0
นิธิ เอียวศรีวงศ์: อวสานหงสา
Posted: 15 May 2016 09:09 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ที่จะคุยต่อไปนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับสมเด็จพระนเรศวรเลย แต่ผมอยากจะเสนอว่า อวสานหงสานั้นมีส่วนอย่างสำคัญต่ออวสานอยุธยาในกว่าศตวรรษครึ่งต่อมา อวสานหงสาอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาล่มสลายลง มากเสียกว่าการแย่งชิงราชสมบัติกัน หรือความไร้สมรรถภาพของผู้นำประเทศ อย่างที่มักยกเป็นสาเหตุของกรุงแตกเสียอีกก็ได้
แม้พระนเรศวรไม่ใช่ผู้ปราบหงสาโดยตรงแต่อวสานหงสาเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์ตองอูในระยะแรกสิ้นสลายลงซึ่งก็นับเป็นโชคดีของราชวงศ์ตองอูหรือพม่าเพราะระบบปกครองของราชวงศ์ตองอูระยะแรกนั้นไม่น่าจะทนทานต่อไปได้อีกนานเท่าไรอยู่แล้ว เมื่อขาดกษัตริย์ที่ชาญฉลาดและเก่งกล้าสามารถอย่างพระเจ้าบุเรงนอง ทุกรัชกาลจะสิ้นสุดลงด้วยการแตกสลายของจักรวรรดิ เพราะเจ้านายที่ครองเมืองลูกหลวง พากันแข็งเมืองต่อรัชทายาท ในที่สุดพม่าก็จะกลับไปสู่สภาพจลาจลเหมือนเมื่อสิ้นอาณาจักรพุกาม หัวเมืองใหญ่ทั้งหลายต่างตั้งตัวเป็นอิสระ และทำสงครามระหว่างกันอยู่บ่อยๆ เปิดโอกาสให้คนจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นมองโกล, ไทยใหญ่, หรืออาณาจักรใกล้เคียง บุกทะลวงเข้ามาปล้นสะดมและยึดครองหัวเมืองในลุ่มน้ำอิรวดีอี
การกลับคืนขึ้นสู่ส่วนในแผ่นดินของราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่โดยสถาปนาราชธานีที่อังวะกลับเป็นโอกาสให้ได้สถาปนาระบบปกครองแบบใหม่ที่ทำให้การรวมศูนย์อำนาจอย่างยั่งยืนถาวรเป็นไปได้ใช่แต่เพียงเท่านั้นการขยายอำนาจนำของราชวงศ์ผ่านพระพุทธศาสนา, อักขระวิธี, วรรณกรรม, การขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน และการสร้างมาตรฐานกลางของอัตราน้ำหนัก, เงินตรา ตลอดจนความชอบธรรมของราชวงศ์พม่าเหนือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ทั้งหมด ยังทำให้พม่ากลายเป็นราชอาณาจักรที่แข็งแกร่งในเชิงโครงสร้าง เหนือรัฐเถรวาทอื่นๆ ในอุษาคเนย์อีกด้วย แม้ว่าในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เนื่องจากความเสื่อมโทรมของพระราชอำนาจ อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ราชวงศ์ตองอูล่มสลายลง เพราะการกบฏของชนกลุ่มน้อยในจักรวรรดิ โดยเฉพาะพวกมอญซึ่งสามารถตีอังวะแตก ถึงกระนั้น ในเวลาไม่นาน เมื่ออลองพญาสามารถตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ได้สำเร็จ การ "ปฏิรูป" ด้านต่างๆ ที่ราชวงศ์ตองอูซึ่งฟื้นฟูขึ้นใหม่ได้วางรากฐานไว้แล้ว ก็ดำเนินต่อไป อย่างคึกคักยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ผมขอพูดถึงบางเรื่องในการปฏิรูปของราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่
