0

สำรวจความเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Posted: 21 May 2016 04:03 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

บทความต่อไปนี้ถือว่าเป็นภาค 2  ต่อจากบทความของผู้เขียนเองเมื่อปี 2014 ที่ชื่อว่า “ไทยเป็นเผด็จการ อันดับที่เท่าไรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อันได้รับแรงบันดาลใจมาจาก การที่ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ถึงแม้จะผ่านการเรียนเรื่องอุษาคเนย์ (ชื่อของภูมิภาคนี้ที่ตั้งโดยคุณไมเคิล ไรท์) มาแล้ว ในโรงเรียนอย่างละเอียด แต่เมื่อก้าวเข้ามาในระดับอุดมศึกษากลับมีความรู้หรือความทรงจำเกี่ยวกับภูมิภาคนี้น้อยมาก จนหลายคนยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ชื่ออะไร ดังนั้น จึงไม่ต้องพูดถึงมิติทางการเมืองหรือเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นไป ไม่ว่าสถาบันบริหาร รัฐธรรมนูญ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศนั้น ๆ  ดังเช่นที่ผู้เขียนได้ยินท่านผู้รู้คนหนึ่งพูดเป็นทำนองว่า “ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแต่เราประเทศเดียวที่เป็นเผด็จการ ประเทศอื่นเขาไปถึงไหนแล้ว![1]         
  
บทความนี้ เป็นการสำรวจความเป็นประชาธิปไตยของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เกณฑ์เดิมจากบทความที่แล้ว นั่นคือ ดัชนีการวัดความเป็นประชาธิปไตยในปี 2015 ขององค์กร  Economist Intelligence Unit [2] โดยทำการสำรวจประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ถึง 167 ประเทศ  บทความขอแบ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น 3  กลุ่ม คือ กลุ่มประชาธิปไตย ติดลมบน  คงเส้นคงวา และขาลง เนื่องด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองของแต่ละประเทศมีความหลากหลายและซับซ้อน ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างสำคัญ ๆ ทางการเมือง อันสอดคล้องกับคะแนน และอันดับของประเทศนั้น ๆ  ดังต่อไปนี้

    
 ติดลมบน

สำหรับ อินโดนีเซีย นั้น เริ่มต้นพัฒนาการเป็นประชาธิปไตย (Reformasi) ภายหลังจากซูฮาร์โตพ้นจากเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 1998  จนปัจจุบันอดีตอาณานิคมของดัตช์แห่งนี้ มีดัชนีประชาธิปไตยอยู่ในอันดับที่ 49 สูงขึ้นจากเดิม คือ อันดับ 53 อันมีปัจจัยสำคัญมาจากการที่ นายโจโค วิโดโด ได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2014 แม้ว่าเขาจะไม่ได้อยู่ในแวดวงชนชั้นนำก็ตาม โดยเริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ จนได้เป็นผู้ว่าการนครจาการ์ตา เหตุการณ์อื่นที่ทำให้อินโดนีเซียได้คะแนนมาหลายแต้ม คือ เมื่อปี 2015  นายวิโดโด แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพสูงสุด แทนที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ตามธรรมเนียมของกองทัพอินโดนีเซีย ที่ให้ผู้นำเหล่าทัพต่าง ๆ ผลัดกันขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ โดยการตัดสินใจของนายวิโดโด ไม่ได้นำไปสู่แรงต้าน หรือผลกระทบทางการเมืองอย่างชัดเจน อันสะท้อนว่ากองทัพได้อยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน อันเป็นไปตามครรโลงของประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม นายวิโดโดยังต้องพยายามแก้ตัวจากการไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ และการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งฝังลึกในสังคมอินโดนีเซีย หรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม ที่มักเปิดช่องให้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเข้าคุกคามสิทธิและเสรีภาพของชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ นายวิโดโดต้องเผชิญกับการแทรกแซงการบริหารประเทศจากกลุ่มอำนาจที่หนุนเขาขึ้นมา คือ พรรคการเมืองประชาธิปไตยอินโดนีเซียเพื่อการต่อสู้ และมีประธานพรรค คือ อดีตประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี นั่นเอง[3]  อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีคนปัจจุบันยังได้รับข่าวดี คือ พรรคโกลคาร์ ซึ่งเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ได้ประกาศสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ อันจะทำให้การออกกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น 
