นิธิ เอียวศรีวงศ์: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร (2)
Posted: 20 May 2016 08:47 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
แม้ดูไม่ต่างจากรัฐสมัยใหม่โดยทั่วไป แต่ที่จริงแล้วรัฐไทยไม่ใช่รัฐสมัยใหม่แท้ ยังคงรักษาความเป็นรัฐ patrimomial ไว้เป็นหลักอย่างเหนียวแน่น
รัฐสองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร สรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ รัฐ patrimonial คือรัฐที่เป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถืออำนาจ จะเป็นบุคคลหรือกลุ่มก็ตาม พวกเขาย่อมจัดการรัฐประหนึ่งจัดการทรัพย์สินส่วนตัว เอาพรรคพวกบริวารมาร่วมแบ่งปันอำนาจ โดยเฉพาะในระบบราชการ (พลเรือน, กองทัพ, ตุลาการ) เพราะระบบราชการถืออำนาจไว้มาก จึงต้องให้อยู่ในมือของพรรคพวกบริวารที่น่าไว้วางใจของตน อย่างน้อยคุณสมบัติสำคัญของผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็คือความน่าไว้วางใจ
ตรงกันข้าม รัฐสมัยใหม่ (ซึ่งมักพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐประชาชาติด้วย) เป็นรัฐที่ไม่เป็นสมบัติของผู้หนึ่งผู้ใด หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ฉะนั้นรัฐสมัยใหม่จึงเป็นรัฐที่ไม่"บุคโขโลคณะ" (impersonal) ทั้งตัวรัฐ และการดำเนินกิจการของรัฐ ความมีประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการเป็นเครื่องวัดอย่างดี ดังนั้นระบบราชการ (พลเรือน, กองทัพ, ตุลาการ) จึงตั้งอยู่บนหลักความรู้ความสามารถหรือคุณาธิปไตย คนมีความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์สุจริต จะได้รับการอุดหนุนให้ไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งสูง โดยไม่ต้องอาศัยเส้นสายใดๆ
ว่ากันที่จริงแล้ว เมื่อแรกตั้งระบบราชการแบบใหม่ขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามนั้น กองทัพเป็นหน่วยราชการที่ค่อนข้างเปิดกว้างแก่สามัญชนมากที่สุด แม้ว่าโดยระบบแล้ว"คนนอก"เหล่านี้ไม่สามารถคุมตำแหน่งระดับสูงในกองทัพได้ แต่การเลื่อนขั้นในระดับรองลงมา ดูเหมือนจะพิจารณาจากความรู้ความสามารถมากกว่าหน่วยอื่นๆ ของระบบราชการ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความจำเป็นต้องขยายกำลังพลอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ต้องการนายทหารจำนวนมากอย่างรวดเร็วตามไปด้วย โรงเรียนนายร้อยซึ่งสอนตั้งแต่ระดับประถมขึ้นมา ไม่กีดกันลูกหลานสามัญชน ซ้ำยังให้การอุปถัมภ์ค้ำจุนแก่เด็กนักเรียนหลายรูปแบบ ทำให้ครอบครัวที่ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจจะส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนดัง สามารถส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนนายร้อยได้
นี่คือเหตุผลที่ทหารเป็นข้าราชการที่หัวก้าวหน้าที่สุดในระยะหนึ่ง เช่นเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบปกครองในร.ศ.130 และเป็นกำลังหลักในการปฏิวัติ 2475 เมื่อคณะราษฎรขจัดนายทหารจากระบบเก่าออกไปจากกองทัพได้แล้ว ทหารที่เหลือก็ดูจะตอบสนองต่อผู้นำที่เป็นสมาชิกอาวุโสของคณะราษฎรได้ดี ทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพลป.พิบูลสงคราม แต่สถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนไปหลัง 2490
ทำไมกองทัพจึงเปลี่ยนไปหลังรัฐประหาร 2490 นั้นน่าคิดมากทีเดียว จะว่าเพราะกองทัพเข้ามาพัวพันกับการเมืองขนาดเป็นแกนกลางในการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนก็ได้ แต่ผมคิดว่าเหตุผลที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ กองทัพและหน่วยงานราชการของไทยทั้งหมด มีผลประโยชน์ทางการเมืองจะต้องรักษาหรือขยายทั้งสิ้น แค่จะรักษาให้งบประมาณของหน่วยยังคงอยู่ในระดับเดิมก็เป็นการเมืองอย่างหนึ่งแล้ว ระหว่างการเมืองของระบอบประชาธิปไตยที่กองทัพเคยเล่นมาก่อน และลงเอยด้วยการถูกบีบให้หลุดจากอำนาจสูงสุด เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง กับการเมืองในระบอบ patrimonial ที่กองทัพอาจกลับเข้ามากุมอำนาจสูงสุดได้อีกครั้ง กองทัพย่อมเลือกการเมืองในระบอบ patrimonial เป็นธรรมดา
ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ความเป็น patrimonial ของรัฐไทยนั้น มันหนักแน่น และขยายไปยึดกุมทุกส่วนของชีวิตผู้คนเสียจนกระทั่ง ยากมากที่ใครซึ่งยังอยู่ในรัฐ (โดยเฉพาะที่อยู่ในกลไกของรัฐ หรือได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากรัฐ) จะสามารถดิ้นหลุดออกไปได้ง่ายๆ
ฉะนั้น เมื่อดูองค์กรทางสังคมอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในระบบราชการและเอกชน แม้มีภารกิจที่น่าจะอยู่ตรงข้ามกับระบบ patrimonial อย่างไร ดำรงอยู่ในรัฐไทยไปไม่นาน ก็กลับกลายเป็นองค์กรที่ส่งเสริม patrimonialism อย่างยิ่ง เช่นมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยแห่งแรกถึงมหาวิทยาลัยแห่งสุดท้าย ต่างปฏิบัติงานเป็น"ภูมิปัญญาของแผ่นดิน"เหมือนๆ กันหมด คือเชิดชู ปกป้อง แก้ตัวแทน และรับใช้ ระบอบ patrimonialism ของไทยอย่างแข็งขัน เอนจีโอกลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่เป่านกหวีดเรียกทหารออกมายึดอำนาจ คนทำงานด้านสุขภาพ (ซึ่งเป็นคนชั้นกลางสายวิชาชีพอย่าหนึ่ง) เชิดชูระบอบตนบุญให้เป็นระบอบการเมืองและสังคมที่ควรเข้ามาแทนที่ประชาธิปไตย ฯลฯ
แม้แต่ผู้ประกอบการด้านศิลปะ ซึ่งประกอบอาชีพอยู่ด้วย"ฝีมือ"ของตนเองแท้ๆ ก็ยังออกมาเคลื่อนไหวเพื่อยืนยันว่า"เส้น"สำคัญกว่า"ฝีมือ" เพราะรัฐเป็นสมบัติของบุคคล ไม่ใช่เป็นของกลางซึ่งทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันและเสมอกัน
คนไทยจำลองความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อันเป็นลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมหลักของรัฐ patrimonial มาใช้ในสังคมสมัยใหม่เกือบทุกด้าน – รุ่นพี่-รุ่นน้อง, ครู-ศิษย์, ผู้ใหญ่-ผู้น้อย, เจ้าพ่อ-บริวาร, ฯลฯ โดยแปลงอิทธิพลของผู้อุปถัมภ์ให้กลายเป็นความเมตตา อย่างที่เจ้าพ่อร้อยศพในต่างจังหวัดเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขามีความสุขในการได้ช่วยเหลือคนอื่น ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติถูกจำแลงมาใช้ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ นับตั้งแต่"พ่อ", ลูก"พี่", และในช่วงนี้ ผู้มีอำนาจไม่ได้เป็น"บิ๊ก"อีกแล้ว แต่เป็น"ลุง"แทน
ทั้งนี้เพื่อบดบังไม่ให้เห็นเนื้อแท้ของ patrimonialism ที่แฝงอยู่ในรัฐไทย ซึ่งต้องใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือรักษาสมบัติส่วนตัวอยู่ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประชาธิปไตยจึงแทบไม่มีโอกาสในรัฐ patrimonial อย่างหนักแน่นเช่นรัฐไทยเลย
ทำไมประชาธิปไตยจึงมีโอกาสในบางรัฐ และไม่มีโอกาสหรือมีน้อยในบางรัฐ นาย Fukuyama อาศัยข้อเสนอของนักวิชาการอีกคนหนึ่งคือนาย Martin Shefter ("Regional Receptivity to Reform," Political Science Quarterly 98/3) ซึ่งอธิบายว่า ขึ้นอยู่กับลำดับขั้นตอนในพัฒนาการของแต่ละรัฐ หากรัฐใดพัฒนารัฐจนกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งแล้ว จึงรับประชาธิปไตยเข้ามาใช้ ด้วยเหตุใดก็ตาม โอกาสที่ประชาธิปไตยจะตั้งมั่นอยู่ได้ ย่อมมีมากกว่า รัฐที่รับเอาประชาธิปไตยเข้ามาใช้ ตั้งแต่รัฐยังไม่กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็ง
การเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็ง จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการอยู่รอดของประชาธิปไตย
หากยอมรับความเห็นนี้ ข้อถกเถียงของไทยน่าจะเป็นว่า ในวันที่ 23 มิถุนายน 2475 ผู้ปกครองไทย ได้ทำให้รัฐไทยเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งแล้วหรือยัง หรือเพียงแต่ทำให้รัฐ patrimonial เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น หากเป็นอย่างหลังนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำประชาธิปไตยมาสู่สยามประเทศ ประชาธิปไตยก็ดูมีโอกาสรอดได้น้อยมากอยู่แล้ว