การถอยกลับขึ้นไปสู่ส่วนในนั้นนักวิชาการแต่ก่อนโดยเฉพาะอดีตเจ้าหน้าที่อาณานิคมอังกฤษมักอ้างว่าเป็นต้นเหตุให้พม่าทอดทิ้งการค้าระหว่างประเทศเลยพลอยไม่ค่อยรับรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกภายนอก(เพื่อให้เหตุผลว่า กษัตริย์พม่าล้าหลังเสียจนสมควรต้องตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ) แต่นักวิชาการรุ่นหลังชี้ว่า ข้อเท็จจริงตามหลักฐานมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะราชวงศ์ตองอูที่อังวะ สามารถควบคุมตอนล่างของลุ่มอิรวดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสามารถรับผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศทางทะเลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต่างจากราชอาณาจักรที่มีราชธานีไม่ไกลจากทะเลเช่นกัน
ยิ่งไปกว่าการค้าทางทะเลการค้าทางบกเชื่อมต่อกับยูนนานของจีนรุ่งเรืองขึ้นอย่างสม่ำเสมอปริมาณของสินค้าที่ส่งผ่านการค้าทางบกนี้ไม่อาจระบุเป็นตัวเลขได้แต่จากหลักฐานแวดล้อมอื่นๆชี้ว่า ปริมาณนั้นต้องสูงพอที่จะทำให้พม่ากลายเป็นแหล่งผลิตฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ฝ้ายกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวแรกๆ ที่ส่งออกผ่านกองคาราวานพ่อค้ายูนนาน (ในปลายอยุธยา ก็มีการผลิตฝ้ายเพิ่มขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเช่นกัน... อย่าลืมว่านางพิมได้เสียกับพลายแก้วที่ไร่ฝ้าย... แต่โดยปริมาณเปรียบเทียบแล้ว น้อยกว่าที่ผลิตในพม่าสัก 10 เท่า) การถอยราชธานีกลับขึ้นไปส่วนบน ทำให้ราชสำนักอังวะสามารถควบคุมเส้นทางการค้าจากยูนนานให้ปลอดภัยได้ตลอดมา เพราะได้สถาปนาอำนาจทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรมเหนือที่ราบสูงชานอย่างมั่นคงขึ้น (รวมทั้งเลยเข้ามาในล้านนา ซึ่งพม่าเรียกว่าชานตะวันตก อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางกองคาราวานพ่อค้ายูนนานด้วย)
ในขณะเดียวกัน กษัตริย์ในราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นนี้ ยังได้สร้างป้อมค่ายตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทั่วราชอาณาจักร รวมถึงตามเส้นทางการค้าภายในด้วย ความสงบปลอดภัยที่รัฐบาลกลางจัดไว้ให้นี้ ยิ่งทำให้การค้าภายในรุ่งเรืองมากขึ้น ในช่วงราชวงศ์ตองอูที่อังวะกับต้นราชวงศ์อลองพญานั้น ภาษีที่เป็นเงินสดซึ่งรัฐบาลสามารถเก็บได้มีมูลค่าถึง 70% ของภาษีทั้งหมด
สะท้อนความเติบโตของเศรษฐกิจตลาดในพม่าได้ดี
แต่ที่ผมคิดว่าสำคัญยิ่งกว่าการค้าก็คืออำนาจเหนือกำลังคนราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นกับราชวงศ์อลองพญา(กอนบอง)ต่างต้องให้ความสำคัญแก่การควบคุมกำลังคนซึ่งกระจุกตัวอยู่ในที่ราบตอนกลางของประเทศเป็นอย่างยิ่งเพราะกำลังคนเหล่านี้คือผู้ผลิตข้าว, ผลิตส่วยและภาษี, เป็นผู้ให้บริการที่จำเป็นในการปกครอง, เป็นกำลังรบกับข้าศึกต่างเมือง และกับเจ้านายและขุนนางซึ่งอาจก่อกบฏขึ้น ใน ค.ศ.1635 (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) กษัตริย์ในราชวงศ์ตองอูได้ทำสำมะโนประชากร-ที่ดิน-บัญชีส่วยและภาษีทั้งของหลวงและของขุนนางเป็นครั้งแรก
