0
'Guerrilla Boys' ไปถึงกวางจูโพสต์ป้ายประท้วงหน้างานศิลปะ กปปส.
Posted: 25 May 2016 06:30 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)          
ศิลปินกลุ่ม Guerrilla Boys เยือนหอศิลปะเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมโพสต์รูปถือป้ายหน้าผลงานศิลปะยุค กปปส. ของ 'สุธี คุณาวิชยานนท์' โดยในป้ายเขียนข้อความว่า "ผลงานนี้ยังคงรอ 'รัฐบาลทหาร' เนรมิตประชาธิปไตยให้พวกเขา"
ที่มาของภาพ: เพจ Guerrilla Boys เมื่อ 25 พ.ค. 2559
25 พ.ค. 2559 วันนี้ในเพจของกลุ่มศิลปิน Guerrilla Boys มีการโพสต์ภาพ คนสวมหน้ากากกอริลลายืนอยู่เบื้องหน้าผลงาน "Thai Uprising/มวลมหาประชาชน" ผลงานศิลปะของสุธี คุณาวิชยานนท์ ที่จัดแสดงในนิทรรศการ ‘The Truth_ to Turn It Over’" ที่หอศิลปะเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ โดยคนสวมหน้ากากกอริลลายังถือกระดาษเขียนข้อความว่า "This work still waiting 'Junta' create democracy for them!!!" หรือ "ผลงานนี้ยังคงรอ 'รัฐบาลทหาร' เนรมิตประชาธิปไตยให้พวกเขา" และลงชื่อ Guerrilllaboys ท้ายข้อความ
โดยภาพด้านหลังของศิลปินที่เป็นสมาชิก Guerrilla Boys เป็นโปสเตอร์ในงาน "Thai Uprising/มวลมหาประชาชน" ที่สุธีสร้างสรรค์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2556 - 2557 และใช้ในช่วงรณรงค์ของ กปปส. โดยในโปสเตอร์เขียนข้อความที่เป็นคำขวัญในช่วงการเคลื่อนไหวของ กปปส. เช่น "Reform Now ปฏิรูปก่อน" "ยึดคืนประเทศไทย" "ไทยอย่าเฉย" ฯลฯ
ทั้งนี้ในเพจของศิลปินกลุ่ม Guerrilla Boys ระบุว่าโปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจากจดหมายฉบับที่ ธนาวิ โชติประดิษฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนจดหมายเปิดผนึกไปยัง ลิม จงยอง เพื่อสอบถามเหตุผลในการคัดเลือกผลงานแสดง โดยในโพสต์มีการอ้างถึงจดหมายฉบับดังกล่าว
"เนื่องจากการที่เขาสนับสนุนรัฐบาลทหารเป็นสิ่งที่โจ่งแจ้ง ข้าพเจ้าจึงรู้สึกสงสัยที่ท่านในฐานะภัณฑารักษ์ของนิทรศการ 2016 Asian Democracy-Human Rights-Peace จึงเลือกให้เขามีส่วนร่วมกับงานนิทรรศการ ท่านได้ทำการบ้านค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปะไทย ศิลปินไทย และความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันหรือไม่ ทั้งนี้มักจะมีกระบวนการจัดทำนิทรรศการชนิดขี้เกียจที่คู่กันไปกับภัณฑารักษ์ผู้เดินทางไปทั่วโลก แล้วมักจะเลือกศิลปินคนดังจากแต่ละประเทศด้วยความมักง่าย อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าหวังว่ากรณีนี้จะไม่เป็นหนึ่งในนั้น" (อ่านจดหมายฉบับดังกล่าว)
ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อภาพโดยเพจ Guerrilla Boys เมื่อ 25 พ.ค. 2559
และเมื่อถ่ายภาพคู่กับงานศิลปะแล้ว Guerrilla Boys ได้ปริ้นท์รูปที่ถ่ายจากกล้องโพลารอยด์และลักลอบแปะภาพถ่ายในจุดต่างๆ เพื่อส่งสารถึงภัณฑารักษ์ของหอศิลปะเมืองกวางจูด้วย
