0
อำนาจนำใหม่ของกองทัพไทย
Posted: 01 May 2016 11:27 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
จากบทสัมภาษณ์ของประจักษ์ ก้องกีรติ ในประชาไท เกี่ยวกับ กองทัพไทย(คสช./ผู้เขียน) ที่พยายามสถาปนาระเบียบการเมืองใหม่ (new political order) (รัฐธรรมนูญ/ผู้เขียน) เพื่อนำไปสู่การสถาปนา “อำนาจนำใหม่” ของกองทัพ (hegemonic ruler) (ประจักษ์ ก้องกีรติ,2559) และยังกล่าวด้วยความกังวลว่า ประเทศไทยคงอยู่ภายใต้ระเบียบการเมืองใหม่ และอำนาจนำใหม่นี้อีกนาน ทำให้ผู้เขียนอยากหันกลับไปมองการเปลี่ยนแปลงระเบียบการเมืองตลอดจนผู้ครองอำนาจนำในอดีตของไทยเพื่อนำกลับมาสังเกตปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยปัจจุบันร่วมกัน
      
การเปลี่ยนแปลงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทำการเปลี่ยนแปลงรัฐสยามจากรัฐจารีตเป็นรัฐสมัยใหม่(รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบทางการเมืองใหม่ และส่งผลให้รัชกาลที่  5 ทรงครองอำนาจนำสยาม  ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจเป็นองค์รัฐฏาธิปัตย์โดยสมบูรณ์ ส่วนกระบวนการเปลี่ยนแปลงระเบียบทางการเมืองใหม่นี้ประสบความสำเร็จลงได้โดยไตรภาคีอำนาจขณะนั้น คือกลุ่มพลังสังคมภายใน ได้แก่กษัตริย์ (รัชกาลที่ 5) และ ขุนนาง(บุนนาค) และพลังภายนอกคือทุนนิยมโลกอังกฤษ (ศักดิภัท เชาวน์ลักษณ์สกุล,การสร้างรัฐ – ชาติสยามกับการควบรวมนครรัฐในล้านนา สมัยรัชกาลที่ 5,2557) ซึ่งกุลลดา เกษบุญชู  มี๊ด ได้สรุปเรื่องวิวัฒนาการรัฐไว้อย่างน่าฟังว่า “พลังที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการรัฐจากรัฐจารีตหรือรัฐโบราณมาเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งในยุโรปและสยามคือพลังของระบบเศรษฐกิจโลกหรือระบบทุนนิยมโลก ซึ่งก่อให้เกิดเศรษฐกิจเงินตราและการเกิดเมืองขึ้นมาคู่ขนานกับระบบฟิวดัล และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมา นั่นคือการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางหรือกระฎุมพี รวมทั้งการเกิดขึ้นของสถาบันทางการเมืองใหม่ๆ เพื่อมารองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อันเป็นฐานรองรับสำคัญให้กับสถาบันกษัตริย์ในการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในกรณีของสยามคือทุนนิยมอังกฤษ ที่สยามได้เชื่อมต่อกับทุนนิยมโลกอังกฤษไว้ตั้งแต่สนธิสัญญาเบาริ่ง และมีบทบาทในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม (Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism,2004)
       
การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ของคณะราษฎร์ ก็คงหลีกหนีไม่พ้นไตรภาคีอำนาจ พลังทางสังคม กลุ่มต่างๆอันได้แก่ สถาบันกษัตริย์ ขุนนาง ข้าราชการ ชนชั้นกลาง ซึ่งแต่เดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาได้เป็นพันธมิตรทางการเมืองที่สำคัญ ต่อมาพลังทางสังคมเดิมเหล่านี้ ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของกษัตริย์ แต่ต่อมาได้เป็นพลังสำคัญในการต่อต้านและล้มสถาบันกษัตริย์ในการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 อันเนื่องจากความขัดแย้งเชิงโครงสร้างภายในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และข้าราชการซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นกลางใหม่ อันเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาสมัยใหม่ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นมาคานอำนาจกับขุนนางสมัยนั้นและให้เป็นปัญญาชนจัดตั้งอันเป็นฐานรองรับสถาบันกษัตริย์ และกลับกลายเป็นพลังสำคัญที่โค่นล้มรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง (จิตติภัทร พูนขำ,วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 43 ฉบับที่ 2 (ก.ค. – ธ.ค.2556),2556,หน้า 48) ส่วนพลังภายนอกหรือระบบทุนนิยมโลกขณะนั้นก็อยู่ภายใต้กระแสความคิดเสรีประชาธิปไตย ดังนั้นภาคีอำนาจที่สำคัญขณะนั้นก็คือพลังอำนาจภายนอกหรือระบบโครงสร้างอำนาจโลกนั่นเอง
         
