0
เชิญพลเมืองเรียนกฎหมายอาญา กรณี ‘จ้า’ แม่จ่านิวนับเป็น ‘ตัวการร่วม’ ม.112 หรือไม่?
Posted: 13 May 2016 06:07 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
‘จ้า’ กลายเป็นคำยอดนิยมภายในพริบตา พร้อมกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อกรณีดำเนินคดี ‘แม่จ่านิว’ หลังมีการออกหมายจับเธออย่างกระทันหันและมีการนำตัวไปฝากขังยังศาลทหาร จากนั้นไม่นาน ตำรวจออกมาแถลงข่าวว่าข้อความที่เป็นความผิด ‘ไม่ได้มีเพียงคำว่า จ้า’   มีมากกว่านั้นแต่บอกไม่ได้ว่าคืออะไร และบอกไม่ได้เช่นกันว่าเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร
ข้อหาของเธอคือ ร่วมกันกระทำความผิดตามมาตรา 112 และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิด เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)
อย่างไรก็ตาม ในเอกสารของพนักงานสอบสวน คำยืนยันของทนายความ และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้าสังเกตการณ์การสอบคำให้การผู้ต้องหาพบว่า มีการบรรยายความผิดของแม่จ่านิวเพียงการตอบรับข้อความของนายบุรินทร์คู่สนทนาว่า “จ้า” เพียงเท่านั้น
“บทสนทนาดังกล่าว นายบุรินทร์ฯ ซึ่งใช้งานบัญชี facebook ของ Burin Intin ได้ลงข้อความเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างชัดเจน โดยระหว่างที่พูดคุยกัน นายบุรินทร์ฯ ใช้คำว่า “อย่าว่าผมนะที่คุยแบบนี้” แต่ผู้ที่ใช้ชื่อว่า Nuengnuch Chankij ตอบกลับด้วยคำว่า “จ้า” ย่อมแสดงให้เห็นว่ายอมรับและเห็นด้วยกับการโพสต์ข้อความของนายบุรินทร์ฯ ดังนั้น พฤติกรณ์และการกระทำของผู้ใช้งานบัญชี facebook ชื่อ Nuengnuch Chankij จึงมีส่วนร่วมกับนายบุรินทร์ฯ ในการโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่มประมาท.......ซึ่งหากผุ้ที่ใช้ชื่อว่า Nuengnuch Chankij ไม่เห็นด้วยกับการโพสต์ข้อความของนายบุรินทร์ฯ ก็ย่อมต้องห้ามปรามหรือตำหนิ ต่อว่าให้หยุดกระทำการดังกล่าว แต่กลับตอบรับด้วยคำว่า “จ้า” ซึ่งหมายถึงการยอมรับ”
(ที่มา https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/06/janew_mom_chat_fb_112/)
คำถามสำคัญของเรื่องนี้คือ
1.หากข้อความมีเพียง “จ้า” ตำรวจฟ้องแม่จ่านิวในฐานะ “ตัวการร่วม” (ข้อหา ร่วมกันกระทำความผิด) ได้หรือไม่
2.เห็นการกระทำความผิดแล้วไม่ห้ามปราม ไม่ตำหนิ ถือเป็นการร่วมกระทำความผิดหรือไม่
3.เป็นไปได้หรือไม่ที่ข้อความที่กระทำผิดจะมีมากกว่าคำว่า “จ้า” ดังที่ตำรวจแถลง
4.การสนทนาในพื้นที่ส่วนตัวเป็นความผิดได้หรือไม่
0000000

‘ตัวการร่วม’ รับโทษเท่ากับผู้กระทำผิด

สาวตรีอธิบายว่าในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ระบุถึงตัวการร่วม คือ คนที่ร่วมกันกระทำความผิด ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตัวการร่วมจะได้รับโทษเท่ากับผู้กระทำความผิด บทบัญญัตินี้ใช้กับทุกฐานความผิด เพราะเป็นบททั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา

หลักเกณฑ์ของตัวการร่วม “ร่วมมือ+ร่วมใจ”