อนึ่งสุธี คุณาวิชยานนท์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำผลงานศิลปะไปแสดงที่หอศิลปะเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ในเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) โดยนิทรรศการซึ่งมีผลงานของศิลปิน 5 ประเทศ มีพิธีเปิดเมื่อ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจัดแสดงจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม โดยผลงานส่วนหนึ่งของสุธีเป็นศิลปะในช่วงการชุมนุม กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 ซึ่งต่อต้านการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ และปูทางไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และต่อมามีบุคคลหลายวงการในประเทศไทยลงลายชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกในนาม "กลุ่มนักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย" หรือ กวป. ทักท้วงลิม จองยัง ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ เพื่อสอบถามเหตุผลในการคัดเลือกผลงานแสดงศิลปะของเขานั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาในวันที่ 18 พ.ค. สุธี ได้เขียนจดหมายชี้แจงไปถึงภัณฑารักษ์ของนิทรรศการดังกล่าวชี้แจงว่าเขาและคนไทยหลายล้านคนใช้สิทธิทางประชาธิปไตยด้วยการประท้วงบนท้องถนน ต่อต้านการใช้อำนาจบิดเบือนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งทำให้เกิดรัฐประหารขึ้น กิจกรรมและความเชื่อของเขามีความเที่ยงตรง เทียบเท่ากับความทะเยอทะยานของผู้คนที่เข้าร่วมในการลุกฮือจลาจลกวางจู เมื่อปี 1980 ย้ำคนใส่ร้ายเป็นพวกยิ่งลักษณ์ เป็นกลุ่มคนที่ต้องรับผิดชอบต่อการเกิดรัฐทหารปัจจุบัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุด "กลุ่มนักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย" ได้ออกจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ถึงภัณฑารักษ์ชาวเกาหลีใต้ โดยชี้แจงบริบททางการเมืองในประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างศิลปินที่จัดกิจกรรมอาร์ตเลนและ กปปส. นอกจากนี้เรียกร้องให้ภัณฑารักษ์และกรรมการบริหารของหอศิลปะเมืองกวางจู กล่าวขอโทษต่อความไม่เข้าใจในเรื่องวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยจนนำไปสู่การเชื้อเชิญสุธี คุณาวิชานนท์เข้าร่วมการรำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมืองกวางจู โดยทำเป็นภาษาเกาหลี ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
นอกจากนี้ยังเรียกร้องพิมพ์จดหมายเปิดผนึกของ กวป. ติดตั้งคู่กับผลงานแสดงของสุธีที่หอศิลปะเมืองกวางจู และให้จัดพิมพ์จดหมายเปิดผนึก จดหมายโต้ตอบ ทั้งฝ่าย กวป. สุธีและผู้สนับสนุน ตลอดจนจดหมายของภัณฑารักษ์โดยหอศิลปะวัฒนธรรมเมืองกวางจู รวบรวมไว้ในหอจดหมายเหตุ 518 "เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และคนรุ่นหลังจะเป็นผู้ตัดสินการกระทำของเราในวันนี้" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ขณะที่อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ หัวหน้าศิลปินกลุ่ม Art Lane และยังมีตำแหน่งเป็นคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เขียนจดหมายไปถึงภัณฑารักษ์ที่หอศิลปะเมืองกวางจู เพื่อสนับสนุนสุธี โดยมีผู้ร่วมกันลงชื่อท้ายจดหมาย เนื้อความในจดหมายระบุว่าประวัติการทำงานของสุธีนั้น "ไม่มีแนวทางและแนวความคิดในการสนับสนุนเผด็จการทหารแต่อย่างใด รวมทั้งในประวัติการแสดงงานศิลปะของ รศ.สุธี ไม่เคยมีความบกพร่อง รวมทั้งมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้"

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top