะมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าไวรัสชนิดนี้ทำให้ทารกในครรภ์คลอดออกมาโดยมีภาวะศีรษะเล็ก สมองมีพัฒนาการผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น