แล้วมีหลักเกณฑ์อย่างไรจึงจะถือว่าเป็นตัวการร่วม สาวตรีอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ต้องมีลักษณะของการร่วมมือและร่วมใจกันระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิด
‘ร่วมมือ’ ในทางกฎหมายมีการอธิบายว่าเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ มีทั้งกรณีที่ลงมือกระทำความผิดไปด้วยกันเลย เช่น คนหนึ่งตีหัว อีกคนหนึ่งตีขา ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายหรือฆ่าผู้อื่น และบางกรณีก็เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งการกระทำของตัวการร่วมบางคนอาจยังไม่ได้เป็นความผิดได้ในตัวเอง เช่น A ปีนเข้าไปลักทรัพย์ในบ้าน ในขณะที่ B ทำหน้าที่คอยยืนดูต้นทางให้ กรณีนี้แม้การกระทำของ B โดยลำพังจะยังเป็นความผิดไม่ได้ แต่เมื่อรวมกับการกระทำลักทรัพย์ของ A แล้ว B ก็เข้าข่ายเป็นตัวการร่วมได้ อย่างไรก็ตาม เพียงแต่พฤติการณ์การร่วมมืออย่างเดียว ยังสรุปไม่ได้ว่า ผู้นั้นเป็นตัวการร่วมตามกฎหมายแล้ว เพราะต้องปรากฏว่าเขา “ร่วมใจ” ด้วย
‘ร่วมใจ’ ในทางกฎหมายก็คือ บุคคลที่เป็นตัวการร่วมนั้น เมื่อรู้ว่าจะมีการไปกระทำความผิดเกิดขึ้น เขาก็ประสงค์จะร่วมกระทำไปด้วย หรือถือเอาการกระทำของผู้กระทำความผิดคนอื่น ๆ นั้นเป็นเสมือนการกระทำของตัวเขาเอง เช่น เมื่อ A บอก B ว่ากำลังจะไปฆ่าคนหรือลักทรัพย์ B ต้องการร่วมกระทำ แม้ A จะให้เขาทำแค่เพียงหน้าที่ดูต้นทางให้ก็ตาม แต่ในระหว่างที่  A เข้าไปลักทรัพย์นั้น B ก็ถือว่าการกระทำของ A ก็คือการกระทำของ B ด้วย กรณีแบบนี้จึงจะถือว่า B มีการร่วมใจ
การจะถือว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็น ‘ตัวการร่วม’ ตามมาตรา 83 ได้ จำเป็นต้องมีครบทั้ง 2 สิ่ง ถ้ามีแต่เพียงการร่วมมือ หรือร่วมลงมือกระทำ แต่ผู้นั้นไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ไปร่วมกระทำกับเขาอยู่นั้นเป็นความผิด กรณีนี้แบบนี้ย่อมถือว่ามีการ “ร่วมใจ” ไม่ได้ (เช่น A หลอก B ว่า จะไปเอาทรัพย์ซึ่งเป็นของ A คืนมา แต่จริง ๆ แล้วเป็นทรัพย์ของคนอื่น เป็นต้น)  หรือในทางกลับกัน แม้จะอยากร่วมกระทำความผิดด้วย แต่เมื่อถึงเวลามีการกระทำความผิดจริง ๆ กลับไม่ได้ร่วมลงมือทำอะไรกับคนอื่น ๆ เลย แบบนี้ย่อมขาดองค์ประกอบในส่วนของการ “ร่วมมือ” ไป ไม่ถือว่าเป็นตัวการร่วม  

