0

ภูเขาน้ำแข็งยักษ์มีบทบาทสำคัญต่อวัฏจักรคาร์บอนในมหาสมุทร
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ ในสหราชอาณาจักร เปิดเผยผลการศึกษาที่บ่งชี้ว่า ภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์อาจเป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดกระบวนการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20% ของวัฏจักรคาร์บอนในมหาสมุทรใต้ หรือมหาสมุทรแอนตาร์กติก บริเวณขั้วโลกใต้
ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ จีโอไซน์ ระบุว่า น้ำที่ละลายจากภูเขาน้ำแข็งเหล่านี้ได้ปล่อยธาตุอาหารต่าง ๆ เช่น ธาตุเหล็ก ลงในน้ำทะเลโดยรอบ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “แพลงก์ตอน บลูม” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แพลงก์ตอนพืชเติบโตอย่างรวดเร็ว แล้วดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ และเมื่อแพลงก์ตอนพืชเหล่านี้ตายลงก็จะจมลงสู่ท้องมหาสมุทร ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่บริเวณดังกล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นงานวิจัยแรกของเรื่องนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีศึกษาภาพถ่ายดาวเทียม 175 ภาพ ของทางน้ำบริเวณภูเขาน้ำแข็งยักษ์ 17 ลูกในมหาสมุทรใต้ ซึ่งมีความยาวกว่า 18 กม. ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2556 แล้วพบว่า บริเวณดังกล่าวมีระดับคลอโรฟิลล์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ผลการศึกษาที่ได้บ่งชี้ว่า น้ำทะเลบริเวณภูเขาน้ำแข็งยักษ์มีแพลงก์ตอนพืชเกิดขึ้นมากกว่าที่คาดกันไว้ก่อนหน้านี้ และหมายความว่า ภูเขาน้ำแข็งยักษ์มีบทบาทสำคัญต่อวัฏจักรคาร์บอนในมหาสมุทรใต้มากกว่าที่เคยคาดกันไว้
ดร. ริชาร์ด เคอร์บี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแพลงก์ตอน บอกว่าแพลงก์ตอนพืชบริเวณผิวน้ำที่ถูกแสงแดดมีบทบาทสำคัญในการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ในรอบพันปีที่ผ่านมาและส่งผลกระทบต่อความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ รวมทั้งสภาพภูมิอากาศของโลก ดังนั้น ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงมีความน่าสนใจเพราะแสดงให้เห็นว่า เราจะต้องศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ต่อไปเพื่อหาคำตอบว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อพวกมัน และห่วงโซ่อาหารที่พึ่งพาพวกมันอย่างไรบ้าง ‪#‎NatureGeoscience‬ ‪#‎GiantIceberg‬
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) ภูเขาน้ำแข็งในชิลี


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top