0
“อย่าบังคับให้ทหารต้องใช้ความรุนแรง” ปิ่นแก้วเล่าประสบการณ์เข้าค่ายปรับทัศนคติครั้งที่2
Posted: 03 May 2016 11:41 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ซ้ายสุด (ภาพโดย Pipob Udomittipong)
4 พ.ค.2559 จากกรณีที่ ผู้จัดกิจกรรมค้านการคุมตัวผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ข่วงท่าแพเพื่อคัดค้านการจับกุมตัว 8 ผู้ต้องหาเป็นแอดมินเพจล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกทหารจากมณฑลทหารบก33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ เรียกเข้าค่ายคุยวานนี้(3 พ.ค.59) ก่อนที่ทั้งหมดจะออกมาโดยไม่ลงชื่อในข้อตกลงหรือเอ็มโอยู (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ถูกเรียกเข้าค่ายคุยปรับทัศนคติดังกล่าว โพสต์ข้อความเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Pinkaew Laungaramsri' ในลักษณะสาธารณะดังนี้
ในการถูกเชิญให้ไปปรับทัศนะคติครั้งที่สอง ณ ค่ายกาวิละ ในวันนี้พร้อมๆ กับเพื่อนๆ อีกสองท่าน ทำให้ดิฉันอดย้อนคิดเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งเข้าค่ายกาวิละตามคำเชิญของทหารเป็นครั้งแรก เมื่อหลังรัฐประหารใหม่ๆเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 ไม่ได้ สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าสิ่งที่ทางฝ่ายทหารขอร้องจะเหมือนกันในทั้งสองครั้ง คือ การขอให้ยุติการแสดงออกทางความคิดเห็นและกิจกรรมต่างๆ ในที่สาธารณะ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่เหตุผล และวาทกรรมที่ใช้ในการรองรับคำขอดังกล่าว มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชั
ในตลอดสองชั่วโมงที่นั่งฟังการบรรยายของฝ่ายทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจและตัวแทนจากฝ่ายปกครอง ถึงความจำเป็นที่ต้องเรียกตัวดิฉันและเพื่อนอีกสองคนเข้าพบ คีย์เวิร์ดสองคำที่ไม่พบในวาทกรรมของฝ่ายทหาร ทั้งที่เป็นคำที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้งในการปรับทัศนะคติครั้งแรก และเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้มาโดยตลอดในการสร้างความชอบธรรมที่จะริดรอนเสรีภาพของประชาชนคือ “เพื่อความปรองดอง” และการอยู่ในช่วงของ “โรดแมป” ในการคืนความสุขให้กับประชาชน คำที่มาแทนที่ ความปรองดอง และโรดแมปในการสนทนาวันนี้ คือ “บ้านเมืองอยู่ในสภาวะพิเศษ” ที่ต้องการ “ความสงบเรียบร้อยปราศจากความวุ่นวายก่อนการเลือกตั้ง” และ “อย่าบังคับให้ทหารต้องใช้ความรุนแรง”
 
การหายไปของวาทกรรมความปรองดอง และโรดแมป สะท้อนความเสื่อมถอยของความชอบธรรมในการใช้อำนาจของทหารในช่วงเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การอ้างความขัดแย้งระหว่างประชาชนและสีเสื้อที่ต่าง ในฐานะมูลเหตุของความไม่สงบในสังคมไทย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง และไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ในห้วงเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งประการเดียวที่ปรากฏให้เห็น และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆคือ ความขัดแย้งและเผชิญหน้าระหว่างทหารกับประชาชน ขณะเดียวกัน วาทกรรมโรดแมป ก็เสื่อมมนต์ขลังลงอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เพียงแต่ไม่มีถนน ไม่มีแผนที่นำทาง หรือความหวังใหม่ๆใดๆให้เห็น แต่ทิศทางการพัฒนาประเทศ กลับผลิตซ้ำเมกะโปรเจ็คที่พล่าผลาญทรัพยากรและเบียดขับชาวบ้านในทุกหย่อมหญ้า ที่ัไม่ได้ต่างไปจากยุคของพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด
 