ภาพจาก iLaw

เห็นการกระทำผิดแล้ว ‘ไม่ห้าม’ ไม่นับเป็นความผิด

คำถามว่าการไม่ห้ามปราม ตำหนิ ของแม่จ่านิวนั้นทำให้กลายเป็นความผิดฐานเป็นตัวการร่วมไหม
สาวตรีตอบว่า ในทางกฎหมายนั้นการจะตีความอะไรที่เป็นผลร้ายกับบุคคลให้เขาต้องรับโทษนั้นต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ในเรื่องผู้กระทำความผิดหลาย ๆ คนนี้ มีตำราคำอธิบายกฎหมายอาญาอยู่ฉบับหนึ่ง อธิบายว่า  การแค่เพียงเห็นบุคคลอื่นกำลังกระทำความผิดอยู่ แล้วไม่ได้เข้าขัดขวาง หรือนิ่งเฉย ยังถือไม่ได้ว่าเป็น ‘ผู้สนับสนุน’ ที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายอาญาแล้ว เพราะการจะเป็นผู้สนับสนุนได้นั้น นอกจากต้องมีเจตนาสนับสนุนการกระทำแล้ว ต้องมีพฤติการณ์ของการ “ให้ความสะดวก หรือช่วยเหลือ” การกระทำความผิดนั้นด้วย “เช่นนี้แล้วจะนับประสาอะไรกับการเป็น “ตัวการร่วม” ที่มีโทษหนักยิ่งกว่าการเป็นผู้สนับสนุน (ผู้สนับสนุนจะรับโทษเพียงแค่ 2 ใน 3 ของความผิดที่เกิดขึ้น)
“ดังนั้น เพียงแค่การรู้ว่ามันจะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแสดงอาการของการรับรู้รับทราบ กระทั่งอาจนิ่งเฉยหรือไม่แสดงอาการห้ามปราม โดยไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดว่าเขาร่วมใจ หรือร่วมลงมือทำอะไรด้วย ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบของการเป็นตัวการร่วมได้” สาวตรีกล่าว
สาวตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามกฎหมายอาญานั้น ‘การนิ่งเฉย’ อาจทำให้เป็นความผิดได้เช่นกัน คือ กรณีที่ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องป้องกันผลที่จะเกิดขึ้น แล้วไม่ยอมทำหน้าที่ เรียกว่ากระทำความผิดด้วยการ “งดเว้น” ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร สมมตินาง A คลอดลูกออกมา นาง A มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าต้องเลี้ยงดูทารกนั้นให้อยู่รอด ให้อาหาร ให้นม หากปรากฏว่าเธอไม่ให้ กลับนิ่งเฉยไม่ทำหน้าที่ โดยตั้งใจให้ลูกอดอาหารตาย กรณีนี้ แม้นาง A จะไม่ได้ลงมือฆ่าลูกของเธอเอง ด้วยการกระทำบางอย่างเช่น อุดปาก หรือเอาไปทิ้งน้ำ นาง A ก็มีความผิดฐานฆ่าคนตายอยู่ดี แต่เป็นการฆ่าด้วยการงดเว้น เพียงแต่บุคคลนั้นต้องมีหน้าที่เสียก่อน ซึ่งต้องหมายเฉพาะ 1) หน้าที่ตามกฎหมาย เช่น พ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร บุตรมีหน้าที่เลี้ยงดูบิดามารดา 2) หน้าที่ตามสัญญา เช่น รับจ้างดูแลสระว่ายน้ำ ปรากฏว่ามีคนจมน้ำตายในสระ โดยตนปล่อยปละเลยไม่ดูแล หรือเห็นแล้วไม่เข้าไปช่วยตามหน้าที่ 3) หน้าที่ตามความสัมพันธ์พิเศษ เช่น ไม่ใช่พ่อแม่ แต่เขาเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็ก ๆ เป็นผู้ปกครองตามความเป็นจริง แต่เรากลับไม่เลี้ยงเขา พอแก่เฒ่าก็ปล่อยให้ตาย เป็นต้น และ 4) หน้าที่จากการกระทำครั้งก่อน ๆ ของตน เช่น อาสาพาคนตาบอดข้ามถนน แต่พอมีรถวิ่งมากลับปล่อยเขาทิ้งไว้กลางถนน หนีเอาตัวรอด มีรถมาชนเขาตายแบบนี้คนพาข้ามถนนก็ผิดฐานฆ่าเพราะงดเว้นได้เหมือนกัน ซึ่งกรณีเหล่านี้ ก็มีตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุนด้วยการงดเว้นได้ เช่น นาง A คลอดลูก แต่นาย B สามีไม่ต้องการ จึงเอามืออุดปากเด็ก นาง A เห็นเช่นนั้นก็ยังนิ่งเฉย ไม่ขัดขวาง หรือห้ามปราม เพราะในใจก็ต้องการให้ลูกตายเช่นกัน แบบนี้นาง A ก็เป็นตัวการร่วมกับนาย B ได้ เป็นต้น   
“ทีนี้คำถามก็คือ ชื่อเสียง เกียรติยศของบุคคล หรือตำแหน่งในมาตรา 112 นั้น ปกติแล้วคนธรรมดาทั่วไปมีหน้าที่ต้องคอยป้องกันไม่ให้ใครก็ตามมาล่วงละเมิดหรือไม่ ถ้าให้ตอบตาม “หลักกฎหมาย” ปัจจุบันก็คือ ไม่มี เพราะ “หน้าที่ในการป้องกันผล” ที่จะทำให้เข้าข่าย “งดเว้น” ได้นั้น หมายเฉพาะหน้าที่ 1 ใน 4 ประเภทตามที่กล่าวไปแล้วเท่านั้น ปัจจุบันไม่มีกฎหมายกำหนดว่าคนไทยทุกคนต้องป้องกัน ห้ามปราบ หรือหยุดยั้งไม่ให้ใครมากล่าวจาบจ้วงหรือล่วงละเมิดสถาบันฯ นอกจากนี้เรายังไม่ได้จับให้คนไทยทำสัญญาอะไรให้ต้องทำเช่นนั้น และทั้งหน้าที่จากความสัมพันธ์พิเศษก็ตีความไปไม่ถึง  เพราะฉะนั้น ความผิดในเรื่องนี้ จึงย่อมไม่มีการกระทำความผิดด้วยการงดเว้นอย่างแน่นอน จะผิดได้ผู้กระทำความผิด หรือตัวการร่วม ต้องออก action ตามกฎหมายเท่านั้น คือ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย โดยคุณจะร่วมกันทำเช่นนั้นด้วยกันเลย หรือแบ่งหน้าที่กันทำก็สุดแท้แต่ ถ้าตำรวจไทยจะไปไกลถึงขนาดที่ว่าเมื่อมีใครมาเล่า หรือพูดอะไรในลักษณะนี้ให้เราฟังแล้วเรานิ่งฟัง ไม่ห้ามปรามเขา แล้วเป็นความผิดมาตรา 112  ด้วย ในฐานะนักกฎหมายอาญา ก็ต้องพูดว่าถือเป็นการตีความกฎหมายที่ออกจะมั่ว และขัดหลักการทางอาญาอย่างชนิดเป็นไปไม่ได้” สาวตรีกล่าว