ในด้านการปกครองอังวะพยายามจำกัดอำนาจของเจ้าเมืองท้องถิ่นลงธรรมเนียมส่งเจ้านายไปครองเมืองลูกหลวงเป็นอันยกเลิกเด็ดขาดเจ้านายต้องอยู่ในเมืองหลวงได้กินแต่ส่วยสาอากรจากหัวเมืองที่กษัตริย์มอบให้ โดยมีขุนนางเป็นเจ้าเมืองซึ่งอังวะพยายามไม่ให้สืบตำแหน่งทางสายโลหิต ฉะนั้น กษัตริย์ในราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นนี้ จึงมีพระราชอำนาจควบคุมส่วนกลางประเทศ ซึ่งเป็นแกนกลางของพม่าไว้ได้อย่างรัดกุม แม้ว่ายังมีปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติสืบต่อมา แต่เป็นการแย่งชิงกันในหมู่ราชวงศ์ เพราะพม่ายังถือความเป็น "เจ้า" เป็นเงื่อนไขสำคัญของการสืบราชสมบัติ แตกต่างจากอยุธยาในสมัยเดียวกัน ที่ปล่อยให้ขุนนางเข้ามาร่วมเล่นเกมชิงราชสมบัติด้วย อย่างไรก็ตาม การแย่งชิงราชสมบัติของพม่าไม่เป็นเหตุให้กลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างที่เกิดในสมัยราชวงศ์ตองอูตอนต้นอีกต่อไป
พัฒนาการทางวัฒนธรรมในช่วงนี้มีความสำคัญต่อความแข็งแกร่งของราชวงศ์ที่ได้อำนาจปกครองพม่าอย่างยิ่งโดยอาศัยการปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้ตรงตามคัมภีร์ราชสำนักได้ขยายพระพุทธศาสนา"สำนวน"นี้ออกไปอย่างกว้างขวาง พระพุทธศาสนาแบบคัมภีร์เปิดโอกาสผู้ที่สามารถบำรุงเลี้ยง "นักปราชญ์" ที่เชี่ยวชาญบาลีกลายเป็นองค์อุปถัมภ์พระศาสนาที่ใหญ่สุด และผู้ที่มีความสามารถทำเช่นนั้นได้ก็คือราชสำนักอังวะ ยากที่หัวเมืองอื่นหรือเจ้าประเทศราชจะสามารถแข่งขันได้ คัมภีร์บาลีจากลังกาถูกถ่ายเป็นอักษรพม่าจำนวนมาก และที่สำคัญกว่านั้นก็คือมีการแปลคัมภีร์บาลีเป็นภาษาพม่าในช่วงนี้อีกมากเหมือนกัน
ภาษาพม่าของส่วนกลางเริ่มกลายเป็นภาษามาตรฐาน ทั้งในแง่อักขรวิธี และศัพท์มีการทำอภิธานศัพท์ในภาษาพม่าขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ราชสำนักอังวะยังพยายามสร้างมาตรฐานกลางของหน่วยน้ำหนัก, การวัด และประดิทิน
การขยายตัวของภาษาพม่าเกิดขึ้นพร้อมกับความสามารถอ่านออกเขียนได้ซึ่งแพร่กระจายไปยังประชาชนทั่วไปมากขึ้นก่อให้เกิดความเฟื่องฟูของวรรณคดีพม่าไม่เฉพาะแต่ที่แต่งกันขึ้นในหมู่กวีราชสำนักเท่านั้นแต่ยังรวมถึงวรรณกรรมอีกมากที่แต่งกันขึ้นในหัวเมืองใหญ่อื่นๆ ทั้งที่เป็นตำนานเมือง, ธรรมสากัจฉา และบทละคร นอกจากนี้ ยังเกิดประเพณีทางวรรณกรรมใหม่ๆ ขึ้นเป็นอันมาก เช่น วรรณกรรมเสียดสีสำนวนของคนที่ไม่สังกัดชนชั้นมูลนาย แม้แต่ "มหาราชพงศาวดาร" ของอูกาลา ซึ่งไม่ใช่ข้าราชสำนัก ก็เปลี่ยนประเพณีการเขียนวรรณกรรมประวัติศาสตร์เสียใหม่ จนในบานแผนกต้องกล่าวขอโทษที่ไม่เดินตามประเพณีเดิม
