0
ยูนิเซฟ เผยประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีกฎหมายที่ปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
Posted: 10 May 2016 11:38 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
10 พ.ค. 2559  รายงานข่าวจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แจ้งว่า รายงานฉบับใหม่ขององค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และอิปฟาน (International Baby Food Action Network (IBFAN) เปิดเผยถึงสถานะของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศต่างๆ โดยชี้ให้เห็นว่ายังมีอีกหลายประเทศที่ขาดมาตราการทางกฎหมายในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
รายงานระบุว่าจาก 194 ประเทศที่ทำการสำรวจ มีเพียง 135 ประเทศที่มีมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ และมติสมัชชาอนามัยโลกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเพิ่มจาก 103 ประเทศในพ.ศ. 2554อย่างไรก็ตาม มีเพียง 39 ประเทศเท่านั้นที่กฎหมายได้รวมข้อกำหนดของหลักเกณฑ์สากลฯ ไว้ทุกข้อ ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 37 ประเทศในพ.ศ. 2554
ประเทศไทยยังไม่ถูกนับรวมว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งร่างพรบ.กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
“ในประเทศไทย มีการละเมิดหลักเกณฑ์สากลฯ อย่างนับครั้งไม่ถ้วน การส่งเสริมการตลาดนมผงรุกหนักขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเข้าถึงแม่ หญิงตั้งครรภ์ และบุคลากรสาธารณสุข” นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ กล่าว “รัฐบาลต่างๆมีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทารกและเด็กเล็กในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสิ่งที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นชีวิต ซึ่งนมแม่คือส่วนสำคัญ โดยประเทศไทยกำลังมาถูกทางแล้วในการออกกฎหมายที่สำคัญนี้เพื่อส่งเสริมและปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”
องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟแนะนำว่า ทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และได้รับนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยที่ปลอดภัยและเหมาะสมจนอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น สมาชิกองค์การอนามัยโลกได้รับรองเป้าหมายด้านโภชนาการว่าจะต้องเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2568
อย่างไรก็ตาม อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 12 เท่านั้น 
“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคอ้วนในเด็กเล็กและลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่สำหรับแม่อีกด้วย” นายแพทย์แดเนียล เคอร์เตสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าว “การส่งเสริมการตลาดที่ไม่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่ทำให้แม่และเด็กเสียประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างมหาศาล ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมาย และกลไกการเฝ้าระวังและบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ”
หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ หรือ Code เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยห้ามการส่งเสริมการตลาดที่ไม่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่ ซึ่งรวมถึงนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็ก ขวดนม และจุกนม ตลอดจนห้ามการส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ เช่น การโฆษณา การให้ของขวัญแก่บุคลากรสาธารณสุข และการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฟรี นอกจากนี้ ยังห้ามผลิตภัณฑ์นมผงใช้ภาพหรือฉลากที่อ้างสรรพคุณด้านสุขภาพและโภชนาการของนมผง และให้ผลิตภัณฑ์ระบุวิธีใช้นมผงอย่างชัดเจน โดยมีข้อความที่ระบุว่านมแม่ดีกว่านมผง และระบุถึงความเสี่ยงของการไม่ได้รับนมแม่
“เป็นที่น่ายินดีที่มีประเทศที่มีกฏหมายปกป้องและส่งเสริมนมแม่มากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่แม่ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นกลางผ่านการโฆษณาและการอวดอ้างสรรพคุณด้านสุขภาพที่ไม่มีการรับรอง ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดและบั่นทอนความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กจำนวนมากขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ต่างๆ ของนมแม่อย่างเต็มที่” แพทย์หญิงฟรานเชสก้า บรังก้า ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการขององค์การอนามัยโลก กล่าว
อุตสาหกรรมอาหารทดแทนนมแม่เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก มียอดขายทั่วโลกสูงถึง 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 55 เป็น 70,000 ล้านเหรียญภายในปีพ.ศ. 2562
“อุตสาหกรรมอาหารทดแทนนมแม่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้การต่อสู้เพื่อเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องต่อสู้” นายเวอร์เนอร์ ชุลทิงค์ หัวหน้าฝ่ายโภชนาการขององค์การยูนิเซฟ กล่าว “แม่ควรมีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่า พวกเธอมีสิ่งที่ดีที่สุดอยู่กับตัวที่จะมอบให้ลูกเพื่อให้เขามีสุขภาพแข็งแรง เราไม่ควรปล่อยให้การส่งเสริมการตลาดของนมผงบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีอะไรเทียบเท่านมแม่ได้”
องค์กรอิปฟาน และศูนย์ข้อมูลหลักเกณฑ์สากลฯ (ICDC) ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิ-เซฟ เพื่อจัดทำรายงานฉบับนี้ ซึ่งสอดคล้องกับรายงาน State of the Code 2016 ของอิปฟานเอง
“องค์กรอิปฟานหวังว่ารายงานฉบับนี้จะทำให้ประเทศต่างๆ หันมาปรับปรุงและออกกฏหมายที่มีอยู่ที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อช่วยให้เด็กมีชีวิตรอดมากขึ้น” นางอานาลีส อัลเลน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลหลักเกณฑ์สากล กล่าว “กฎหมายจำเป็นต้องตามกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ให้ทัน ซึ่งรายงานฉบับนี้จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายทำเช่นนั้นได้”
รายงานการส่งเสริมการตลาดของอาหารทดแทนนมแม่ พ.ศ. 2559 มีตารางและแผนที่ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศใดมีมาตราการทางกฎหมายแล้ว และประเทศใดยังไม่มี และมีกรณีศึกษาของประเทศที่มีการปรับปรุงกฎหมายให้เข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้ รายงานมีข้อเสนอแนะว่า ขอบเขตของกฎหมายของประเทศต่างๆ ควรครอบคลุมนมทุกประเภทที่ระบุว่าให้ใช้เลี้ยงทารกและเด็กเล็กอายุ 36 เดือน 

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top