แต่รัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งจะเกิดได้อย่างไรในโลกปัจจุบัน หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยทำให้หลายรัฐกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งคือสงคราม หรือความอยู่รอดทางการเมืองของรัฐ ตัวอย่างที่รู้จักกันดีก็คือจีนเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว, ปรัสเซีย-เยอรมันนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา, ญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา, ในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าต้องนับรวมเกาหลีใต้ ซึ่งรู้สึกตัวว่าถูกคุกคามจากเกาหลีเหนือตลอด กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งภายใต้เผด็จการทหารที่ครองประเทศเป็นเวลานาน ก่อนที่จะมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจไปไกล และกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มั่นคงในปัจจุบัน และหากรวมเกาหลีใต้ ก็ต้องไม่ลืมไต้หวันด้วย
ปัจจัยอย่างที่สองซึ่งทำให้เกิดรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งขึ้นแทนที่รัฐ patrimonial คือการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดคนชั้นกลางจำนวนมากพอที่จะไม่ยอมให้รัฐเป็นสมบัติส่วนตัวของใคร รัฐที่กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ด้วยวิธีนี้ (ทั้งที่เป็นและไม่เป็นประชาธิปไตย) มีให้ยกเป็นตัวอย่างได้มาก เช่นอังกฤษ, สหรัฐ, สิงคโปร์, จีนปัจจุบัน, คอสตาริก้า ฯลฯ
ในโลกปัจจุบัน วิถีทางแรกคือการสงครามไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะการสูญเสียอาจมากจนรัฐส่วนใหญ่รับไม่ไหว วิถีทางให้เกิดรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งจึงน่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่า แต่ข้อนี้มีหลุมพรางบางอย่างที่ควรระวังให้ดี
หลายประเทศในโลกประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ระบอบเผด็จการ เช่นปรัสเซีย-เยอรมัน, จีนปัจจุบัน, ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19 และ 20, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อิหร่าน ฯลฯ ทำให้คนไทย(และต่างประเทศ)จำนวนไม่น้อยสรุปว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จต้องทำได้ภายใต้ระบอบเผด็จการเท่านั้น ข้อนี้ไม่จริง เพราะมีระบอบเผด็จการที่ล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งมากเสียกว่า ทั้งในเอเชีย, แอฟริกา และละตินอเมริกา เผด็จการจึงไม่เท่ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการทำให้รัฐกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็ง
ในประเทศไทย เราเคยผ่านระบอบเผด็จการมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดเลยที่ระบอบเผด็จการจะนำมาซึ่งรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็ง หลายคนชอบยกสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ เป็นตัวอย่างของเผด็จการที่มีประสิทธิภาพในการสร้างรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็ง
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การรัฐประหารของสฤษฎิ์ที่อ้างว่าเป็นการปฏิวัตินั้น มีส่วนช่วยให้รัฐไทยเข้มแข็งขึ้นเป็นอันมาก เมื่อดูจากจำนวนของกิโลเมตรของเส้นทางคมนาคม, จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่เปิดใหม่, จากจำนวนของข้าราชการทั้งสามด้านที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก, จากรายได้ประชาชาติ, จากสัมฤทธิผลของการนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในท้องถิ่น ฯลฯ แต่รัฐไทยที่เข้มแข็งนี้ห่างไกลจากความเป็นรัฐสมัยใหม่เท่าเดิม เมื่อดูจากจำนวนของค่าต๋งที่นายทหารของคณะปฏิวัติได้รับจากธนาคาร, รัฐวิสาหกิจ, บริษัทเอกชน, จำนวนของบริษัทเสือนอนกินเพื่อก่อสร้างหรือจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ, การให้หรือขาย"เส้น"เพื่อดำเนินธุรกิจทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย, ฯลฯ นี่คือผลประโยชน์ของผู้ปกครองรัฐ patrimonial นั่นเอง ดังนั้นในขณะที่รัฐไทยเข้มแข็งขึ้น รัฐ patrimonial ไทยก็เข้มแข็งขึ้นไปพร้อมกัน
