องค์กรสิทธิมนุษยชนเผย บ.แอปเปิล, ซัมซุง และโซนี่ อาจเกี่ยวพันการใช้แรงงานเด็ก
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เผยรายงานสำรวจสถานการณ์ด้านการใช้แรงงานเด็กในเหมืองโคบอลท์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมื่อวันที่ 19 ม.ค. พบว่าบริษัทชั้นนำระดับโลก ทั้งบริษัทแอปเปิล, ซัมซุง และโซนี่ ละเลยการตรวจสอบขั้นพื้นฐานซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้ารายย่อย ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวพันกับการใช้แรงงานเด็ก
รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าคองโกเป็นประเทศผู้ส่งออกโคบอลท์ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของโลก ขณะที่โคบอลท์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) คาดว่ามีเด็กประมาณ 40,000 คนทำงานในเหมืองโคบอลท์ที่กระจายตัวอยู่ในภาคใต้ของคองโก โดยเด็กอายุน้อยที่สุดที่ทำงานในเหมืองโคบอลท์ มีอายุเพียง 7 ปีเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้ทำงานในเหมืองโคบอลท์จำนวนมากต้องประสบกับปัญหาสุขภาพเรื้อรังและเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยสถิติผู้เสียชีวิตจากการทำงานในเหมืองโคบอลท์ใต้ดินทั่วคองโก ตั้งแต่เดือน ก.ย.2557 - ธ.ค.2558 มีจำนวนอย่างน้อย 80 ราย
จากการให้ปากคำของ “พอล” เด็กชายกำพร้า อายุ 14 ปี ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่กับพ่อและแม่บุญธรรม ระบุว่าเขาเริ่มทำงานในเหมืองโคบอลท์ตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยพ่อบุญธรรมคัดค้านไม่ให้แม่บุญธรรมส่งเขาเข้ารับการศึกษาต่อในโรงเรียน แต่บังคับให้ทำงานในเหมืองแทน และเขาต้องทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง จากเช้าหนึ่งจนถึงเช้าของอีกวัน ทั้งยังต้องขับถ่ายในอุโมงค์ของเหมืองใต้ดินอีกด้วย
ด้านบริษัทแอปเปิลออกแถลงการณ์ว่าทางบริษัทจะไม่ยอมให้มีการใช้แรงงานเด็กเกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตของซัพพลายเออร์ของบริษัทเป็นอันขาด และ บ.แอปเปิลภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้นำด้านการพิทักษ์คุ้มครองสวัสดิภาพในอุตสาหกรรมนี้ ทางบริษัทมีมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดต่อซัพพลายเออร์รายต่างๆ แต่หากพบว่าซัพพลายเออร์รายใดเกี่ยวพันกับการใช้แรงงานที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ ซัพพลายเออร์เหล่านั้นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ บ.แอปเปิล โดยจะต้องรับผิดชอบค่าเดินทางให้เด็กที่ถูกใช้แรงงานกลับบ้านโดยปลอดภัย, ต้องให้ความช่วยเหลือเงินทุนด้านการศึกษาในโรงเรียนที่เด็กหรือครอบครัวของเด็กเป็นผู้เลือก ทั้งยังต้องจ่ายเงินชดเชยแก่เด็กอย่างต่อเนื่อง และต้องเสนอตำแหน่งงานให้แก่เด็กเมื่อถึงวัยที่สามารถทำงานได้ตามกฎหมาย
บ.แอปเปิล ระบุเพิ่มเติมด้วยว่าขณะนี้ทางบริษัทกำลังพิจารณาแหล่งผลิตวัตถุดิบต่างๆ ของบริษัท รวมถึงผู้ผลิตโคบอลท์ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจเรื่องแรงงานและความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโอกาสให้ บ.แอปเปิลได้ปรับเปลี่ยนไปสู่ความมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และมีความยั่งยืน
