0
The Apology สารคดีเรื่อง 'หญิงบำเรอ' สงครามโลก-สู่แรงบันดาลใจเรียกร้องความเป็นธรรม
Posted: 03 May 2016 04:38 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ผู้กำกับหญิง ทิฟฟานี ซุง ผู้มีความรู้สึกแบบหัวอกเดียวกันกับเหล่า 'หญิงบำเรอ' ที่เคยถูกบังคับข่มขืนโดยทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดตัวภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการต่อสู้เรียกร้องของหญิงเหล่านี้ที่ไม่ด้ต้องการการชดเชยด้วยเงิน แต่ต้องการให้ประเทศที่กระทำต่อพวกเธอยอมรับผิดและเขียนประวัติศาสตร์ตามนั้น ซึ่งผู้หญิงนักสู้เหล่านี้ก็สะท้อนแรงบันดาลใจให้เธอสู้คดีข่มขืนของตัวเองด้วย
ทิฟฟานี ซุง นักสร้างภาพยนตร์ผู้มีผลงานกำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องยาวเรื่องแรกอย่าง 'ดิ อโพโลจี' (The Apology) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเรียกร้องความเป็นธรรมของ 'หญิงบำเรอ' ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ 'นาวโตรอนโต' ซึ่งจะมีฉายในเทศกาล 'บลัวร์ ฮอต ดอกส์' (Bloor Hot Docs) ภายในวันที่ 30 เม.ย. - 1 พ.ค. และมีฉายในที่อื่นๆ หลังจากนี้
ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยการประท้วงของกลุ่มหญิงชราที่เคยถูกทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองบีบบังคับให้กลายเป็น "หญิงบำเรอ" เพื่อบำเรอกามให้กับพวกทหารมาก่อน หญิงชราเหล่านี้พากันประท้วงที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซลทุกวันพุธติดต่อกันมาเป็นเวลา 25 ปีแล้ว พวกเธอไม่ได้ต้องการเงิน ส่งที่พวกเธอต้องการคือคำขอโทษและการยอมรับว่าเรื่องเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับพวกเธอเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์
ถึงแม้ว่าหญิงชราเหล่านี้จะถูกเรียกจากกลุ่มผู้สนับสนุนพวกเธอว่าเป็นคุณยาย แต่ในภาพยนตร์ก็เผยให้เห็นในสิ่งที่ผู้ประท้วงต้องเผชิญ จากการถูกคนหนุ่มที่เดินผ่านไปมาตะโกนด่าว่า "กลับบ้านไปซะพวกกะหรี่" หรือเป็น "พวกคอมมิวนิสต์" ซึ่งการที่เธอต้องทำงานตัดต่อฉากที่โดนด่าเช่นนี้เป็นเรื่องทำใจลำบาก แต่ซุงก็บอกว่าเธอมีแรงใจในการที่จะทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สำเร็จเพราะในความรู้สึกเธอแล้วเธอไม่สามารถนิ่งดูดายอยู่เฉยๆ ได้ เธอต้องทำให้ทุกคนรู้เรื่องนี้
ซุงเริ่มรู้ถึงเรื่องของคุณยายเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2553 ตอนที่เธอไปทัศนศึกษากับโรงเรียนสอนทำภาพยนตร์เกี่ยวกับประเด็นความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เธอได้พูดคุยกับผู้รอดชีวิตจากการบังคับขืนใจในจีน, เกาหลี และฟิลิปปินส์ เรื่องราวของหญิงบำเรอที่ถูกบังคับกดขี่ทางเพศทำให้เธอรู้สึกตื่นตะลึงเพราะไม่เคยเรียนเรื่องนี้มาก่อน
นาวโตรอนโต ระบุว่าการกระทำชำเราทางเพศถูกใช้เป็นทั้งอาวุธและผลพลอยได้ของทหารมาหลายศตวรรษแล้ว คำว่า "ฮุกเกอร์" (hooker) ซึ่งเป็นคำแสลงใช้เรียกคนค้าบริการทางเพศในภาษาอังกฤษ มีทฤษฎีหนึ่งตั้งสมมุติฐานว่าคำๆ นี้มาจากชื่อของนายพลฮุกเกอร์ผู้มีความอื้อฉาวเรื่องการให้หญิงบำเรอติดตามกองทหารเขาไปจำนวนมากในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ
ซูซาน จี โคล ผู้เขียนบทความนี้ในนาวโตรอนโตระบุว่าเธอเคยเข้าร่วมการชุมนุมรำลึกของกลุ่ม่ต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี้เมื่อช่วงราว 40 ปีที่แล้วมีการตั้งอนุสาวรีย์ชั่วคราวที่มีประโยคเขียนไว้ว่า "แด่ผู้หญิงทุกคนที่ถูกข่มขืนในสงครามทุกสงคราม" อันหมายรวมถึงการข่มขืนถูกจัดเตรียมอย่างเป็นระบบแบบที่พวกขวาจัดในญี่ปุ่นบางคนอ้างว่าหญิงบำเรอเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับขวัญกำลังใจของกองทัพ โดยที่ในภาพยนตร์ของซุงยังฉายให้เห็นคุณยาย 3 คน แนะนำอาคารที่พวกเธอถูกบังคับให้อาศัยอยู่และถูกคุมขังในช่วงที่เป็นหญิงบำเรอ แต่ซุงก็บอกว่าที่แย่ไปกว่านั้นคือถ้ำ พวกเธอถูกพาไปมีเพศสัมพันธ์ที่ถ้ำโดยที่มีปืนใหญ่กั้นตัวเธอกับหญิงบำเรอคนอื่นไว้ "การข่มขืนถูกใช้เป็นอาวุธอย่างหนึ่งด้วย" ซุงกล่าว
การได้เจอกับอดีตผู้ถูกกระทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นนี้ทำให้เธอตัดสินใจเปิดระดมทุนในเว็บ Kickstarter เพื่อเดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับหญิงบำเรอเหล่านี้โดยมีผู้ที่รู้สึกเห็นอกเห็นใจกับสิ่งที่เธอทำช่วยเหลือด้วยการให้บินฟรีไปที่แหล่งถ่ายทำ ที่นั่นเธอเลือกสัมภาษณ์คุณยาย 3 คน โดยเลือกจากคนที่เต็มใจพูดเรื่องประสบการณ์ความน่าอับอายที่เคยเกิดขึ้นกับเธอได้แก่ คุณยายกิลจาเกาหลีใต้ คุณยายเชาจากจีน และคุณยายอเดลลาจากฟิลิปปินส์
ส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณยายเหล่านี้ยอมเปิดใจกับผู้กำกับเป็นเพราะว่าตัวผู้กำกับเองก็เคยมีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน และในทางตรงกันข้ามการได้พูดคุยกับคุณยายที่เคยเป็นหญิงบำเรอเหล่านี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ซุงเปิดปากให้การในคดีที่เธอกับน้องสาวเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยแฟนของแม่เธอมาก่อน
ซุงกล่าวว่าตอนที่เธอยังเรียนทำภาพยนตร์อยู่เธอไม่เคยพูดถึงเรื่องเคยเกิดขึ้นกับเธอเลยเพราะเธอรู้สึกอับอายและกังวลว่าจะถูกคนอื่นแปะป้าย แม้ว่าเธอจะเป็นคนหัวก้าวหน้าและภูมิใจในความเป็นคนรักเพศเดียวกัน แต่เมื่อเธอได้เจอกับคุณยายเหล่านี้ทำให้เธอเข้าใจเรื่องความรู้สึกอับอายและสามารถพูดถึงมันกับคนรอบข้างได้
ในประเด็นเรื่องหญิงบำเรอซุงกล่าวว่าการที่ตัวแทนของญี่ปุ่นพยายามแสดงการขอโทษเมื่อปีที่แล้ว (2558) เป็นเรื่อง "หลอกลวง" เนื่องจากเป็นการขอโทษที่สร้างเงื่อนไขให้ผู้หญิงเหล่านี้เลิกพูดถึงประเด็นนี้ ให้พวกเธอหยุดร้องเรียนต่อสหประชาชาติ อีกทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ตัวแทนญี่ปุ่นยังไม่กล่าวถึงการใส่ข้อมูลเรื่องหญิงบำเรอลงไปในตำราเรียนประวัติศาสตร์ด้วยซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่แท้จริงเพราะกลุ่มผู้นำญี่ปุ่นพยายามกำจัดข้อมูลเรื่องการกระทำผิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาโดยตลอด
ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของกลุ่มหญิงบำเรอก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิงรุ่นหลังๆ ที่ไม่ยอมรับข้อเสนอแบบของรัฐบาลญี่ปุ่นเช่นกัน และส่งผลให้ประชาคมโลกมองว่าข้อเสนอของญี่ปุ่นเป็นการถอยหลังกลับไปทำให้ผู้หญิงต้องเงียบเสียงมากขึ้น นั่นทำให้ภาพยนตร์สารคดี ดิ อโพโลจี ไม่ใช่แค่บันทึกประวัติสาสตร์ แต่เป็นเรื่องร่วมสมัยสำหรับผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ทั้งเรื่องครอบครัวของพวกเธอ สิ่งที่พวกเธอต้องประสบ และเรื่องที่มันสร้างผลกระทบต่อพวกเธออย่างไร
"มันเป็นเรื่องที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้" ซุงกล่าวอย่างกระตือรือร้น "คุณยายเหล่านี้เป็นตัวอย่างให้กับพวกเราทุกคน"

เรียบเรียงจาก
WILL THIS DOCUMENTARY'S SEX SLAVE SURVIVORS EVER GET THE APOLOGY?, Now Toronto, 27-04-2016 https://nowtoronto.com/movies/hot-docs-2016/will-this-documentary-s-sex-slave-survivors-ever-get-the-apo/

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top