0
กสม.เผยส่งรายงานปัญหาสิทธิฯให้ UN ปมปรับทัศนคติ-ศาลทหาร ของ คสช.
Posted: 11 May 2016 06:45 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เผยส่งรายงานให้ประชาชาติ เกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 และ 2556-2557 การเชิญบุคคลไปปรับทัศนคติ มาตรการที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การใช้ศาลทหารกับพลเรือน ในยุค คสช. รวมทั้งปมสิทธิฯ ชายแดนภาคใต้  การค้ามนุษย์และการปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจา 
 
11 พ.ค. 2559 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) แจ้งว่า  สหประชาชาติจะมีการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตามกระบวนการที่เรียกว่า Universal Periodic Review (UPR) โดยคณะทำงานของ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) ที่สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ระหว่างเวลา 9.00 – 12.30 น. ตามเวลาที่นครเจนีวา (ประมาณเวลา 14.00 – 17.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย)
กสม. ระบุว่า การพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกระบวนการ UPR นี้เป็นกระบวนการที่เริ่มดำเนินการในปี 2551 เพื่อเป็นกลไกในการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ทุกประเทศเป็นระยะๆอย่างสม่ำเสมอโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกระบวนการ UPR จะดำเนินการเป็นรอบๆ ละประมาณ 4 ปีครึ่ง โดยแต่ละปี จะมีการทยอยพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกสหประชาชาติปีละประมาณ 40 ประเทศไปจนครบประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ
ประเทศไทยได้เข้าสู่การพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกระบวนการ UPR ครั้งนี้เป็นรอบที่ 2 โดยประเทศไทยได้เข้าสู่การพิจารณารอบแรกเมื่อปี 2554  ในการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยครั้งนี้ ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะใช้ข้อมูลจากเอกสาร 3 ฉบับ ได้แก่ (1) รายงานของรัฐบาลไทย (2) รายงานของหน่วยงานต่างๆ ในสหประชาชาติ และ (3) รายงานของ ภาคประชาสังคมที่เรียกว่า Stakeholders’ report ซึ่งรายงานฉบับที่ 3 นี้เป็นรายงานที่สรุปประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนจากข้อมูลที่ กสม. และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เสนอไปยังสหประชาชาติ 
ในระหว่างการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในเรื่องต่างๆ ต่อประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยสามารถพิจารณาได้ว่าจะรับข้อเสนอแนะในเรื่องใดไปดำเนินการ นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจให้คำมั่นเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเรื่องใดเพิ่มเติมโดยสมัครใจด้วยก็ได้ (Voluntary pledges)โดยประเทศไทยจะต้องแจ้งผลการรับข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทราบในช่วงปลายปี 2559 (ประมาณเดือนกันยายน – ตุลาคม)

ประเด็นสำคัญในการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

กสม. ระบุว่า ในส่วนของรัฐบาลไทย คาดว่าจะนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ตามที่ปรากฏในรายงานที่ส่งให้สหประชาชาติ เช่น การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) และการจัดหาที่ดินทำกินแก่ประชาชน การออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมละคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญๆ เช่น พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558  และ พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558  การให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเร่งรัด การดำเนินคดีการค้ามนุษย์ และการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย นอกจากนี้ รายงานของรัฐได้กล่าวถึงมาตรการในการคุ้มครองกลุ่มเปราะบางต่างๆ (vulnerable groups) ทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้แสวงหาที่พักพิง ในส่วนของสิทธิพลเมือง รายงานได้กล่าวถึงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างเหมาะสม การส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมโดยการ ให้ความช่วยเหลือ   ด้านกฎหมายแก่ประชาชน การพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา การดูแลการบังคับใช้กฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment – CAT) และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance – CED) และการปรับปรุงกฎหมายราชทัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
สำหรับประเด็นที่คาดว่าประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะสอบถามประเทศไทย ซึ่งหลายเรื่องเป็นประเด็นที่ปรากฏในรายงานของภาคประชาสังคมด้วย น่าจะรวมถึงกรอบเวลาในการให้สัตยาบันอนุสัญญา CED  การยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือน รวมถึงการประกันสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม การยกเลิกโทษประหารชีวิต การคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน การแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา CAT และเข้าเป็นภาคีพิธีสารของอนุสัญญาฯ เพื่อป้องกันการทรมาน การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การส่งเสริมการอภิปรายแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ อย่างเปิดกว้าง การดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การแก้ไขปัญหาการทรมาน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้อห่วงกังวลต่อคำสั่ง คสช. ที่ 13/2559 เกี่ยวกับการเพิ่มอำนาจของทหารในการทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ

บทบาทของ กสม. ในกระบวนการ UPR

กสม. ได้มีการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยส่งให้สหประชาชาติ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสถานการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ตามที่สหประชาชาติกำหนด เพื่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights – OHCHR) นำไปสรุปประเด็นรวมกับประเด็นจากรายงานขององค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ไว้ในเอกสารฉบับที่ 3 หรือ Stakeholders’ report ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
ในรายงานของ กสม. ที่ส่งให้ประชาชาติ ได้นำเสนอประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ กสม. เห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศเนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับความยาวของรายงานที่สหประชาชาติกำหนดไว้ไม่เกิน 5 หน้า โดยประเด็นที่นำเสนอได้แก่ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง 2 ครั้งที่ผ่านมา (ในปี 2553 และ 2556-2557) ทั้งการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการดำเนินการของรัฐในการควบคุมการชุมนุม ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหลังจากที่ คสช. เข้าบริหารประเทศ (เช่น การเชิญบุคคลไปปรับทัศนคติ มาตรการที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การใช้ศาลทหารพิจารณาคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นพลเรือน) ปัญหาสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เช่น เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติที่มิชอบของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการจับกุม/คุมขังบุคคล และความล่าช้าในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรง) ปัญหาการค้ามนุษย์และการปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจา และปัญหาสิทธิชุมชนและสิทธิในการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับผลกระทบของโครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของคนในชุมชน
หลังจากการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในวันนี้และคณะทำงานของสหประชาชาติมีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยแล้ว กสม. ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะต้องมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะรวมทั้งติดตามผลการปฏิบัติดังกล่าว  โดยทำงานในลักษณะสร้างความเป็นหุ้นส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม ทั้งองค์กรเอกชน นักวิชาการ ชุมชน ผู้แทนสาขาอาชีพต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน เพื่อผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุผลตามข้อเสนอแนะ ในการนี้  กสม. จะได้มีการหารือกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเกี่ยวกับการพิจารณารับข้อเสนอแนะต่างๆ มาดำเนินการ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยรับไว้ โดย กสม. แต่ละท่านจะติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในประเด็นสิทธิเฉพาะด้านที่แต่ละท่านรับผิดชอบอยู่โดยทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานของรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมต่อไป 

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top