การพูดคุยกันส่วนตัว 2 คน ผิด 112 ได้ แต่ผิดได้คนเดียว

สาวตรีกล่าวว่าเมื่อเป็นการพูดคุยส่วนตัวกัน 2 คน เป็นไปไม่ได้ที่ทั้ง 2 คนจะมีความผิดด้วยกัน หรือเป็นตัวการร่วมกัน เพราะการหมิ่นประมาทผู้อื่นนั้น (หมายถึงการหมิ่นประมาททุก ๆ คน ไม่เฉพาะ 112) จะเข้าข่ายเป็นความผิดได้ต้องมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1) มีการใส่ความ หรือกล่าวร้ายเหยื่อด้วยข้อเท็จจริง 2) การใส่ความนั้นได้กระทำต่อ “บุคคลที่สาม” กล่าวคือ ต้องมีบุคคลที่สาม ซึ่งหมายถึง บุคคลอื่นใดนอกเหนือจากผู้กระทำความผิด และผู้ถูกใส่ความหรือเหยื่อเอง และ 3) เป็นการใส่ความที่ระบุเจาะจงตัวคนถูกใส่ความได้ว่าหมายถึงใคร ต้องครบทั้งสามองค์ประกอบนี้ ความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงจะเกิดได้
“ฉะนั้นถ้าพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด กรณีที่มีการสนทนากันใน inbox  ของ facebook ซึ่งต้องถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว และเขาคุยกันแค่ 2 คน หากตำรวจตั้งข้อหากับคุณบุรินทร์ว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 แล้ว ตำรวจจะตั้งข้อหาเดียวกันนี้กับคุณแม่ของจ่านิวไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้น “ใคร” คือบุคคลที่สาม การพูดคุยกันเพียงสองคน ทั้งยังถูกหาว่าเป็น “ผู้กระทำความผิดด้วยกันทั้งคู่” (ตัวการร่วม) ในความผิดฐานนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ที่ถูกต้องคือ หากตั้งข้อหาคุณบุรินทร์แล้ว คุณแม่จ่านิวต้องอยู่ในสถานะของ “บุคคลที่สาม” เพื่อให้ข้อหาของคุณบุรินทร์ครบองค์ประกอบความผิด แต่ถ้าจะตั้งข้อหากับคุณแม่จ่านิว ก็ต้องหมายความว่าคุณบุรินทร์เป็นแค่เพียง “บุคคลที่สาม” หรือผู้รับรู้ข้อความ แต่ทั้งคู่เป็นตัวการร่วมกันในความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ไม่ปรากฏบุคคลที่สามไม่ได้” สาวตรีกล่าว