ส่วน พม่า  ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 114 โดยขยับขึ้นจากอันดับเดิมเมื่อหลายปีก่อนอย่างน่าตกใจ คือ 155   การพุ่งทะยานขึ้นเช่นนี้ เกิดจากการที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งได้เข้ามาปกครองประเทศเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 1962  พร้อมกับบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น การปลดปล่อยนักโทษการเมือง และเสรีภาพสื่อมวลชนที่เปิดกว้างกว่าเดิม อนึ่ง พม่าจะมีอันดับของประชาธิปไตยสูงขึ้นไปอีกในอนาคต หรือคงที่ หรือว่าอาจจะลดลงนั้น ต้องรอดูว่ากองทัพจะจริงใจมากน้อยเพียงใดในการผลักดันให้ประเทศเป็นเสรีนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเพียงต้องการให้เป็นประชาธิปไตยในฐานะภาพจำแลงของเผด็จการ โดยอาศัยภาพของนางอองซาน ซูจี มาบังหน้า และพม่ากลับมาตกอยู่ในการปกครองค่อนไปทาง duumvirate คือ คน 2 คน มีอำนาจปกครองร่วมกัน โดยนางอองซาน ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ เป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงเหนือนายถิ่น จอ ซึ่งทำให้เป็นการปกครองที่ขาดระบบชัดเจน ไม่เป็นระบบ เพราะความด้อยอำนาจและศักดิ์ศรีของประมุขสูงสุดของรัฐ  อีกทั้งทางพรรคแกนนำรัฐบาลยังไม่สามารถหาคนรุ่นใหม่มาเป็นผู้นำ ซึ่งมีบารมีแทนนางอองซาน แม้แต่ตัวประธานาธิบดี คนปัจจุบัน คือ นายถิ่น จอ ก็ตาม  จึงเป็นไปได้ว่าหากรัฐบาลไม่สามารถปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองในขณะนี้ได้ ในการเมืองภายหลังยุคนางอองซาน ซึ่งสูงอายุแล้ว พม่าก็จะได้ผู้นำที่อ่อนแอและตกเป็นหุ่นเชิดของอำนาจแฝงอย่างเช่นกองทัพ ถึงแม้พม่าจะก้าวเข้าสู่ระบบหลายพรรคการเมืองก็ตาม        
ปัจจัยสำคัญที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ความทะเยอทะยานของนางอองซานเอง จนกลายสภาพเป็นนักการเมือง ที่คำนึงถึงคะแนนความนิยม ไม่ใช่วีรสตรีที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเหมือนแต่ก่อน ภาพนี้ยังถูกตอกย้ำเมื่อเธอปฏิเสธไม่ยอมกล่าวถึงการที่ชาวโรฮิงญาถูกสังหารหมู่และต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงและการกีดกันในทุกรูปแบบจากชาวพุทธหัวรุนแรง อันเป็นไปได้ว่ารัฐบาลของเธอก็จะปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา  อย่างไม่น่าแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนมากนัก เพราะไม่ต้องการเสียคะแนนความนิยมจากประชาชน  นางซูจียังต้องพบกับปัญหาที่รัฐบาลทหารและของนายพลเต็ง เส่ง ประสบมา คือ ความล่าช้าในการเจรจาทางการเมืองกับชนกลุ่มน้อยเพื่อนำประเทศเข้าสู่ระบอบสหพันธรัฐอย่างแท้จริง       
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่า ประเทศซึ่งประสบความสำเร็จในเรื่องประชาธิปไตย หากเราใช้ดัชนีความเป็นประชาธิปไตยมาวัดกลับเป็นประเทศเล็ก ๆ ซึ่งยากจนที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมอาเซียน คือ ติมอร์เลสเต ที่อยู่ในอันดับ 44 (ตกลงจากเดิม 1 อันดับ)  แม้ว่ายังคงถูกโจมตีในเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐก็ตาม แต่ติมอร์เลสเตได้รับการยกย่องเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2012 อันใสสะอาด (ติมอร์เลสเตมีการปกครองแบบรัฐสภาอันมีประธานาธิบดีเป็นประมุข)  เช่นเดียวกับการเปิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองแก่ประชาชนและสื่อมวลชน แม้ว่าจะมีกฎหมายในการจำกัดสิ่งเหล่านั้นอยู่บ้าง