ภาษาพม่าและวัฒนธรรมพม่ากลายเป็นมาตรฐานของผู้มีการศึกษาไม่เฉพาะแต่ในกลุ่มชาติพันธุ์พม่าเท่านั้นแต่รวมไปถึงเมืองประเทศราชทั้งหลายโดยเฉพาะในคุ้มหลวงของเจ้าไทยใหญ่และหัวเมืองมอญ (และคงรวมถึงล้านนา โดยเฉพาะเชียงใหม่ด้วย) ฉะนั้น ความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมของราชสำนักพม่า จึงเป็นพลังผนวกเอาความภักดีของชนชั้นนำในบรรดาชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในพม่าด้วย ความภักดีนี้อาจคลอนคลายได้ในบางสถานการณ์ แต่ความเป็นพม่าในส่วนลึกของจิตใจก็ยังอยู่
แม้แต่ในหมู่สามัญชนโดยทั่วไป ภาษาพม่าก็ขยายตัวขึ้นในหมู่ผู้ที่พูดภาษามอญ, พยู, ไท, ชิน และคดู โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในที่ราบตอนกลาง
พัฒนาการทั้งทางการเมือง,เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับราชอาณาจักรอยุธยาในสมัยนี้เช่นเดียวกันแต่ผม "รู้สึก" ว่าความเข้มข้นไม่อาจเทียบได้กับที่เกิดในราชอาณาจักรอังวะ กว่าจะเข้มข้นเทียบเทียมกันได้ ก็ต่อเมื่อตกมาถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์แล้ว โชคดีที่ผมไม่ต้องอาศัยแต่ความ "รู้สึก" อย่างเดียว เพราะ Victor Lieberman ซึ่งค้นคว้าลงลึกเกี่ยวกับราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นกับอยุธยา ก็มีความเห็นอย่างเดียวกันใน Strange Parallels : Southeast Asia in Global Context เล่มหนึ่ง (และส่วนใหญ่ของข้อมูลเกี่ยวกับพม่าในบทความนี้ ก็เอามาจากหนังสือเล่มนี้)
ทั้งหมดนี้ยังไม่ทำให้พม่ากลายเป็นรัฐชาติขึ้นมาหรอกครับพม่าก็ยังเป็นรัฐราชสมบัติอย่างเดียวกับอยุธยาและตั้งอยู่บนฐานของเครือข่ายกลุ่มอุปถัมภ์ที่หลากหลายซับซ้อนเหมือนกันเพียงแต่ว่าในพม่าศูนย์กลางของเครือข่ายอุปถัมภ์มีสมรรถนะในการควบคุมเครือข่ายได้กว้างและลึกกว่าอยุธยา(แม้แต่การจัดไพร่หลวงหรือ ahmudan กับไพร่สมหรือ athi ของพม่ากับไทยคล้ายกัน แต่ไพร่หลวงของพม่าเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์กว่าของอยุธยา ซ้ำยังมีภารกิจไปทางทหารอย่างเห็นได้ชัด อาจคล้ายอยุธยาตอนต้นที่แบ่งไพร่ออกเป็นสองฝ่ายคือทหารและพลเรือนก็ได้) และระบบทั้งหมดเหล่านี้ถูกพัฒนาให้เข้มข้นและเข้มแข็งยิ่งไปกว่าเดิมเสียอีกในสมัยราชวงศ์อลองพญา
อีกสิ่งหนึ่งซึ่งดูจะก้าวไปไกลกว่าอยุธยาคือสำนึกความเป็นพม่าของข้าไพร่เด่นชัดกว่าข้าไพร่ของอยุธยาเป็นอันมากเล่ากันว่าเมื่อกองทัพของอลองพญายกไปปราบหัวเมืองมอญที่ร่วมกันก่อกบฏจนทำลายราชวงศ์ตองอูลงทหารพม่าต่างพากันถอดผ้าโพกหัวปล่อยผมสยายลง เพื่อบอกแก่ชาวพม่าซึ่งตกเป็นเชลยของมอญว่าคนชาติพันธุ์เดียวกันได้ยกกำลังมาช่วยปลดปล่อยแล้ว คำปลุกปลอบใจของกองทัพพม่าก็คือ พม่าหนึ่งคนสามารถปราบ "ตะเลง" ลงได้ 10 คน
ถ้าเปรียบเทียบพฤติกรรมของราษฎรไทย ทั้งในครั้งศึกอลองพญาและศึกครั้งเสียกรุง เราจะไม่เห็นสำนึกอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เช่นนี้เลย
