0
จาตุรนต์ ฉายแสง: ใครต้องวางตัวเป็นกลางและไม่ชี้นำ
Posted: 09 May 2016 05:00 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

การต้องเป็นกลางทางการเมืองนั้นใช้กับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ ส่วนการห้ามชี้นำใช้กับผู้มีอำนาจหรือหน้าที่ที่อาจทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เช่น รัฐมนตรีไม่ควรชี้นำการสอบสวนของพนักงานสอบสวน
ในการเลือกตั้ง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องวางตัวเป็นกลางและไม่ชักชวนจูงใจให้ประชาชนสนับสนุนพรรคการเมืองใดหรือผู้สมัครคนใด ที่ทำไม่ได้เด็ดขาด คือ การใช้อำนาจหน้าที่ที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ประชาชนมาเป็นเครื่องมือหรือเงื่อนไขในการชี้นำหรือจูงใจให้ประชาชนสนับสนุนพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรายใด
สำหรับประชาชนหรือผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีกฎหมายห้ามใช้เงินหรืออามิสสินจ้าง การข่มขู่หรือหลอกลวงให้ออกเสียงแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง แต่ไม่ห้ามชี้นำและไม่ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
ในการทำประชามติก็คล้ายกับการเลือกตั้ง คือ ผู้มีอำนาจ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ชี้นำจูงใจให้ประชาชนออกเสียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการจะต้องไม่ใช้อำนาจหน้าที่เป็นเครื่องมือหรือเงื่อนไขเพื่อทำให้ประชาชนออกเสียงไปทางใดทางหนึ่ง เช่น ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยจะใช้งบประมาณที่จัดสรรแก่หมู่บ้านเป็นเงื่อนไขให้ชาวบ้านต้องสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้
ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องการเมืองอยู่ในตัว ใครที่พึงต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองย่อมต้องวางตัวเป็นกลางในการทำประชามติ ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญมาจากคสช.และรัฐบาล ทั้งในการตั้งกรธ.และการให้ความเห็นแก่กรธ. ดังนั้น คสช. รัฐบาลและข้าราชการทั้งหลายจึงยิ่งต้องวางตัวเป็นกลางและไม่ชี้นำ
ส่วนผู้ที่ไม่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนทั่วไปไม่ต้องวางตัวเป็นกลางและไม่ถูกห้ามที่จะชี้นำหรือจูงใจ ตราบที่ไม่ทำผิดกฎหมาย เช่น ไม่ใช้เงินจ้าง ไม่ข่มขู่หรือหลอกลวง เป็นต้น
แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในการทำประชามติกลับตรงกันข้ามกับหลักการดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง
ผู้นำ คสช.และรัฐบาลประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญอย่างออกนอกหน้า บางคนบอกด้วยว่าถ้าสนับสนุน คสช.ก็ขอให้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ คนสำคัญของรัฐบาลใช้วิธีตีความอย่างคลุมเครือข่มขู่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญอยู่แทบทุกวัน มีการใช้นักศึกษาวิชาทหาร ( รด.) ออกชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ มีการพบเอกสารประกอบการชี้แจงที่บอกตรงๆว่าให้รับร่างฯ มีการใช้ทหารจำนวนมากเชิญชวนให้คนไปออกเสียงและชี้แจงเนื้อหาของร่างในจังหวัดต่างๆ มีการอบรมข้าราชการมหาดไทยกว่า 3 แสนคน อบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ

ล่าสุดมีข่าวว่า กอ.รมน.จะอบรมลูกเสือชาวบ้านทั่วประเทศเพื่อช่วยชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนด้วย
ฟังผู้รับผิดชอบอธิบายพบว่ามีการชี้แจงว่าเนื้อหาดีอย่างไร ถ้าร่างฯผ่านก็จะได้มีการเลือกตั้ง บ้านเมืองจะได้เดินหน้าไปได้เป็นต้น อาจจะพูดได้ว่าการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญตามแนวของกรธ.นั้นย่อมต้องชี้แจงข้อดี จะชี้แจงแบบไม่ชี้นำจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ส่วนการแสดงความคิดเห็นและการเผยแพร่ความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประชามติ มาตรา 7 นั้นกลับถูกจำกัดตัดทอนด้วยการออกข้อกำหนดที่เกินกว่ากฎหมายบ้าง การตีความในทางร้ายหรือคลุมเครือแล้วใช้ข่มขู่ว่าอย่าเสี่ยงต่อการถูกลงโทษบ้าง รวมทั้งการข่มขู่ว่าแม้จะไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ก็อาจจะขัดคำสั่งคสช. ราวกับว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวและกฎหมายประชามติไม่สามารถคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นในทางไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้เอาเสียเลย
สิ่งที่เกิดขึ้นในการทำประชามติครั้งนี้จึงกลับตาลปัตร ตรงข้ามกับที่ควรจะเป็น ผู้ที่ไม่ควรชี้นำก็กลับกำลังชี้นำและทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ผู้ที่ควรมีสิทธิ์แสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีกลับถูกปิดกั้นจำกัดจนเกือบจะทำอะไรไม่ได้
การทำประชามติครั้งนี้จึงไม่เป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็น การทำประชามติที่ไม่ชอบธรรมเช่นนี้กำลังจะทำให้สังคมไทยเสียโอกาสในการอาศัยเสียงของประชาชนมาใช้ตัดสินปัญหาที่เกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่าง แม้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการเห็นชอบไปได้ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับและจะกลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในอนาคต ขณะเดียวกันการทำประชามติที่ไม่ชอบธรรมก็อาจทำให้คนจำนวนมากออกเสียงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่สนใจกับเนื้อหา แต่เป็นเพราะไม่อาจยอมรับกับความไม่เป็นธรรมในการทำประชามติเสียมากกว่า
สภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยอยากเห็นจริงหรือ ??

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top