0
11 องค์กรสิทธิ ยกบทเรียน 2 ปี 'บิลลี่' หายตัว ร้องรัฐป้องกันการบังคับบุคคลสูญหายอย่างจริงจัง
Posted: 10 May 2016 10:56 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
10 พ.ค. 2559 องค์กรสิทธิมนุษยชน 11 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น(CPCR) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ขบวนการผู้หญิงเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) มูลนิธินิติธรรมส่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (JPF) ออกแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ โดยเรียกร้องให้รัฐไทยต้องดำเนินการป้องกันการบังคับบุคคลสูญหายอย่างจริงจังและเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายหลายรายที่ผ่านมา
โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
แถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่
รัฐไทยต้องดำเนินการป้องกันการบังคับบุคคลสูญหายอย่างจริงจังและเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายหลายรายที่ผ่านมา
ประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีแกนนำชาวบ้าน นักเคลื่อนไหว นักต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกคุกคาม ถูกสังหารหรือแม้แต่ถูกบังคับให้หายสาบสูญเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานการณ์การบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทยนั้น จากสถิติที่มีการรวบรวมจากการร้องเรียนโดยคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ระหว่างปี 2523 ถึง 2557 ประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 89 กรณี โดยใน 81 กรณี ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงกรณีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ด้วย[1] ในจำนวนนี้ยังไม่รวมกรณีนายฟาเดล เสาะหมาน อดีตผู้ต้องขังถูกที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ 3 คนใช้กำลังบังคับเอาตัวและหายสาบสูญไป เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559และกรณีของนายเด่น คำแหล้ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ที่ได้ต่อสู้ในประเด็นที่ดินทำกินซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559หลังเดินทางเข้าป่าเพื่อหาเก็บหน่อไม้
โดยที่การบังคับสูญหายมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่โดยปราศจากการตรวจสอบดังเช่นข้อมูลการศึกษาโดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ระบุว่า การบังคับสูญหายจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หากรัฐมีนโยบายในด้านความมั่นคงหรือการปราบปรามอย่างหนัก อาทิ นโยบายการปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย และนโยบายสงครามยาเสพติด ในปี 2546[2] เป็นต้น  และปัจจุบัน คสช. ได้ออกคำสั่งที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขว้าง โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน7 วัน และไม่ระบุสถานที่ควบคุมตัวโดยญาติและทนายความไม่สามารถเข้าถึงหรือตรวจสอบการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวได้ในทันที[3] จึงอาจทำให้บุคคลเหล่านั้นตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกบังคับให้หายสาบสูญ
การบังคับให้บุคคลหายสาบสูญถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือญาติมักจะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการคลี่คลายคดีและสืบสวนสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษอย่างเหมาะสมรวมทั้งไม่สามารถสืบสวนเพื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายได้  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายของประเทศไทย ที่ยังไม่ได้กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญารวมถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงยังขาดความเป็นอิสระ หรืออาจไม่ใส่ใจที่จะสืบสวนสอบสวนโดยทันที
แม้ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED)) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว และแม้รัฐไทยจะมีการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายแล้ว แต่กระบวนการที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ก็เป็นไปอย่างล่าช้า หากเปรียบเทียบกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เร่งตราออกมาอย่างรวดเร็วภายใต้รัฐบาลนี้
ดังนั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวบางกลอยหลังจากที่เขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไว้เมื่อ 17 เมษายน 2557โดยปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนักในการสืบหาตัวและนำผู้กระทำผิดมารับโทษ อันมีเหตุส่วนหนึ่งมาจากข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งความไม่คืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนกรณีของบิลลี่ดังกล่าวและการลอยนวลพ้นผิดของผู้กระทำในอดีตที่ผ่านมาประกอบกับสถานการณ์บังคับใช้กฎหมายและนโยบายภายใต้รัฐบาลนี้ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการบังคับสูญหายได้
องค์กรที่มีรายนามแนบท้ายแถลงการณ์นี้ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับสูญหายอย่างเร่งด่วน ดังต่อไปนี้
1. ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณารับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษอย่างเร่งด่วนและต้องมีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เร่งด่วน อิสระ และเป็นมืออาชีพ จนทราบชะตากรรมของบิลลี่เพราะคดีนี้เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก และถึงแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่มีการกำหนดให้การบังคับบุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา แต่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย
2. จากกรณีการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยจากการค้นหาของเครือข่ายชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน พบหลักฐานที่บงชี้ว่าการหายตัวไปของนายเด่น อาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการคลี่คลายในกรณีดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องร่วมมือกันสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เร่งด่วน อิสระ และเป็นมืออาชีพ จนทราบชะตากรรมของนายเด่น คำแหล้
3. ขอให้มีการดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐนั้นกระทำการหรืออนุญาต สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจต่อการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ
4. ขอให้ทบทวน ระเบียบ กฎ ที่เอื้อให้มีการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ โดยเฉพาะกฎหมายที่ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลไว้เป็นเวลานานและโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวหรือโดยไม่มีการนำตัวไปศาล เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 รวมทั้งการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯ เป็นต้น
5. ขอให้เร่งดำเนินการตรากฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายอย่างเร่งด่วน โดยมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ เพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายอาญาในประเทศในการป้องกันการกระทำผิดและมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมถึงมีมาตรการเยียวยาผู้เสียหายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยเนื้อหาในกฎหมายดังกล่าวควรระบุหลักประกันอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
5.1 กำหนดให้การทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นความผิดทางอาญา ฐานความผิดดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนิยามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ
5.2 กำหนดให้การซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เป็นกลางและมีประสิทธิภาพโดยต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพก็ตาม และต้องตระหนักว่าสิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้
5.3. กำหนดแนวทางการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันหรือใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่าทำการทรมานหรือบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อให้ความมั่นใจว่าผู้กระทำผิดจะไม่มีอิทธิพลต่อกลไกการคุ้มครองพยาน
5.4 กำหนดหลักประกันว่าข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพต้องถูกเปิดเผยต่อญาติและทนายความ หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น เพื่อป้องกันการทรมานการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือทำให้เกิดการคุมขังในสถานที่ลับ และไม่ควรมีข้อกำหนดที่จะทำให้เกิดช่องว่างหรือข้อยกเว้นที่เป็นอุปสรรคต่อการป้องกันการทรมานและการบังคับสูญหายโดยเด็ดขาด
5.5. กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ในการป้องกันการทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระเพื่อไม่ให้คณะกรรมการถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลและควรกำหนดให้มีสัดส่วนของภาคประชาสังคมในจำนวนที่สมดุลกับกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากภาครัฐ อีกทั้งต้องพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายด้วย
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)
ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น(CPCR)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
ขบวนการผู้หญิงเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)
มูลนิธินิติธรรมส่งแวดล้อม (EnLaw)
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (JPF)


            [1] Human Rights Council, Report of the Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances, A/HRC/30/38, 10August 2015,P.29
            [2] โปรดดู การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย โดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ,2558
            [3] โปรดดู รายงาน  1 ปี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 : “อำนาจพิเศษ” ในสถานการณ์ปกติจัดทำโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่เมื่อ 1 เมษายน 2559

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top