คงเส้นคงวา

ประเทศในกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นเผด็จการแบบมั่นคง หรือคงเส้นคงวาจนถึงปัจจุบัน มีอยู่ 5 ประเทศ ตัวอย่างแรกที่จะขอกล่าวถึง คือ ประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช (อย่างเป็นทางการ) อย่างบรูไนจากมุมมองของตะวันตกนั้น ถือได้ว่ามีรัฐบาลที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทุกด้าน  เป็นที่น่าสนใจว่าบรูไนเคยมีระบบหลายพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองเหล่านั้นถูกยุติบทบาทภายหลังจาก สุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดีนที่ 3 ประกาศกฎอัยการศึกในการปกครองประเทศ ตั้งแต่ปี 1962  จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังยุบพรรคการเมืองอย่าง Brunei People's Party ซึ่งมีอุดมการณ์ค่อนไปทางซ้าย  นอกจากนี้ชีวิตอื้อฉาวของพระเชษฐาของสุลต่านองค์ปัจจุบัน คือ เจ้าชายเจฟริ โบลเกียห์ ไม่ว่าเรื่องส่วนตัวและการเกี่ยวข้องกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงในโครงการของรัฐ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความฉ้อฉลของชนชั้นนำ บรูไน จึงเป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงประกาศใช้กฎหมายชารีอะฮ์ ก็เพื่อกลบเกลื่อนภาพเช่นนี้ เช่นเดียวกับต้องการให้กฎหมายดังกล่าวช่วยเหลือให้รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาสังคมอันเสื่อมโทรมและเศรษฐกิจได้ถนัดมากขึ้น ความเป็นประชาธิปไตยของบรูไนจึงไม่น่าจะสู้ดีนักไม่ว่าปีนี้หรือในอนาคต  ถึงแม้ประเทศนี้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อของการสำรวจจากองค์กร  Economist Intelligence Unit อีกเช่นเคย
ต่อมาได้แก่ประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองเดียว หรือระบบที่มีพรรคถูกกฎหมายเพียงพรรคเดียว อันได้แก่ เวียดนาม และลาว ซึ่งมีการผลัดใบหรือได้ผู้นำใหม่ในเวลาไล่เลี่ยกันของปีนี้ โดยภาพพจน์ของผู้นำสะท้อนถึงการปกครองแบบคณาธิปไตยที่แข่งขันแย่งอำนาจ โดยอาศัยระบบพวกพ้องในพรรคมากกว่าความสามารถและการแข่งขันเชิงนโยบายดังประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม เช่นเดียวกับข่าวของการฉ้อราษฎร์บังหลวงของสมาชิกพรรคและข้าราชการซึ่งมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ และรัฐบาลยังเน้นการปราบปรามผู้มีความคิดเห็นต่างโดยเฉพาะผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์  ถึงแม้ทั้ง  2 ประเทศ มีการเลือกตั้งสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปีนี้ ภายใต้ชื่อ สมัชชาแห่งชาติ (National assembly) เหมือนกัน  แต่เป็นการเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้สมัคร ภายใต้อาณัติของพรรคคอมมิวนิสต์ อีกทั้งผู้สมัครรายอื่นไม่สังกัดพรรคใด และสมัชชาแห่งชาติเป็นเพียงสภาตรายาง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารประเทศอย่างแท้จริง ดังนั้นทั้งเวียดนามและลาวจึงอยู่ในอันดับล่าง ๆ มาอย่างยาวนาน คือ ในอันดับที่ 128  และอันดับที่ 155 ถึงแม้อันดับจะสูงกว่าเมื่อก่อน คือ อันดับ144 และ 156 ตามลำดับ แต่ผู้เขียนคิดว่าเพราะประเทศอื่นที่อยู่ในอันดับใกล้เคียงนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยลดลงเสียมากกว่า เพราะความผันผวนทางการเมือง ไม่ว่า ซีเรีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง  สาธารณรัฐคองโก ดังนั้น แนวโน้มของทั้งเวียดนามและลาวในการเป็นประชาธิปไตยจึงมีน้อยมาก[4] เสียยิ่งกว่ากัมพูชา เพราะพรรคคอมมิวนิสต์นั้นปกครองประเทศแบบคณาธิปไตย ที่อิงกับกลุ่มและทำงานกันเป็นระบบมากกว่าอิงอาศัยกับตัวบุคคลแบบฮุนเซน