สฤษฎิ์และบริวารของเขา ช่วยสร้างเครือข่ายและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ patrimonial ไทยให้แข็งแกร่งเสียจน รัฐไทยยิ่งถูกรัดรึงด้วยผลประโยชน์ของ patrimonialism เสียจนยิ่งยากมากขึ้นที่จะถ่ายถอนให้หลุดไปได้ง่ายๆ
ที่มักพูดกันว่า จะทำให้เกิดรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งและการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องเดินตามสิงคโปร์เท่านั้น อาจจะจริงก็ได้ แต่เผด็จการไทยทุกชุดแตกต่างอย่างยิ่งจากเผด็จการสิงคโปร์ และแตกต่างอย่างยิ่งจากเผด็จการทหารเกาหลีใต้ เผด็จการทั้งสองแห่งนั้นบริหารโดยไม่"บุคโขโลคณะ" พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ได้ใช้"เส้น"ช่วยสมัครพรรคพวกตัวเองให้รอดพ้นจากกฎหมาย หรือได้ประโยชน์เหนือปรกติจากกฎหมาย นั่นคือกำลังทำลายรัฐ patrimonial ลง และเดินไปตามวิถีสู่รัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็ง มีเผด็จการไทยชุดใดหรือที่ต้องการละทิ้งรัฐ patrimonial ไทยไปอย่างเด็ดขาดบ้าง
การพัฒนาเศรษฐกิจในรัฐ patrimonial นั้น ไม่มีทางที่จะเป็นผลให้เกิดรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งได้ (ย้อนกลับไปอ่านเรื่องของสฤษฎิ์ใหม่อีกที) เราอาจมีรายได้ต่อหัวประชากรสูงถึงระดับรายได้ปานกลางขั้นสูง แต่ความจริงแล้วเงินและโอกาสกระจุกอยู่กับคนส่วนน้อยซึ่งอยู่ในเครือข่าย patrimonial เท่านั้น คนเหล่านี้ไม่ได้กีดขวางประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว แต่ที่เขากีดขวางเสียยิ่งกว่าคือรัฐไทยที่เป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งต่างหาก เพราะรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งปฏิเสธอภิสิทธิ์ของพวกเขา
เราอยากเป็นสิงคโปร์ที่ไม่มีลีกวนยิว เพื่อโซ้ยผลประโยชน์ในกลุ่มเล็กๆ ของตนโดยไม่มีใครโวยได้เท่านั้น
ทั้งหมดนี้ พูดด้วยภาษาการเมืองไทยปัจจุบันให้เข้าใจง่ายก็คือ สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสุดของรัฐไทยเวลานี้ แต่ที่ขาดไม่ได้เพื่อเดินต่อไปคือความเสมอภาค รัฐ patrimonial ทุกแห่งกลัวความเสมอภาคครับ สิ่งที่เผด็จการซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งขึ้นได้เหมือนกัน คือต่างสถาปนาความเสมอภาคขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการของตนเอง เผด็จการไทยเสียอีกที่อาจดู liberal ในหลายชุด (เช่นคปก.) ปล่อยให้มีสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยได้มากพอสมควร แต่เผด็จการไทยทุกชุดไม่อาจรับความเสมอภาคได้
มหาอำนาจตะวันตกอาจห่วงเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย แต่ผมคิดว่าคนไทยห่วงเรื่องเสมอภาคมากกว่า เพราะรัฐไทยที่เติบโตมาถึงทุกวันนี้ ก้าวต่อไปภายใต้รัฐ patrimonial ไม่ได้เสียแล้ว นายกฯ ทักษิณ ชินวัตรไม่ได้มีประวัติที่งดงามนักในเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย และคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ก็ไม่ใส่ใจกับประเด็นนี้นัก แต่ที่เขายกย่องชื่นชมคุณทักษิณ คือนโยบายที่เขาอ่านว่าเป็นการสนับสนุนความเสมอภาคทั้งสิ้น และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้คุณทักษิณเป็นศัตรูตัวฉกาจของรัฐ patrimonial ไทย
(ตอนต่อไปผมจะพูดถึงหนทางที่จะก้าวสู่รัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็ง แต่ด้วยวิถีประชาธิปไตย จะเป็นไปได้แก่ไทยหรือไม่)
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น