0

มารา ปาตานีเสนอโอไอซีร่วมมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพภาคใต้ของไทย
เลขาธิการโอไอซีพบปะพูดคุยกับกลุ่มมารา ปาตานีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการสรุปความคืบหน้าของการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มและให้โอไอซีสนับสนุนกระบวนการสันติภาพโดยร่วมมือกับไทยและมาเลเซีย ส่วนเลขาฯโอไอซีเรียกร้องวันนี้ให้จัดเสวนาข้ามกลุ่มความเชื่อมากขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในภาวะที่โลกขัดแย้งหนัก ชี้เป็นความท้าทายของทั้งอาเซียนและโอไอซี
ก่อนจะเยือนไทยวันนี้ ข่าวจากกลุ่มมารา ปาตานีเปิดเผยว่า เมื่อวัน 10 ม.ค.ที่ผ่านมาตัวแทนของกลุ่มมารา ปาตานีได้พบกับเลขาธิการขององค์การความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี ดร.อิยัด อามีน อัล มาดานีและคณะที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยในกลุ่มผู้เข้าร่วมพบปะและหารือฝ่ายมารา ปาตานีมีนายอาวัง ยาบะ ประธานกลุ่ม อุสตาซมูฮัมหมัด ซูกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยของกลุ่มรวมอยู่ในคณะทั้งหมด 9 คนด้วย ทางกลุ่มมาราฯได้สรุปความเคลื่อนไหวในเรื่องของการก่อตั้งกลุ่มให้กับโอไอซีได้รับทราบ รวมทั้งการเข้าไปร่วมพูดคุยเพื่อสันติสุขหรือสันติภาพกับฝ่ายไทย ในที่ประชุมฝ่ายมาราฯได้ขอให้โอไอซีแสดงบทบาทสนับสนุนการพูดคุย โดยขอให้ทำงานกับไทยและมาเลเซียอย่างใกล้ชิด
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ข้อเสนอของกลุ่มมารา ไม่รวมไปถึงเรื่องให้โอไอซีเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการพูดคุย หรือรวมไปถึงการจัดตั้งเวทีระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้แต่อย่างใด เนื่องจากขณะนี้มาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกซึ่งถือว่าเพียงพอแล้ว “เราแค่ต้องการให้โอไอซีร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับไทยและมาเลเซียเท่านั้น”
การพบปะหนนี้ยังมีตัวแทนของภาคประชาสังคมจากสามจังหวัดภาคใต้เข้าร่วมด้วยห้าคน ทั้งนี้ตามข้อเสนอของโอไอซี หลังจากนั้นเลขาธิการของโอไอซีและคณะก็ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อเริ่มการเยือนไทยอย่างเป็นทางการในช่วงระหว่างวันที่ 10-13 ม.ค.
เช้าวันนี้ ที่กรุงเทพฯ เลขาธิการโอไอซีได้เข้าร่วมงานสัมมนานานาชาติว่าด้วยบทสนทนาเรื่องความเชื่อระหว่างศาสนาและการดำรงสันติภาพในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยได้เรียกร้องให้มีการพูดคุยข้ามกลุ่มความเชื่อให้มากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในภาวะที่โลกกำลังเผชิญความขัดแย้งหนัก พร้อมทั้งระบุว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นความท้าทายของกลุ่มอย่างเช่นโอไอซีและอาเซียน
เลขาธิการโอไอซีกล่าวว่า โลกาภิวัฒน์ทำให้โลกหดแคบลง แต่ก็ทำให้เห็นความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆมากขึ้น ในขณะที่ความขัดแย้งดำเนินไป จำเป็นที่จะต้องมีการสานเสวนาระหว่างคนต่างศาสนา การสัมมนาหนนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เกิดความเข้าใจและความอดกลั้นระหว่างกันรวมทั้งอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เขาชี้ว่า ทุกศาสนามีคุณค่าร่วมที่เหมือนกัน ไม่มีศาสนาใดไม่พูดถึงความรัก ความยุติธรรมหรือความเท่าเทียม แต่การตีความที่แตกต่างนำไปสู่ความขัดแย้ง จึงจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้คนเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม จึงต้องมีการเสวนาและขยายวงกลุ่มผู้เข้าร่วมให้กว้างออกไปจากในห้องและเอื้อมออกไปให้ถึงกลุ่มคนต่างๆให้มากที่สุด ซึ่งเรื่องเช่นนี้ถือว่าเป็นความท้าทายของทั้งโอไอซีและอาเซียน
ก่อนหน้านี้ มักมีข้อเสนอให้โอไอซีแสดงบทบาทในเรื่องของกระบวนการสันติภาพภาคใต้ของไทย ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลุ่มบีอาร์เอ็นเคยเสนอให้มีโอไอซีเป็นผู้สังเกตการณ์การพูดคุยมาแล้ว อดีตเลขาธิการโอไอซี เอกเมลเลดดิน อีซานโอกลู เคยมีข้อเสนอแนะในเรื่องของการพูดคุยสันติภาพในระหว่างที่พบปะกับอดีตนายกรัฐมนตรีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคณะที่กรุงอิสตันบูล เมื่อเดือนก.ค.ปี 2556 ให้ไทยและบีอาร์เอ็นเน้นหนักในเรื่องของกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งให้หาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ต้นตอ โอไอซีเคยแสดงท่าทีสนับสนุนการสร้างสันติภาพในภาคใต้โดยเสนอจะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างสองฝ่ายดังกล่าว
สำหรับกลุ่มผู้เห็นต่างนั้น รายงานข่าวระบุว่า โอไอซีเคยเสนอให้กลุ่มต่างๆที่ต่อสู้กับรัฐไทยรวมตัวกันภายใต้ชื่อ UPPC หรือ Unified Patani People Council ซึ่งไม่ปรากฎว่าประสบผลสำเร็จมากนัก ดังนั้นหลังจากที่ทราบว่า รัฐบาลไทยกำลังพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างในนามของกลุ่มมารา ปาตานี ทางโอไอซีจึงต้องการพบปะกับทางตัวแทนกลุ่ม





แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top