นอกจากนี้ ยังได้แก่ประเทศเผด็จการอำนาจนิยมที่รัฐบาลมีเสถียรภาพน้อยกว่า 2 ประเทศคอมมิวนิสต์ข้างบน นั่นคือ  มาเลเซีย และสิงคโปร์ อันมีการปกครองแบบกึ่งพรรคการเมืองเดียว อันหมายความว่า มีการแข่งขันเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมืองเหมือนกับประชาธิปไตย แต่พรรคการเมืองเดียวมักได้จัดตั้งรัฐบาลอยู่เสมอ กระนั้นทั้ง 2 ประเทศ ยังมีโอกาสในการพัฒนาทางประชาธิปไตยสูงกว่าเวียดนามและลาว สำหรับ สิงคโปร์ นั้น อยู่ในอันดับที่  74 (เดิม อันดับ 81)  ด้วยลักษณะสำคัญที่ทำให้มีคะแนนสูง คือ ความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ และนโยบายการยอมรับความหลากหลายของชนชาติต่าง ๆ กระนั้นสิงคโปร์ก็ยังเป็นเผด็จการที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อการผูกขาดอำนาจของรัฐบาล  เหตุการณ์เล็ก ๆ ที่สั่นสะเทือนการเมืองของสิงคโปร์ ก็คือ การที่นางสาวลี เวย หลิง น้องสาวของนายลี เซียนลุง ได้เขียนเฟซบุ๊คประณามพี่ชายของเธอว่าใช้งานระลึกถึงการถึงแก่อสัญกรรมของนายลี กวนยิว เพื่อสร้างอำนาจให้กับตน จนกลายเป็นการเมืองแบบราชวงศ์  มุมมองเช่นนี้สามารถสะท้อนความรู้สึกของคนสิงคโปร์ต่อการเมืองของตนได้อย่างดี เช่นเดียวกับคลิปของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ได้ด่าทอนายลี กวนยิว อย่างดุเดือด  อย่างไรก็ตามนายลี เซียงลุง อาจไม่สามารถผลักดันให้ลูกตัวเอง ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนในอนาคตอันใกล้เหมือนที่บิดาได้ทำเช่นนี้กับตน จนมีผู้ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สิงคโปร์จะมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีเชื้อสายจีนในอนาคต และหากเป็นเช่นนั้นสิงคโปร์อาจก้าวเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  แต่ก็ต้องพิจารณาถึงเกณฑ์ด้านอื่น เช่น รัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น หรือพรรคฝ่ายค้านสามารถเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือไม่ ไม่ใช่แค่ให้พรรคของนายลี คือ People’s  Action Party ครองอำนาจเพียงฝ่ายเดียว
ส่วน มาเลเซีย อยู่ในอันดับที่  68 (เดิม อันดับ 64)  โดยตัวแปรซึ่งน่าจะทำให้อันดับประชาธิปไตยของประเทศนี้ตกลงในปี 2016 คือ เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวการฉ้อราษฎร์บังหลวงของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายนาจิบ ราซะก์ จากกรณีการขาดทุนของกองทุนของรัฐ ชื่อว่า วันเอ็มดีบี และเงินบริจาคที่อยู่ในบัญชีส่วนตัวของของนายนาจิบ อันนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ ของชาวมาเลเซีย ถึงแม้ทางรัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะยืนยันว่าเงินในบัญชีของนายกรัฐมนตรีเป็นเงินบริจาคจากตนจริง แต่แรงกดดันทางการเมืองต่อเรื่องกองทุนยังคงอยู่ การที่พรรคอัมโนพร้อมพันธมิตรยังให้การสนับสนุนนายนาจิบอย่างเหนียวแน่น ย่อมทำให้การเมืองมาเลเซียเป็นเผด็จการมากขึ้นไปอีก  นอกจากนี้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของมาเลเซีย ยังคงนำไปสู่การประณามจากนานาชาติ ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยปัจจุบันเหยื่อคนดังก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์  โมฮัมหมัด วัย 90 ปีซึ่งหันมาโจมตีและนำมวลชนในการประท้วงนายนาจิบนั้นเอง โดยนายมหาเธร์นอกจากจะถูกลดสิทธิประโยชน์บางประการที่อดีตนายกรัฐมนตรีพึงได้รับ และยังถูกสอบสวนในข้อหายุยง หรือปลุกปั่นให้มีการโค่นล้มรัฐบาลอีกด้วย

      
ขาลง

