0

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยถูกลดชั้นอย่างเป็นทางการ
คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันระดับชาติเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือ ไอซีซี เผยแพร่รายงานการจัดอันดับสถานะคณะกรรม การสิทธิมนุษยชนทั่วโลก จำนวน 111 ประเทศ ลงวันที่ 26 ม.ค. 2559 โดยลดชั้นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จากเกรด เอ จากสมาชิกที่มีสถานะสมบูรณ์ไปเป็นเกรด บี หรือระดับผู้สังเกตการณ์ ด้าน อังคณา นีละไพจิตร ยอมรับการลดชั้น ทำให้ กสม. สูญความสง่างาม เสียโอกาสด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก
ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคมปี 2557 ไอซีซีได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย รวมถึงการขาดกลไกปกป้อง ความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ความล้มเหลวในการตอบสนองต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร ในครั้งนั้น ไอซีซีได้ให้เวลาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยเป็นเวลา 12 เดือนในการแก้ไขปัญหาที่ถูกตั้งข้อสังเกตและให้ข้อมูลกับทางไอซีซี
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ได้พิจารณาลดชั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยลงไปอยู่ในระดับบี ด้วยเหตุผลว่า กสม. ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ได้รับไปก่อนหน้านั้น
ผลของการถูกลดชั้นจากเอ เป็นบี ทำให้สถานะของ กสม.ไทยเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมในระดับภูมิภาคและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และจะไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของ ไอซีซี หรือสมัครเป็นคณะกรรมการหรืออนุกรรมการของ ไอซีซี ได้

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนชุดปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยระบุว่า การถูกลดชั้นครั้งนี้ทำให้โอกาสและความสง่างามของกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยลดลงไปมาก
“ต่อไปเราจะไม่สามารถส่งรายงานหรือเอกสารต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ และการนำเสนอรายงานด้านสิทธิมนุษยชน ในเดือนพฤษภาคมนี้ รายงานของไทยก็จะไม่มีสิทธิถูกหยิบยกขึ้นมาพูด ไม่สามารถมีการแถลงด้วยวาจาได้ และในการประชุมเราไม่สามารถให้ความเห็น ออกเสียงได้ ฐานะ กสม. ไทยในเวทีโลกนั้นโอกาสเราเหลือน้อยมาก สิ่งที่ยังทำได้คือการส่งรายงานตามอนุสัญญาฉบับต่าง ๆ”
นางอังคณะกล่าวถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ของไอซีซีว่า กสม. ของไทยตอบสนองต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไม่ทันท่วงทีว่า ที่ผ่านมา กรรมการชุดที่แล้วพบปัญหาหลักคือเรื่องการชุมนุม การสลายการชุมนุม ประชาชนบาดเจ็บเสียชีวิต แต่สิ่งที่ท้าทายต่อ กสม. ปัจจุบัน คือเรื่องการละเมิดสิทธิที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การละเมิดสิทธิในร่างกาย รวมทั้งการมีกฎหมายพิเศษหลายฉบับซึ่งละเมิดสิทธิ์ และทำให้ กสม.ทำงานได้ลำบาก จึงหวังเพียงว่ารัฐบาลจะเข้าใจว่าหลักนิติธรรม และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมยังเป็นความจำเป็น


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top