0


ยังไม่บรรจุเรื่องพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในร่างรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เริ่มการประชุมพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราวันแรกวันนี้ ไม่เปลี่ยนหลักการไปจากรัฐธรรมนูญเดิม แก้เนื้อหาให้ชาวไทยได้รับความคุ้มครองเสมอกัน และเห็นว่าไม่ควรบัญญัติเรื่องศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่งมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญูปี 2550 ที่เคยมีปัญหาตีความไปอยู่ในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
การประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะดำเนินไปเป็นเวลา 7 วัน จนถึงวันที่ 17 ม.ค.นี้ ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท กอล์ฟ คลับ ชะอำ สื่อมวลชนสามารถรับฟังได้ในบางประเด็น และไม่อนุญาตให้มีการบันทึกเสียง
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยเรียงลำดับตั้งแต่มาตราที่ 1 โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการไปจากที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ เสรีภาพของปวงชนชาวไทยนั้น มีการบัญญัติว่าเรื่องใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น เป็นสิทธิที่ประชาชาชนกระทำได้ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนต่อผู้อื่น และปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน ส่วนเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน คณะกรรมการร่าง รธน. เห็นว่าสื่อมวลชนควรมีเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 และ 2550 ได้ให้หลักประกันไว้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ
สำหรับข้อเสนอให้มีการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรบัญญัติคำว่า "ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ" ไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าอันตรายและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นอกจากนี้ในมาตรา 65 ก็ได้มีการบัญญัติเพื่อคุ้มครองศาสนาทุกศาสนาเอาไว้แล้ว
ในส่วนหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ได้นำเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่และมีการปรับปรุงเนื้อหาบางส่วน รวมทั้งส่วนที่ว่าด้วยคุณสมบัติขององคมนตรีที่ต้องไม่เป็น ส.ส. ส.ว. และไม่ฝักใฝ่การเมือง ทั้งนี้ ได้เพิ่มร่างมาตราที่ว่าด้วยการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ที่ให้ผู้ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณสามารถถวายสัตย์ต่อพระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะหรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ ตามที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม นอกจากนั้นที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าผู้ซึ่งต้องให้คำถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในระหว่างที่รอการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะผ่านการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว
สำหรับมาตรา 7 ซึ่งเคยมีปัญหาการตีความอย่างมากในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ประชุม กรธ. เห็นว่าควรนำถ้อยคำในมาตรานี้ไปแทรกอยู่ในบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย และมีการยกคำว่า “ประเพณีการปกครอง” ออกเนื่องจากเป็นถ้อยคำที่มีปัญหา
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวว่า จะพยายามบัญญัติช่องทางแก้ปัญหาต่างๆ ให้ครอบคลุมรอบด้านเพื่อให้การตีความทุกเรื่องมีช่องทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในวันเดียวกันนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ได้เดินทางมายังสถานที่ประชุมของ กรธ. เพื่อเตรียมส่งความเห็นรอบแรกของ สปท.เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เพื่อให้วาระการปฏิรูป และกลไกปฏิรูปประเทศในระยะสั้น ระยะยาว ถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากส่งความเห็นประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญรอบแรกแล้วและประสานเตรียมทำความเห็นรอบสอง หลังร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จในวันที่ 29 ม.ค. จะต้องมีบทบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องของการปฏิรูป โดยมีแนวทางครอบคลุมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน‪#‎ThaiConstitution‬


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top