ส่วน ฟิลิปปินส์ ถูกจัดว่าเป็นกลุ่ม (อาจจะ) ขาลง เพราะผู้กำลังจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 16 ของฟิลิปปินส์ ก็คือ นายรอดริโก ดูเตอร์เต นายกเทศมนตรีซึ่งดุดัน ปากร้าย และที่สำคัญยังมีนโยบายหาเสียงอันขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนกับประชาธิปไตย ดังบทความที่แล้วของผู้เขียนนั้นเอง  ตัวอย่างหนึ่งซึ่งกำลังรอการพิสูจน์ว่า นายดูเตอร์เต จะสามารถทำตามที่รณรงค์หาเสียงได้หรือไม่ คือ การสัญญาว่าจะปล่อยนางกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย ประธานาธิบดีหญิงคนที่ 2 ของฟิลิปปินส์ (ไม่ใช่คนแรกดังบทความที่แล้ว เพราะคนแรกคือ นางคอราซอน อาคีโน ดังนั้นผู้เขียนต้องขออภัยอย่างยิ่ง)  ออกจากการคุมขังในโรงพยาบาลที่กรุงมะนิลา ดังนั้นในอนาคต ฟิลิปปินส์อาจมีอันดับของประชาธิปไตยลดลง จากอันดับปัจจุบันคือ 54 ในปี 2015 (จากเดิมอันดับ 69)  หากนายดูเตอร์เตทำตามสัญญานี้หรืออื่น ๆ ไว้ ไม่ว่ามากหรือน้อย หรือในอนาคตเขาอาจจะเป็นแค่นักการเมืองระดับอาร์โรโย และเอสตราดา คือ ฉ้อฉลและไร้ประสิทธิภาพ หรือเขาอาจจะกลายเป็นประธานาธิบดีที่เก่งและสามารถประนีประนอมนโยบายให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ก็อาจทำให้ฟิลิปปินส์มีอันดับสูงขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ ต้องติดตามดูต่อไป อนึ่ง กรณีนายเฟอร์ดินานด์ มาคอสจูเนียร์นั้น อาจจะแพ้การเลือกตั้งรองประธานาธิบดีซึ่งกำลังมีปัญหากันในเรื่องนับคะแนนอยู่ขณะนี้จึงอาจเป็นตัวแปรในระยะยาว
สำหรับ  กัมพูชา มีลักษณะค่อนไปทางมาเลเซียและสิงคโปร์ คือ ก้าวเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองเดียวกึ่งผูกขาด จากเดิมที่เคยเป็นระบบ 2 พรรคการเมือง ในช่วงเวลาสั้น ๆ  นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 มา โดยนายฮุนเซนได้รวบอำนาจและใช้กฎหมายเล่นงานบุคคลสำคัญหลายรายของพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคสงเคราะห์ชาติ ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้พรรคของเขา คือ พรรคประชาชนกัมพูชา อาจผูกขาดอำนาจอีกยาวนาน  บทความนี้จึงจัดให้ประชาธิปไตยของกัมพูชาอยู่ในช่วงขาลง ตอกย้ำโดยระบบอุปถัมภ์ และการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่หยั่งรากลึงลงไปในสังคมกัมพูชา ปัจจุบันกัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 113 (จากเดิม 110)  และไม่มีท่าทีว่าจะอยู่ในอันดับที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ เว้นเสียว่านายฮุนเซนจะเสียชีวิต และทายาทไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอจะสืบทอดอำนาจ หรือเกิดกัมพูชาสปริงหรือการประท้วงความยิ่งใหญ่จากชาวกัมพูชา อันเนื่องมาจากสำนึกในประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ผ่านสื่อทางสังคมออนไลน์ หรือที่น่าเป็นไปได้มากกว่า คือ เพราะรัฐบาลกัมพูชาไม่สามารถปัญหาเศรษฐกิจร้ายแรงอย่างเช่นที่ซูฮาร์โตของอินโดนีเซียเคยพบมาก่อน เหตุการณ์เหล่านี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางการเมืองครั้งใหญ่ของกัมพูชา
ส่วน ไทย เริ่มต้นการพัฒนาเป็นประชาธิปไตยในช่วง พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ปลายทศวรรษที่ 80 ภายหลังการทำรัฐประหารในปี 1991 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬอีก 1 ปีต่อมา ได้นำไทยไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอันยาวนาน จนถึงการทำรัฐประหารในปี 2006   ในช่วงปี 2006-2014 การเมืองไทยมีโฉมหน้าที่ซับซ้อน นั่นคือ เต็มไปด้วยความขัดแย้งในการตีความระบอบประชาธิปไตยในบรรดาหมู่คนไทย (เสื้อแดงและเสื้อเหลือง) อันนำไปสู่การทำรัฐประหารในปี 2014 ซึ่งเป็นแผนการที่วางไว้ล่วงหน้าโดยชนชั้นนำ โดยเฉพาะกองทัพ อันดับของประชาธิปไตยของไทยจึงล่วงลงอย่างมากคืออยู่ในที่ 98 จากเดิม 58    ซึ่งเป็นอันดับต่ำยิ่งกว่าสิงคโปร์เสียอีก และมีท่าทีว่าจะลดลงเรื่อย ๆ อันมีปัจจัยมาจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ผ่านกฎหมายต่าง