0
นักกิจกรรมโรฮิงยาวิจารณ์การ์ตูน 'อิระวดี' เหยียดเชื้อชาติหวั่นก่ออันตราย
Posted: 12 May 2016 11:53 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
นักกิจกรรมมุสลิมโรฮิงยาชื่งดังวิจารณ์การ์ตูนในนิตยสารอิระวดีฉบับภาษาพม่า ที่สื่อในทำนองว่าชาวโรฮิงยาแย่งคิวเรียกร้องสิทธิจากรัฐบาลอองซานซูจีก่อนหน้าชาติพันธุ์อื่นๆ โดยบอกว่าเป็นการ์ตูนที่ชวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยและเป็นการสื่อในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง
การ์ตูนที่ลงเผยแพร่ในอิระวดีภาคภาษาพม่า
ไวไวนุ นักกิจกรรมมุสลิมโรฮิงยาชื่อดังกล่าววิจารณ์การ์ตูนในนิตยสารอิระวดีฉบับภาษาพม่าที่เผยให้เห็นภาพของคนผิวดำเปลือยครึ่งตัวมีป้ายห้อยว่า "คนเรือ" พยายามปีนข้ามรั้วกั้นและแซงคิวกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในพม่า ซึ่งไวไวนุบอกว่าการ์ตูนชิ้นนี้เป็น "การเหยียดหยาม" และ "อันตราย"
การ์ตูนที่ถูกวิจารณ์นี้เขียนโดย หม่องหม่องฟาวเทน (Maung Maung Fountain) ถูกตีความว่า "คนเรือ" ดังกล่าวคือชาวโรฮิงยาไร้สัญชาติในรัฐยะไข่ที่พยายามเรียกร้องสิทธิของตัวเองภายใต้รัฐบาลอองซานซูจี แต่ดูเหมือนจะเป็นการพยายามเรียกร้องแซงหน้าชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ โดยที่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายในเรื่องนี้ ซึ่งนอกจากไวไวนูแล้วยังมีจำนวนมากในดซเชียลเน็ตเวิร์กที่แสดงออกในเชิงไม่พอใจต่อเรื่องนี้
ไวไวนุกล่าวให้สัมภาษณ์ว่าการ์ตูนนี้อาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจระหว่างชุมชนศาสนาต่างๆ มากขึ้น โดยที่ไวไวนุเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในประเด็นเรื่องการเหมารวมกีดกันต่อชาวมุสลิมในการ์ตูนและในภาพยนตร์เพราะอาจจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งได้
"มันดูเหมือนว่า 'คนเรือ' เหล่านี้กำลังแซงหน้าแทนที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มันเป็นภาพลักษณที่ไม่ดีและการนำเสนอเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะคนเรือเหล่านี้มีแต่ออกไจากประเทศ ไม่ได้กำลังกลับเข้ามาในประเทศ มันทั้งเป็นเรื่องที่มีลักษณะการเหยียดหยามและอาจจะเป็นเรื่องอันตรายได้เพราะมันส่งข้อความที่เป็นเท็จให้ผู้คน"
ไวไวนุกล่าวว่าอิระวดีฉบับภาษาพม่ามีวิธีการนำเสนอประเด็นนี้แตกต่างจากภาคภาษาอังกฤษโดยการเรียกชาวมุสสิมโรฮิงยาว่าเป็น "เบงกาลี" ซึ่งเป็นคำที่สื่อในเชิงว่าชาวโรฮิงยาไม่ได้เป็นพลเมืองชาวพม่าแต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เบงกาลีที่อยู่ในบังกลาเทศและอินเดีย ทั้งนี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลอองซานซูจียังขอร้องให้เอคอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำพม่าคนใหม่ไม่ให้เรียกชนกลุ่มน้อยนี้ว่า "โรฮิงยา" ไวไวนุบอกว่าต้องมีการตั้งคำถามต่อทีมบรรณาธิการของอิระวดีในเรื่องที่ตีพิมพ์การ์ตูนนี้
ผู้เขียนการ์ตูนที่ถูกวิจารณ์ปฏิเสธไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ และบรรณาธิการอิระวดีฉบับภาษาพม่าก็ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อกรณีนี้
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Rohingya activist calls magazine cartoon "insulting" and "dangerous", Coconuts Yangon, 12-05-2016


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top