ขณะที่บริษัทซัมซุง ระบุว่าทางบริษัทไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็ก และขอยืนยันว่าบริษัทมีการตรวจสอบด้านแรงงานอย่างเข้มงวดอยู่เป็นประจำ และหากตรวจพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กเกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตของซัพพลายเออร์ ทางบริษัทจะยกเลิกสัญญากับซัพพลายเออร์ดังกล่าวทันที
ส่วนบริษัทโซนี่ แถลงว่าบริษัทกำลังร่วมมือกับซัพพลายเออร์รายต่างๆ เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและสภาวะการทำงานของผู้ใช้แรงงานในฐานการผลิต รวมถึงการจัดซื้อจัดหาแร่ต่างๆ ที่เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าของบริษัท
การจัดทำรายงานของแอมเนสตี้ฯ ในครั้งนี้เป็นการร่วมมือกับองค์กรเฝ้าระวังทรัพยากรแอฟริกัน “แอฟริกัน รีซอสเซส วอทช์” ซ่ึงสืบพบเบาะแสว่าผู้รับซื้อโคบอลท์จากเหมืองที่มีปัญหาเรื่องการใช้แรงงานเด็กทั้งหมดขายโคบอลท์ต่อให้แก่บริษัทคองโก ตงฟาง ไมน์นิ่ง (ซีดีเอ็ม) ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งของบริษัท Zhejiang Huayou Cobalt Ltd. จากจีน และแอมเนสตี้ได้ติดต่อสอบถามบริษัท 16 แห่งที่เป็นลูกค้าของบริษัทจำหน่ายแบตเตอรี่ซึ่งรับซื้อวัตถุดิบจาก Huayou Cobalt พบว่า 5 บริษัทยืนยันว่าไม่ได้ใช้วัตถุดิบจากบริษัท Huayou Cobalt แต่มีรายชื่อในเอกสารระบุว่าเป็นลูกค้าของบริษัทดังกล่าว ส่วนอีก 1 บริษัทยอมรับว่าใช้โคบอลท์จาก Huayou Cobalt ขณะที่ 2 บริษัทยืนยันว่าไม่ได้ใช้โคบอลท์จากคองโก และ 4 บริษัทไม่อาจระบุแหล่งที่มาของโคบอลท์ที่รับซื้อได้ ส่วนอีก 6 บริษัทระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อกล่าวหาเรื่องแหล่งที่มาของโคบอลท์
ขณะที่นายเอ็มมานูเอล อัมปูลา ผู้อำนวยการองค์กรแอฟริกัน รีซอสเซส วอทช์ ระบุว่าเป็นเรื่องย้อนแย้งในยุคดิจิทัลที่บริษัทร่ำรวยระดับโลกและผู้ผลิตนวัตกรรมต่างๆ สามารถทำการตลาดกับสินค้าเหล่านี้โดยไม่มีการตรวจสอบหรือเปิดเผยแหล่งที่มาของวัตถุดิบ การล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นในเหมืองแร่ต่างๆ ยังห่างไกลจากการรับรู้เพราะตลาดและผู้บริโภคทั่วโลกไม่เคยรู้ว่าสภาพ
ด้านนายมาร์ค ดัมเม็ท นักวิจัยด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ฯ ระบุด้วยกว่ากิจการเหมืองแร่เป็นหนึ่งในรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด และบริษัทดังๆ ทั้งหลายต้องรับผิดชอบต่อแร่และวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาผลิตเป็นสินค้าที่มีกำไรมหาศาลเหล่านี้ และบริษัทที่มีรายได้ทั่วโลกเป็นเงินกว่า 4.35 ล้านล้านบาทในแต่ละปีไม่ควรเอ่ยอ้างว่าพวกเขาไม่อาจตรวจสอบได้ว่าแร่ธาตุที่ใช้ในการผลิตของพวกเขามาจากไหน
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น
EmoticonClick to see the code!
To insert emoticon you must added at least one space before the code.