ๆ เช่น มาตรา 44  กฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ที่รัฐนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพียงเพื่อความมั่นคงของรัฐบาล สภานิติบัญญัติยังได้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ และได้ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจากบทลงโทษ อันเป็นการโหมโรงไปสู่กฎหมายอื่นที่เผด็จการพอ ๆ กัน เช่นเดียวกับการเลือกตั้งและรัฐบาลในอนาคตที่จะเป็นตรายางให้กับกลุ่มอำนาจแฝง อย่างเช่นวุฒิสภา และคสช. ระบบพรรคการเมืองของไทยจึงเป็นแบบหลายพรรคที่ไร้ค่า นั่นคือ หลายพรรคแข่งขันกันแต่รัฐบาลที่จัดตั้งไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง รวมไปถึงการที่ไทยออกนโยบายอันคล้ายคลึงกับดวิฟุงสี (dwifungsi) ของอินโดนีเซีย ในยุคของซูฮาร์โต นั่นคือให้กองทัพเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมือง เศรษฐกิจและสังคม บนข้ออ้างของความมั่นคง  ผสมกับการโฆษณาชวนเชื่ออย่างต่อเนื่องของสื่อกระแสหลัก ที่จะนำจิตสำนึกของคนไทยไปสู่การเป็นคนเกาหลีเหนือ หรือไม่ก็คนเยอรมันยุคนาซี

.ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อยู่ในภาวะที่บกพร่อง หรือขาดแคลนเสียเป็นส่วนใหญ่ (มีติดลมเพียงแค่ 3  ประเทศ)  อันเกิดจากปัจจัยมากมาย ไม่ว่าประวัติศาสตร์หรือปูมหลังของประเทศนั้น วัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งทำให้ประชาชนยึดติดตัวบุคคลและฝักใฝ่เผด็จการ การขาดพัฒนาการของสถาบันทางการเมืองของประชาธิปไตย ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองและการผูกขาดอำนาจของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง  การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำเก่า ดังเช่นกองทัพ ตุลาการ ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งแก้ไขไม่สำเร็จทำให้องค์กรอื่นเข้ามาแทรกแซง  ภัยคุกคามเช่นการก่อการร้ายทำให้รัฐบาลนำมาใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการออกกฎหมายอันเข้มงวด หรือยังนำไปสู่การมีอำนาจของนักการเมืองที่มีนโยบายแบบขวาหรือซ้ายสุดโต่ง ฯลฯ  
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญอยู่ไม่น้อยที่เป็นตัวส่งเสริมเผด็จการคือ ตัวอาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นเอง ถึงแม้อาเซียนจะมีกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ที่มีหลักการโดยย่อ ๆ ว่าช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในบรรดาหมู่สมาชิก แต่เนื่องจากความเกรงอกเกรงใจต่อกัน หรือการคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ รวมไปถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  (โดยอ้างการเคารพต่อความแตกต่างของประเทศสมาชิก) กฎบัตรดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับเหมือนกับสหภาพยุโรป อันเป็นสาเหตุให้ตัวสมาคมนั้นปราศจากบทบาทอย่างแน่ชัด ในกรณีที่ประเทศสมาชิกมีการล่วงละเมิดประชาธิปไตย ดังเช่นการทำรัฐประหารของไทย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2014 ที่อาเซียนแสดงการนิ่งเฉยไม่ได้แสดงการประณามหรือกดดันไทยเหมือนกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป อันส่งผลให้สื่อซึ่งรับใช้กองทัพนำเอาอาเซียนมาสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาล โดยอ้างว่าอาเซียนเป็นมิตรที่ดีของไทย รองจากจีน  (ถึงแม้จะมีการประณามเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยจากบางประเทศในภายหลังก็แต่ก็ถือว่าไม่มีน้ำหนักมากนัก)    