ตำรวจเข้ามาเห็นแชท นับเป็นบุคคลที่ 3 ไม่ได้

แล้วตำรวจสามารถอ้างได้ไหมว่า ตำรวจคือบุคคลที่ 3 เพราะว่าเขาเข้ามาเห็นบทสนทนานี้ สาวตรีตอบคำถามนี้ว่า ไม่ได้ เพราะความผิดอาญาในฐานนี้ ผู้กระทำทุกคนต้องกระทำไปโดยมี “เจตนา” กล่าวคือ รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นคือการใส่ความบุคคลอื่น และทั้งต้องรู้ด้วยว่ากำลังใส่ความต่อ “บุคคลที่สาม” เมื่อเขาพูดคุยกันในพื้นที่ส่วนตัว และทั้งพื้นที่แบบนี้ไม่มีใครคาดหมายได้ว่าจะมี “คนอื่น” มาอ่าน หรือมาเห็นได้ แสดงว่าเขาย่อมไม่มีเจตนาที่จะทำความผิดฐานหมิ่นประมาท  
ยกตัวอย่างเช่น  A เรียก B พนักงานคนหนึ่งเข้ามาในห้องทำงานส่วนตัว เพื่อต่อว่าว่า B ทำงานห่วย ไม่ได้เรื่อง ทำให้บริษัทเสียหาย โดยมั่นใจว่า ไม่มีพนักงานคนอื่นมาได้ยิน ปรากฏว่า C มาแอบฟัง กรณีนี้จะหาว่า A มีเจตนาใส่ความ B ให้ C ฟัง ย่อมไม่ได้ ดังนั้น แม้ตำรวจอยากจะอ้างตนเองเป็นบุคคลที่สาม แต่กรณีนี้ ย่อมเป็นการ “ขาดเจตนา” และไม่มีความผิดได้อยู่ดี เพราะตำรวจแอบเข้าไปรับรู้ข้อความระหว่างสองคนโดยที่วิญญูชนทั่วไปคาดหมายไม่ได้

