วสันต์-มานิตย์หนุนงานศิลปะสุธี -เหมาะสมสะท้อนภาพต่อสู้เพื่ อประชาธิปไตยเป็นอย่างดี
Posted: 18 May 2016 08:24 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
มานิต ศรีวานิชภูมิ และวสันต์ สิทธิเขตต์ ทำหนังสือถึงภัณฑารักษ์ที่กวางจู เพื่อสนับสนุนการแสดงงาน 'สุธี คุณาวิชยานนท์' ว่าเหมาะสม-สะท้อนภาพการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนไทยโดยศิลปินไทย พร้อมเรียกร้องภัณฑารักษ์ให้มีสติและอดทนต่อการ "ใส่ร้ายป้ายสี" "ทำลายเกียรติยศและชื่อเสียง" ของสุธี "ผู้ต่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด"
วสันต์ สิทธิเขตต์ (ซ้าย) และมานิตย์ ศรีวานิชภูมิ (ขวา)
ผลงานของสุธี คุณาวิชยานนท์ ชุด "Thai Uprising/มวลมหาประชาชน" ที่นำผลงานไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูด้วย (ที่มา: Rama9Art)
18 พ.ค. 2559 กรณีที่สุธี คุณาวิชยานนท์ นำผลงานศิลปะไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ในเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) โดยนิทรรศการซึ่งมีผลงานของศิลปิน 5 ประเทศ มีพิธีเปิดเมื่อ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจัดแสดงจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม โดยผลงานส่วนหนึ่งของสุธีที่นำไปแสดงคือ 'Thai Uprising' เป็นศิลปะในช่วงการชุมนุม กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 ซึ่งต่อต้านการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ และปูทางไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ต่อมามีบุคคลหลายวงการในประเทศไทยการทำจดหมายทักท้วงภัณฑารักษ์ชาวเกาหลีใต้ เพื่อสอบถามเหตุผลในการคัดเลือกผลงานแสดงศิลปะของเขานั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
ล่าสุดวันนี้ (18 พ.ค.) มานิต ศรีวานิชภูมิ และวสันต์ สิทธิเขตต์ ซึ่งเคยแสดงผลงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ได้ทำจดหมายเปิดผนึก [ฉบับภาษาอังกฤษ] [ฉบับแปลภาษาไทย] ถึง ลิม จงยอง ภัณฑารักษ์ผู้ดูแลนิทรรศการศิลปะ ‘The Truth – to Turn It Over’ เพื่อสนับสนุนการแสดงผลงานของสุธี คุณาวิชยานนท์
อนึ่งเมื่อวันที่ 18 พ.ค. สุธี ได้เขียนจดหมายชี้แจงไปถึง ลิม จงยอง ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการดังกล่าวชี้แจงว่าเขาและคนไทยหลายล้านคนใช้สิทธิทางประชาธิปไตยด้วยการประท้วงบนท้องถนน ต่อต้านการใช้อำนาจบิดเบือนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งทำให้เกิดรัฐประหารขึ้น กิจกรรมและความเชื่อของเขามีความเที่ยงตรง เทียบเท่ากับความทะเยอทะยานของผู้คนที่เข้าร่วมในการลุกฮือจลาจลกวางจู เมื่อปี 1980 ย้ำคนใส่ร้ายเป็นพวกยิ่งลักษณ์ เป็นกลุ่มคนที่ต้องรับผิดชอบต่อการเกิดรัฐทหารปัจจุบัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
สำหรับจดหมายเปิดผนึกของมานิตย์ ศรีวานิชภูมิ และวสันต์ สิทธิเขตต์ มีรายละเอียดดังนี้
000
เรียน Mr. Lim Jong-young,
ตามที่ปรากฏข่าวบนโซเชียลมีเดีย และหนังสือพิมพ์ไทยบางฉบับว่า ท่านได้รับจดหมายจากคนไทยกลุ่มหนึ่ง ประท้วงการจัดแสดงผลงานศิลปะ ‘The Truth – to Turn It Over’ ของ อาจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ โดยกล่าวหาว่า “ต่อต้านประชาธิปไตย” (Anti democracy) เพราะผลงานและตัวศิลปินผู้มีส่วนร่วมในการประท้วงใหญ่ “ปิดกรุงเทพ” จนนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งขณะนี้ท่านกำลังพิจารณาเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรนั้น