 นอกจากนี้ การสร้างความรู้สึกเป็นมิตรระหว่างประเทศสมาชิกนั้น ย่อมส่งผลถึงสื่อมวลชนในการนำเสนอภาพพจน์ที่ดีต่อกันไม่ได้ อันจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถมองระบอบเผด็จการของเพื่อนบ้านอย่างพินิจพิเคราะห์ หรือการที่หลายประเทศซึ่งเป็นเผด็จการนั้นได้คุกคามเสรีภาพของสื่อต่างประเทศ โดยการกำหนดวาระสำหรับนักข่าวต่างประเทศที่มาเยือนประเทศตนไว้เรียบร้อยแล้วว่า ต้องนำเสนอข่าวเกี่ยวกับรัฐบาลในด้านดีเท่านั้น ดังเช่นที่ผู้เขียนได้ยินผู้สื่อข่าวอาวุโสท่านหนึ่งซึ่งมักเป็นแขกรับเชิญในรายการเกี่ยวกับอาเซียน มักนำเสนอแง่มุมในด้านดีเกี่ยวกับลาวและเวียดนามอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจซึ่งกำลังเจริญเติบโตเร็วและต่อเนื่อง ทั้งที่สาเหตุสำคัญก็เพราะจากการลงทุนและการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากต่างชาติมากกว่าความสามารถของรัฐบาลเอง[5]นอกจากนี้เศรษฐกิจของทั้งลาวและเวียดนามยังมีปัญหาความเจริญที่มักกระจุกตัวอยู่ที่คนรวยมากกว่า เช่นเดียวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเจ้าหน้าที่พรรคซึ่งมักร่วมกับนายทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเข้ามากอบโกยทรัพยากรภายในประเทศ โดยไม่คำนึงถึงเสียงจากประชาชน (เป็นมุมมองที่ผู้เขียนได้รับจากการสัมภาษณ์ประชาชนประเทศนั้น ๆ ซึ่งเดินทางมาศึกษาในเมืองไทย)  กระนั้น คนต่างประเทศจำนวนมาก (โดยเฉพาะไทย) ที่ไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงเช่นนี้คงยกย่องและให้การสนับสนุนเผด็จการ เพราะหลงคิดว่าเผด็จการในประเทศของตนก็คงจะดีเหมือนกับประเทศดังกล่าว

0000

เชิงอรรถ

 [1]  นี่อาจไม่ได้หมายความว่าคนไทยนั้นมีความบกพร่องทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายความว่ามโนทัศน์หรือสำนึกการเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคนไทยเป็นสิ่งที่ถูกยัดเหยียดหรือกำหนดจากข้างบน ด้วยการประโคมข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ โดยรัฐบาลและเอกชนที่ได้รับผลประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน ในขณะที่ชีวิตของคนไทยทั่วไปกลับได้รับผลกระทบไม่มากเท่าที่โฆษณากันเท่าไรนัก ขณะขับรถไปทำงานตอน 7 โมง ผู้เขียนมักฟังรายการเกี่ยวกับอาเซียนและเพลงสดุดีอาเซียนซึ่งเป็นเพลงภาษาอังกฤษและแปลเป็นภาษาไทย พร้อมทำนองไปทางป็อบผสมแจ๊ซบิกแบนด์ แบบชนชั้นกลาง ทำให้นึกในใจว่าจะมีคนไทยโดยเฉพาะชาวรากหญ้ามากน้อยแค่ไหนที่จะ รู้สึก “อิน” หรือซาบซึ้งกับความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รวมถึงการที่รายการพยายามโฆษณาชวนเชื่อถึงลัทธิภูมิภาคนิยม จึงไม่มีทางที่มวลชนซึ่งถูกรัฐบาลปลูกฝังแต่ลัทธิชาตินิยมแบบไทย ๆ จะชื่นชอบเท่าไรนัก แม้นักวิชาการจำนวนไม่น้อยได้พยายามผลักดันหรือส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับอุษาคเนย์ผ่านการผลิตงานวิจัย ตำรา หรือเสวนา แต่ก็ยังจำกัดอยู่แต่ในแวดวงแคบ ๆ ทั้งนี้ยังไม่ต้องนับมิติทางเรื่องการเมืองของประเทศต่าง ๆ  ในอุษาคเนย์ ซึ่งยิ่งห่างจากความรู้สึกของคนไทย ยกเว้นผู้อยู่ในแวดวงรัฐศาสตร์หรือสาขาวิชาภูมิภาคศึกษา เป็นต้น หรืออย่างมากที่สุด สำหรับกลุ่มคนที่ไม่ชอบรัฐประหารก็อาจจะสนใจเพียงบางประเทศ อย่างเช่น พม่า ซึ่งมีพัฒนาการสวนทิศทางกับไทย 
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Economist_Intelligence_Unit การสำรวจวัดดัชนีความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ในโลก โดยผู้สำรวจได้จัดอันดับของ 167 ประเทศ ผ่านคะแนนจากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมไปถึงทัศนคติของประชาชนต่อการเมืองของประเทศตน อันตั้งอยู่บนเกณฑ์ของความเป็นประชาธิปไตยดังต่อไปนี้
1. กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุลักษณ์
 ดังคำถาม เช่น การเลือกตั้งนั้นเสรีและยุติธรรมหรือไม่ ประชาชนที่อายุตามเกณฑ์ทุกคนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ พรรคการเมืองต่าง ๆ มีเสรีภาพในการรณรงค์หาเสียงหรือไม่ พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ฯลฯ