คำถามเพิ่มเติม

หากเปรียบเทียบกันกับคดีที่คนขับแท๊กซี่พูดคุยกับผู้โดยสาร พื้นที่ส่วนตัวก็คือในรถ แล้วผู้โดยสารแอบอัดเทปเอาไปฟ้อง อย่างนี้เทียบเคียงกันได้ไหม เรื่องนี้สาวตรีตอบว่า กรณีคดีของแท็กซี่นั้นเข้าองค์ประกอบความผิด เพราะผู้โดยสารนั่นเอง คือบุคคลที่ 3 และเขาก็แค่หาหลักฐานเอาไปฟ้องคดี 
ประเด็นความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะจะถูกพิจารณาในทางกฎหมายไหม และการเข้าถึงพื้นที่ส่วนบุคคลของตำรวจเป็นประเด็นในทางกฎหมายไหม
สาวตรีตอบว่า เจ้าหน้าที่เขาอ้างได้เพราะมันมีกฎหมายพิเศษ พ.ร.บ. สอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 25 หรือไม่ก็ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 18 ประกอบมาตรา 19 คือ มีเหตุอันสมควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ฉะนั้นก็ไปขอคำสั่งศาลเพื่อขอเข้าถึงข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ อย่างนี้ทำได้ คือมันอาจไม่ใช่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่มันก็มีกฎหมายพิเศษอยู่ แต่เงื่อนไขในการใช้อำนาจอยู่ที่ว่าได้ไปขออนุญาตไหม ถ้าเป็น พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษต้องขออธิบดีศาลที่อยู่ในเขตอำนาจ แต่ถ้าเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องขอศาลที่อยู่ในเขตอำนาจ
เราจะนับว่ากฎหมายที่รองรับ คือ เป็นคำสั่ง/ประกาศของคสช.ได้ไหม
ขอตอบแบบนี้ดีกว่าว่า ถ้าตำรวจเขามีหมายศาลรองรับ แน่นอนมันก็ทำได้ เขาเข้าไปค้นได้ เราอ้างไม่ได้ ยิ่งถ้าเขาบอกว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง กฎหมายก็เปิดช่องตรงนี้เอาไว้ให้ แต่ถ้าข้อเท็จจริงคือ เขาไม่ได้ขอหมายศาล หรือกระทั่งไม่มีกฎหมายรองรับเลย เหมือนกับการแอบดักฟังโทรศัพท์ โดยไม่มีคำอนุญาตจากศาล ผลของมัน คือ หากเอาสิ่งที่ดักได้มาสืบพิสูจน์ ศาลอาจจะรับฟังหรือไม่รับฟังเป็นพยานก็ได้ เป็นดุลพินิจศาล เพราะหลักฐานในลักษณะนี้ เป็นพยานหลักฐานที่ “ได้มา” โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้นกำหนดว่า พยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบ โดยหลักห้ามไม่ให้ศาลรับฟัง เว้นแต่มีเหตุผลตามกฎหมาย เช่น เพื่อประโยชน์ของกระบวนการยุติธรรม หรืออื่น ๆ พูดง่าย ๆ ว่าให้ศาลใช้ดุลยพินิจว่าควรจะรับฟังหรือไม่ก็ได้ กฎหมายไม่เคร่งครัดถึงขั้นว่าให้ตัดพยานนั้นออกไปเลย
แต่ถ้าเป็น พยานที่ “เกิดขึ้น” โดยไม่ชอบ กฎหมายห้ามศาลรับฟังโดยเด็ดขาด คำว่า ‘เกิดขึ้น’ กับ ‘ได้มา’ ไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดขึ้นโดยมิชอบก็คือ การทำหรือสร้างพยานหลักฐานเท็จ หรือทำให้ผู้ต้องหาพูดสิ่งนั้นออกมาโดยที่เขาไม่สมัครใจ เพราะอาจถูกบังคับ ถูกจูงใจ หรือถูกหลอกโดยเจ้าหน้าที่รัฐเองเพื่อที่จะเอาไปเป็นพยานโดยเขาไม่รู้ 
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะบอกว่าเป็น พยานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ก็คงไม่ใช่ เป็นแต่แค่พยานที่อาจได้มาโดยไม่ชอบ เพราะไม่มีหมายศาล หรือมีกฎหมายมารองรับการค้นหาพยานด้วยวิธีแบบนี้เท่านั้น   
ตำรวจชี้แจงว่าบอกวิธีการเข้าถึงแชทไม่ได้ เพราะกระบวนการสอบสวนต้องเป็นความลับ  
ต้องดูว่า ใครเป็นคนถามตำรวจ และถามเขาในฐานะอะไร เพราะถ้าเป็นสื่อมวลชน คือถามเขาเพื่อเอาไปทำข่าว กรณีนี้เจ้าหน้าที่เขาก็มีสิทธิไม่บอก มันมีระเบียบตำรวจอยู่เหมือนกันว่าแม้ไม่ห้ามแต่ก็ไม่ควรให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีทั้งหมดกับสื่อหรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี เพราะเกรงว่าจะทำให้เสียรูปคดี หรืออาจมีผลต่อการหาพยาน แต่ถ้าถามเขาในฐานะของ “ผู้ต้องหา” หรือ “ทนายความของผู้ต้องหา” กรณีนี้แบบนี้ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนจะเลี่ยงไม่ให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดของข้อหาไม่ได้ เพราะมันมีกฎหมายบังคับอยู่ เป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหา และเป็นหน้าที่ตามกฎหมายด้วยที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้เขาทราบทั้ง “ข้อหา” และ “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหา” ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 ซึ่งในทางกฎหมายนั้น หากไม่แจ้งหรือแจ้งไม่ครบ จะทำให้กระบวนการสอบสวนที่ทำไปทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามันมีทั้งหมด 3 ขั้นตอน คือ ชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล ในขั้นตอนการสอบสวนนั้น ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนก็มีหน้าที่หลายอย่างตามกฎหมาย และต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้การสอบสวนของตนชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง เพราะหากมีเหตุที่ให้ การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมา ก็จะส่งผลต่อไปในชั้นพนักงานอัยการ เพราะจะทำให้อัยการ “ไม่มีอำนาจฟ้อง” ทั้งนี้ตามมาตรา 120 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งหากอัยการฟ้องไป โดยที่ไม่มีอำนาจฟ้องตามกฎหมาย แน่นอนว่า ศาลย่อมยกฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ทีนี้การสอบสวนแบบไหนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แบบหนึ่งเลยก็อย่างที่บอกคือ ฝ่าฝืนมาตรา 134 คือ พนักงานสอบสวนไม่แจ้งข้อหารวมทั้งสภาพแห่งข้อหา หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับข้อหาทั้งหมดว่าที่จะฟ้องเขานั้นเป็นเพราะเขาทำอะไรผิด คือกั๊กเอาไว้ ไม่ยอมบอกผู้ต้องหา แบบนี้ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมันทำให้ผู้ต้องหาไม่มีข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนเพียงพอในการต่อสู้คดี  
กระบวนการตามป.วิอาญามาตรา 134 อันนี้เกี่ยวพันกับการที่ตำรวจแถลงข่าวว่ามีมากกว่า ‘จ้า’ ใช่ไหม
ถูกต้องค่ะ เพราะทนายความและคนที่ไปสังเกตการณ์การแจ้งข้อกล่าวหา และสอบสวนผู้ต้องหาเขาก็บอกว่า ตำรวจพูดแค่นั้นจริง ๆ บอกว่ามีแค่เรื่อง ‘จ้า’ เท่านั้น แต่ตอนตำรวจแถลงข่าวอีกทีหนึ่งกลับมาบอกว่า จริง ๆ มันมีมากกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีบทความเรื่องกระบวนการสอบสวนกับมาตรา 134 ออกมาก่อนหน้านี้ ที่ว่า หากตำรวจบอกว่ามีเรื่องอื่นด้วยที่มากกว่าคำว่า “จ้า” ก็จะถือเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเลยเพราะไม่ได้แจ้งข้อหา และข้อเท็จจริงทั้งหมดแก่ผู้ต้องหานั้น เอาเข้าจริงเรื่องนี้ถูกต้องอยู่ แต่อาจตอบโจทย์ได้แค่ครึ่งเดียว เพราะหากในท้ายที่สุด พนักงานสอบสวนยืนยันว่าจะทำความเห็นฟ้องคดีเรื่องนี้จริง ๆ เขาก็ยังสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ เพียงแต่ในสำนวนของเขาต้องมีแค่เรื่อง “จ้า” เท่านั้นตามที่แจ้งไว้แก่ผู้ต้องหา จะยัดเรื่องอื่นหรือข้อเท็จจริงอื่น ๆ เพิ่มเติมไปด้วยไม่ได้ และเมื่อส่งให้พนักงานอัยการ หากพนักงานอัยการจะทำความเห็นสั่งฟ้องเลย ในคำฟ้องก็จำเป็นต้องมีแค่เรื่องนี้เท่านั้น ห้ามมีเรื่องอื่นสอดไส้ไปด้วย ถ้าเขาทำแบบนี้ ศาลย่อมรับฟ้อง เพราะการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว และอัยการก็มีอำนาจฟ้อง  แต่ถ้าพบว่า ในสำนวนการสอบสวนมีข้อเท็จจริงแห่งข้อหามากกว่าการใช้คำว่า “จ้า” หรือในคำฟ้องของอัยการมีเรื่องนี้ปรากฏอยู่โดยที่ผู้ต้องหาไม่รู้เลย แบบนี้ ถึงจะเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง และศาลต้องยกฟ้อง
แต่ว่าอัยการสามารถส่งกลับให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมได้
อันนี้ทำได้ แต่แน่นอนว่าในเวลานั้นตัวผู้ต้องหาก็ต้องได้รับการบอกแจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้วย จะงุบงิบสอบสวนเพิ่มกันเอง หรืออุ๊บอิ๊บฟ้องไปเองไม่ได้  

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top