เพราะอวสานหงสาเปิดโอกาสให้พม่าถอยกลับขึ้นเหนือและปฏิรูปการเมือง,เศรษฐกิจและสังคมของตนเองไปได้ไกลกว่าอยุธยาจึงทำให้กองทัพพม่าซึ่งยกเข้ามาปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่กว่าปี สามารถปราบกองทัพอยุธยาที่ยกออกต่อรบได้ในเกือบทุกครั้ง มีวินัยและการวางแผนอย่างดี ในการตั้งทัพรอให้น้ำลด ต้องเข้าใจด้วยว่าการตั้งทัพรอน้ำลดนั้นเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งพม่าเองไม่เคยทำได้มาก่อนเหมือนกัน ทั้งยังไม่ใช่การตั้งทัพเพียงเพื่อให้อยู่รอดจนถึงหน้าแล้ง ทัพพม่าซึ่งต้องตั้งอยู่บนที่ดอนยังมีภารกิจสำคัญต้องทำอีกด้วย นั่นคือสกัดมิให้เสบียงอาหารไหลเข้าอยุธยา ต่อตีกับกองทัพเรืออยุธยามิให้มาทำลายค่ายได้ และป้องกันมิให้กองกำลังจากที่อื่นยกเข้ามาล้อมกระหนาบ
สิ่งสำคัญที่สุดในทัศนะของผมก็คือจะทำอย่างไรให้ทหารชาวนาซึ่งถูกเกณฑ์มาไกลไม่หนีทัพกลับบ้านทหารเลวที่สามารถตั้งทัพค้างฝนได้ทั้งฤดูเช่นนี้ต้องมั่นใจว่าลูกเมียทางบ้านจะมีข้าวกินในปีถัดมาผมไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์พม่าพอจะบอกได้ว่า ราชสำนักของพระเจ้ามังระแห่งราชวงศ์อลองพญาทำอย่างไร จึงจะสร้างความมั่นใจเช่นนี้แก่ทหารเลวในกองทัพได้ แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ความสามารถที่จะทำสงครามนอกฤดูแล้งได้เช่นนี้ ต้องมีการจัดองค์กรทางสังคมที่ก้าวหน้า พอที่จะสามารถเฉลี่ยอาหารไปได้อย่างทั่วถึง แม้ผลผลิตอาจลดลงเพราะสูญเสียกำลังแรงงานไปกับกองทัพรุกรานของตน
ดังนั้น แม้กองทัพอยุธยามิได้เสียเปรียบกองทัพอังวะในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และเครื่องไม้เครื่องมือในการป้องกันพระนคร กองทัพอยุธยาก็ไม่สามารถต่อสู้กับกองทัพพม่าได้ เพราะกองทัพอยุธยาต้องเผชิญกับกองทัพชนิดใหม่ ที่วางอยู่บนระบบการเมืองและสังคมที่แข็งแกร่งกว่าของตนเอง
สิ่งที่ผู้นำทัพไทยหลังกรุงแตกได้เรียนรู้สืบมาจนรัชกาลที่1เป็นอย่างน้อยก็คือความเกรียงไกรของกองทัพนั้นไม่ได้มาจากความสามารถในการรบเพียงอย่างเดียว ที่เป็นรากฐานอันขาดไม่ได้เสียยิ่งกว่า ก็คือระบบการเมืองและสังคมที่แข็งแกร่ง อันจะเอื้อต่อความสามารถของกองทัพที่จะพลิกแพลงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีไปได้หลายกระบวนท่า เพื่อเอาชนะข้าศึกในทุกเงื่อนไขและสถานการณ์
ดูเหมือนบทเรียนดังกล่าวนี้ถูกผู้นำทัพไทยลืมไปเสียสนิทในระยะหลัง
หากหงสาไม่ถึงกาลอวสานราชวงศ์ตองอูก็ไม่สามารถย้อนกลับไปตั้งมั่นในส่วนในของประเทศแล้วสั่งสมพัฒนาการด้านต่างๆของราชอาณาจักรจนกลายเป็นรัฐราชสมบัติที่ก้าวหน้ากว่าอยุธยาอย่างมากได้
ความแข็งแกร่งของราชอาณาจักรอังวะนี่เอง ที่ทำให้อยุธยาไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้ เมื่อต้องเผชิญศึกกับพม่า อวสานหงสาจึงนำมาซึ่งอวสานอยุธยา ด้วยประการฉะนี้

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ 8-14 พฤษภาคม 2558

ที่มา:  มติชนออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top