2.บทบาทและหน้าที่ของรัฐบาล
ดังคำแทน เช่น ตัวแทนที่ได้รับการเลือกจากประชาชนสามารถกำหนดนโยบายของรัฐได้หรือไม่  มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลหรือไม่ มีรัฐธรรมนูญที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพหรือไม่ รัฐบาลนั้นปลอดอิทธิพลจากกองทัพหรือไม่ รัฐบาลมีอำนาจปกครองครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศหรือไม่ ฯลฯ
3.กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ดังคำถามเช่น จำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งระดับประเทศมีเท่าใด   เชื้อชาติ กลุ่มทางสังคม รวมไปถึงผู้นับถือศาสนาซึ่งถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยมีอิสระปกครองตัวเองหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองมากน้อยเพียงใด   ความพร้อม (เสรีภาพ) ของประชาชนในการเข้าร่วมชุมนุมหรือประท้วงภายใต้กฎหมายมีเพียงใด  ฯลฯ
4.วัฒนธรรมทางการเมือง
ดังคำถามเช่น มติร่วมกันของสังคมที่เพียงพอและสอดคล้องกันในการสร้างประชาธิปไตยอันมีเสถียรภาพหรือไม่  ประชาชนมีความต้องการผู้นำที่เข้มแข็งจนสามารถละเลยรัฐสภาและการเลือกตั้งมากน้อยขนาดไหน  มีสัดส่วนของประชาชนที่ต้องการถูกปกครองโดยกองทัพมากน้อยเพียงใด ฯลฯ
5.สิทธิและเสรีภาพของพลเมือง
ดังคำถามเช่นมีเสรีภาพในการแสดงออกและการประท้วงที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่  ประชาชนมีเสรีภาพในการจัดตั้งองค์กรทางอาชีพและสหภาพแรงงานหรือไม่ สื่อด้านสิ่งพิมพ์และทางอิเล็คโทนิกมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่  มีการยอมรับความเท่าเทียมและความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ เพศหรือไม่  ฯลฯ
 [3] ในปี  2015 นางเมกาวาตี กดดันให้นายวิโดโด เสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจซึ่งมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเธอ ให้กับวุฒิสภา แต่ได้รับการคัดค้านจากคณะกรรมการกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวง จนทำให้กรมตำรวจและคณะกรรมการดังกล่าว เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ในที่สุดนายวิโดโดต้องถอนชื่อของนายตำรวจคนนี้ไป อันกลายเป็นภาพพจน์ของความเป็นผู้นำอ่อนแอ นอกจากนี้ นางเมกาวาติยังปรามนายวิโดโดในที่สาธารณะว่าอยู่ภายใต้อำนาจของเธอ เช่นเดียวกับการตำหนิเขาที่ยังไม่ดำเนินการการประหารชีวิตนักโทษคดีค้ายาเสพติดชาวต่างประเทศอย่างเด็ดขาด เพราะแรงต้านจากต่างประเทศ 
[4] เป็นเรื่องน่าสนใจว่าภายหลังจากค่ายคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายในช่วงปี 1989-1991 ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เหลือกลับสามารถปรับตัวเข้ากับระบบตลาดเสรีได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ลาว คิวบา และสามารถรอดพ้นจากคลื่นกระแสประชาธิปไตย จนดูมีความเข้มแข็งยิ่งกว่ายุคสงครามเย็นเสียอีก แม้แต่ประเทศที่ตกขอบกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างเกาหลีเหนือกลับใช้กลไกแบบลัทธิสตาลินเพื่อพยุงตัวเองไปได้
[5] ต่างชาติดังกล่าวได้แก่ตะวันตกอย่างเช่นสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งมักยกประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากดดัน แต่ก็ปรารถนาการร่วมมือทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลเผด็จการ เข้าทำนองมือถือสาก ปากถือศีล  รวมไปถึงจีนซึ่งเข้ามาลงทุนแข่งกับกลุ่มประเทศดังกล่าวเพื่อแย่งชิงอิทธิพลกัน ที่สำคัญจีนยังกลายเป็นแรงบันดาลใจหรือต้นแบบประเทศเผด็จการที่ประสบความสำเร็จให้กับหลายประเทศในอุษาคเนย์

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top