การอ้างสภาวะพิเศษ หรือการเป็นสังคม “พิเศษ” ที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ (อันเนื่องมาจากความแตกแยกขัดแย้งทางการเมืองของประชาชน) เพื่อแทนที่วาทกรรมความปรองดองและโรดแมปของ คสช. จึงเป็นข้ออ้างที่ไร้น้ำหนัก และนับวันก็ยิ่งไร้ความชอบธรรมมากขึ้นทุกขณะ ดิฉันกลับคิดว่า แทนที่ทหารมุ่งแต่จะคิดว่า สังคมไทยนั้น พิเศษไม่เหมือนใครเขา และดังนั้นจึงไม่ควรนำประเทศไปเปรียบเทียบกับที่อื่น อันเป็นวิธีคิดที่ไม่ได้ช่วยนำพาสังคมให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นแต่ประการใด ฝ่ายทหารควรหันกลับมามองว่า ในประเทศที่เคยปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการเช่นเดียวกับไทยนั้น เขานำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้สำเร็จกันอย่างไร เรียนรู้วิถีทางที่เป็นประโยชน์ในการปรองดองกับประชาชน เข้าใจประชาชน และแสวงหาหนทางไปสู่ความเป็นประเทศที่ทหารและประชาชนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องมาทะเลาะกันทุกเมื่อเชื่อวัน อย่างนี้ น่าจะเป็นวิธีคิดที่สร้างสรรค์กว่าหรือไม่ ดิฉันกลับคิดว่า สังคมไทยสามารถที่จะเป็นเหมือนกับสังคมอื่นที่ “ปกติ” ได้ ขอเพียงแต่ทหารเปิดใจรับฟังประชาชนให้มากขึ้น แทนที่จะใช้วิธีการกดบังคับ ที่พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวมาตลอดสองปีที่ผ่านมา
 
ดิฉันเข้าใจดีว่า ในฐานะที่เป็นสถาบันที่รวมศูนย์อำนาจมากกว่าสถาบันราชการใดๆในสังคมไทย นายทหารในระดับภูมิภาคนั้น มีแรงกดดันที่ต้องตอบสนองต่อนโยบายจากส่วนกลาง และแรงกดดันที่ว่ามักเป็นที่มาของการตัดสินใจใช้อำนาจที่รุนแรงเหนือการใช้เหตุผล แต่ขณะเดียวกัน ดิฉันกลับเห็นว่า หน้าที่สำคัญของทหาร ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการสนองตอบต่อนโยบายของผู้บังคับบัญชา ได้แก่ การรับใช้ประเทศที่มีประชาชนเป็นรากฐานสำคัญ ทหารที่เป็นศัตรูกับประชาชน ย่อมรักษาได้แต่ประเทศอันกลวงเปล่า และขาดไร้ซึ่งความหมาย ทหารในฐานะที่เป็นพลเมืองเช่นกัน จึงควรที่จะสามารถที่จะคิด และใช้วิจารณญาณในการเข้าใจปัญหา เข้าใจสังคม และเข้าใจประชาชน แทนที่จะมุ่งแต่ใช้กฎและอำนาจอย่างปราศจากตรรกะและเหตุผลเพียงถ่ายเดียว
 
ดิฉันได้กล่าวกับผบ.มณฑลทหารบกที่ 33 ในวันนี้ และอยากจะกล่าวซ้ำในที่นี้ อีกครั้งว่า อยากชวนให้ทหารคิด และมองไปในอนาคต “ทหารนั้นอยากให้ประชาชนจดจำตนเองอย่างไร?” สิ่งที่กระทำเฉพาะหน้าในวันนี้ โดยไม่ได้คิด หรือไตร่ตรองอย่างรอบคอบด้วยเหตุและผล ที่สุดแล้ว จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่จะถูกจดจำต่อไปในกาลข้างหน้า สำหรับดิฉัน สิ่งนี้มีความสำคัญทั้งต่อสถาบันทหาร และต่อประเทศโดยรวม โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันยังหวังว่า สักวันหนึ่ง ทหารจะสามารถถูกจดจำโดยประชาชน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์แห่งการสรรเสริญ อยู่ในความทรงจำของประชาชนในความหมายของความสว่าง และความรุ่งเรือง
 
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่า ประวัติศาสตร์ความทรงจำเช่นนี้ ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลยในสังคมไทย แม้จวบจนปัจจุบัน
 

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top