ข้าพเจ้า, ศิลปินไทยผู้รักประชาธิปไตยเช่นกัน ขอส่งสาส์นฉบับนี้มาสนับสนุนการคัดเลือกและแสดงผลงานชุดนี้ที่ท่านเป็นผู้คัดเลือกว่า เหมาะสมและสะท้อนภาพการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนไทยโดยศิลปินไทยได้เป็นอย่างดี
การกล่าวหาผลงานชุดนี้ว่า “ต่อต้านประชาธิปไตย” เพียงเพราะศิลปินเป็นพันธมิตรเข้าร่วมประท้วงกับกลุ่ม กปปส. จนเป็นเหตุอันนำไปสู่การรัฐประหารนั้น นับเป็นข้อกล่าวหาอันตื้นเขิน ไร้เหตุผล ไม่อาจยอมรับได้
การประท้วงของสุธีและประชาชนผู้มีใจบริสุทธิ์ และรักความถูกต้อง จำนวนนับล้านทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เป็นการต่อสู้ขับไล่รัฐบาลเผด็จการรัฐสภา ที่พยายามผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอัปยศ เพื่อช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยให้พ้นความผิดที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี ในข้อหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นพี่ชาย นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ตลอดจนถึงขบวนการปล้นภาษีประชาชนโดยรัฐบาลของเธอเองในโครงการประชานิยม “รับจำนำข้าว” ที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยหลายแสนล้านบาท (เรื่องเช่นนี้ชาวเกาหลีเคยต่อสู้มาแล้ว)
การต่อสู้ดังกล่าวไม่อาจเรียกเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจาก “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” และนั่นคือสิ่งที่สุธีและพวกเราทุกคนที่นี่กำลังทำอยู่ (เรื่องนี้จึงอยากขอให้ท่านศึกษาประวัติการทำงานศิลปะของสุธีให้ดี จะพบว่าเขาไม่เคยเรียกร้องหรือสนับสนุนเผด็จการในทุกรูปแบบ)
การเกิดรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มี “นักต่อสู้ประชาธิปไตย” คนใดต้องการให้เกิด และหากไม่มีเหตุผลปัจจัยเพียงพอ เช่น ความรุนแรง รัฐประหารก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ ทำไมกลุ่มผู้คัดค้านผลงานของสุธีจึงป้ายความผิดให้แก่ผู้ชุมนุมประท้วงเพียงฝ่ายเดียว ทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่ไปกล่าวหาฝ่ายรัฐบาลเผด็จการสภาอันเป็นต้นเหตุ
ผลงานของสุธีไม่มีความผิด และไม่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารแต่อย่างใด (โปรดอ่านถ้อยคำบนเนื้องานของสุธีประกอบ) ผลงานเหล่านี้เกิดขึ้นในบริบทของการประท้วงรัฐบาล ณ ขณะนั้น
ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้ท่านมีสติและมีความอดทนต่อกระบวนการ “ใส่ร้ายป้ายสี” ทำลายเกียรติยศและชื่อเสียงของ สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด และต้องขออภัยที่ท่านและองค์กรของท่านต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอันสลับซับซ้อน สงครามสร้างภาพลักษณ์ การแย่งชิงมวลชน, อำนาจ และผลประโยชน์ของไทย
ด้วยความนับถือและจริงใจ
มานิต ศรีวานิชภูมิ (แสดงกวางจู เบียนนาเล่ 2006)
วสันต์ สิทธิเขตต์ (แสดงกวางจู เบียนนาเล่ 2004)
วสันต์ สิทธิเขตต์ (แสดงกวางจู เบียนนาเล่ 2004)
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น