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยสู่ยุคพ่อขุนอุปถัมภ์ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ถนอม ขณะนั้นศูนย์กลางอำนาจโลกหรือทุนนิยมโลกได้เปลี่ยนมือเป็นสหรัฐอเมริกา ถือได้ว่าเป็นพลังภายนอกหรือภาคีอำนาจที่สำคัญของไทยขณะนั้น และมีส่วนสำคัญในการผลักดันพลังภายในคือทหาร เทคโนแครต และสถาบันกษัตริย์กลายเป็นพันธมิตรที่สำคัญซึ่งกันและกัน จนสามารถ ครองอำนาจนำทางการเมืองไทยได้สำเร็จ สหรัฐอเมริกาได้ใช้วาทกรรม”การพัฒนา” (กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด,การเมืองไทยยุคสฤษดิ์ ถนอม ภายใต้โครงสร้างอำนาจโลก,2550)  และสนับสนุนทุนอุตสาหกรรมกับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย  ถือได้ว่าสหรัฐอเมริกาทุนนิยมโลกขณะนั้น ได้ให้การสนับสนุนทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแก่ไทย และได้มีส่วนเข้ามาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยมาโดยตลอดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
          
การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไทยสมัย 14 ตุลาคม 2516 จากการที่พลังภายนอกหรือทุนนิยมโลกสหรัฐอเมริกาได้มีบทบาทต่อการเมืองไทยมาโดยตลอดสิ่งหนึ่งที่ให้กับสังคมไทยคืออุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย สิ่งนี้แหละที่ทำให้เกิดพลังสังคมใหม่ขึ้นคือ พลังของนิสิตนักศึกษาหรือพลังประชาธิปไตย ในยุคนั้นจึงเป็นการขัดแย้งระหว่างพลังภายในระหว่างทหารที่ครองอำนาจนำ กับพลังนิสิตนักศึกษาหรือพลังประชาธิปไตยบวกกับพลังอนุรักษ์  โดยการเห็นชอบสนับสนุนจากพลังภายนอกคือทุนนิยมโลกสหรัฐ และต่อมาพลังภายนอก และพลังภายในทหารและกลุ่มอนุรักษ์ได้โค่นล้มพลังนิสิตนักศึกษาอีกครั้งในเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519
          
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยยุคทักษิณ ก็ยังหนีไม่พ้นพลังภายในคือกลุ่มทหาร และชนชั้นกลาง กลุ่มพลังอนุรักษ์ และเชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากพลังภายนอกหรือทุนนิยมโลกสหรัฐอเมริกา แต่ในครั้งนี้ถึงแม้ฝ่ายทักษิณจะพ่ายแพ้ในพื้นที่สังคมการเมือง(Political Society) แต่ในพื้นที่ประชาสังคม(Civil Society) ก็ยังครอบครองพื้นที่ได้ ดังนั้นเมื่อมีการจัดระเบียบการเมืองใหม่หรือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และเมื่อมีจัดการเลือกตั้งอีกครั้งพรรคพลังประชาชน อันเป็นพรรคกลายพันธุ์จากพรรคไทยรักไทยก็ยังชนะการเลือกตั้ง และถึงแม้ว่าฝ่ายพลังอนุรักษ์และกลุ่มทหาร จะใช้วิธีการตุลาการภิวัฒน์และสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ขึ้นมาได้ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้งพรรคเพื่อไทย พรรคที่กลายร่างจากพรรคพลังประชาชน ก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย อันเป็นการพิสูจน์ได้ดีว่าพรรคเชื้อสายของทักษิณ ก็ยังสามารถครอบครองพื้นที่ประชาสังคมไทยได้ จนสามารถชนะการเลือกตั้งเข้าครอบครองพื้นที่สังคมการเมือง อันหมายถึงครอบครองรัฐได้อีกครั้ง กลุ่มพลังอนุรักษ์ ตุลาการ ทหาร ได้ใช้ปัญญาชนจัดตั้งคือกลุ่ม กปปส.ออกมาคัดค้านรัฐบาลเพื่อไทย เพื่อครอบงำพื้นที่ประชาสังคม แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ทำการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะเชื่อมั่นในการครองงำพื้นที่ประชาสังคม  แต่กลุ่มพลังอนุรักษ์ได้ใช้กำลังทหาร(คสช.)ทำการรัฐประหารยึดพื้นที่สังคมการเมืองเสียก่อน อันเป็นที่มาของรัฐบาลทหารประยุทธ์ จันทร์โอชาและขณะนี้ได้พยายามสร้างระเบียบการเมืองใหม่หรือรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา และกำลังจะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการประชามติ เพื่อนำไปสู่การสร้างรัฐบาลใหม่ที่ประจักษ์ ก้องกีรติเรียกว่า “อำนาจนำใหม่ของกองทัพไทย” และกังวลว่าคนไทยอาจจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจนำนี้อีกนาน
         
จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมาข้างต้น ไตรภาคีอำนาจที่สำคัญ พลังภายใน ต่างๆ กลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มทหาร กลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มชนชั้นกลาง กลุ่มพลังประชาชนต่างๆ และพลังภายนอก อันหมายถึงผู้นำทุนนิยมโลก อันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ในอดีตยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือรัฐบาลทหารจอมพลสฤษดิ์ ถนอม หรือแม้แต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบของพลเอกเปรม จะสามารถครองอำนาจนำได้อย่างยาวนาน ก็มักจะได้รับการสนับสนุนจากพลังภายนอกคือทุนนิยมโลก  แต่รัฐบาลทหารปัจจุบันดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากพลังภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทุนนิยมโลกอย่างสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้พลังภายในในส่วนของพลังประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ประชาสังคม ในขณะปัจจุบันก็ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลทหารจะสามารถยึดครองได้ แม้ว่าขณะนี้จะยึดครองพื้นที่สังคมการเมืองอยู่ หากจะนำโมเดลของรัฐบาลทหารของพม่าในอดีตมาเป็นตัวแบบว่า รัฐบาลทหารของเขายังสามารถยึดครองอำนาจนำได้อย่างยาวนาน ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลทหารพม่าแต่เดิมดำเนินการภายใต้ระบบสังคมนิยม และมีพลังภายนอกที่สนับสนุนก็คือผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ทั้งโซเวียตและจีนสนับสนุนอยู่  แต่ปัจจุบันโลกคอมมิวนิสต์เกือบจะล่มสลายแล้ว ถึงแม้จีนจะยังยืนหยัดระบบคอมมิวนิสต์อยู่ แต่ก็เปิดรับระบบทุนนิยมเป็นประเทศสองระบบและกลายเป็นรัฐตลาด ดังนั้นพลังภายนอกที่สำคัญของไทยก็ยังเป็นผู้นำทุนนิยมโลกสหรัฐอเมริกาอยู่เช่นเดิม หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ถึงแม้จะจัดระเบียบทางการเมืองใหม่หรือรัฐธรรมนูญใหม่ จะผ่านประชามติ หรือไม่ผ่านประชามติหรือไม่มีการประชามติ แต่จะพยายามนำรัฐธรรมนูญใหม่ มาบังคับใช้เป็นระเบียบการเมืองใหม่ โดยวางเป้าหมายสำหรับอำนาจนำใหม่ของกองทัพไทย หรือ คสช. สำหรับผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งต่อการครองอำนาจนำอย่างยาวนานของกองทัพ เพราะรัฐบาลใหม่ภายใต้ระเบียบการเมืองใหม่ จะต้องเผชิญกับปัญญาชนจัดตั้ง ที่จะพยายามเข้ามายึดพื้นที่ประชาสังคม อุดมการณ์ อันเป็น War of Movement  เพื่อต้องการครองอำนาจนำ(Hegemony) อันจะนำไปสู่ War of Position เพื่อเข้ายึดพื้นที่สังคมการเมืองเพื่อใช้กลไกอำนาจนำในที่สุด และที่สำคัญปัญญาชนจัดตั้งดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากพลังภายนอก ซึ่งขณะปัจจุบันก็เริ่มจะพอมองเห็นถึงแรงกดดันจากภายนอกทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ และหากอำนาจนำใหม่จากกองทัพเป็นจริง เชื่อว่ากลุ่มพลังภายในโดยเฉพาะกลุ่มทุนนิยมภายใน กลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นนำก็จะต้องได้รับผลกระทบจากแรงบีบจากพลังภายนอกหรือทุนนิยมโลก อำนาจนำใหม่จากกองทัพก็ยากที่จะดำรงอยู่อย่างยาวนานตามที่ฝัน เพราะการแย่งชิงพื้นที่ประชาสังคมอันเป็นพื้นที่สังคมอุดมการณ์นั้นจะต้องเกิดจากการยินยอมพร้อมใจมิใช่ความกลัว.

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top