0
รายงาน: ‘หฤษฏ์ มหาทน’ วรรณกรรมคือเสรีภาพ
Posted: 09 May 2016 06:20 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ภาพจากเพจ Starless Night-Harit Mahaton

เช้าตรู่ของวันที่ 27 เมษายน 2559 เกิดความโกลาหลบนโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในกลุ่มนักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชน และคนทั่วไปที่เกาะติดกับสถานการณ์การเมือง เหตุเกิดจากการส่งต่อข้อมูลว่า ทหารเข้าควบคุมตัวประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กว่าหมอกควันแห่งความคลุมเครือจะแห้งจางเวลาก็ล่วงเลยถึงตอนสาย ข้อมูลต่างๆ เริ่มคลี่คลายว่า เกิดการควบคุมตัวประชาชนจากทหารจริงหรือไม่ ใครบ้างที่ถูกควบคุมตัว จำนวนกี่คน และเหตุใดจึงถูกควบคุมตัว
ข้ามวันมาที่ 28 เมษายน 2559 ทุกอย่างจึงชัดเจน มีการนำตัวผู้ที่ถูกควบคุมทั้ง 8 คนจาก มทบ.11 มากองบังคับการกอบปราบปราม เพื่อแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักร และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีทำเพจเรารักพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งแสดงให้เห็นความเปราะบางอย่างยิ่งของผู้นำประเทศที่ไม่อาจทานทนต่อการล้อเลียนและเสียงหัวเราะ โดย 2 ใน 8 ผู้ต้องหายังถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 ในกฎหมายอาญา
หฤษฏ์ มหาทน หรือปอน นักเขียนผู้มีอาณาจักรภายในของตัวเองและพ่อค้าราเม็ง คือ 1 ใน 8 ผู้ต้องหาที่ถูกตั้งข้อหาทั้งสามข้อหาข้างต้น จนไม่น่าเชื่อว่าคนที่เพื่อนๆ บอกว่าเขาเหมือนสาวน้อยตาหวานที่มีหัวใจอ่อนไหว กำลังกลายเป็นบุคคลที่สั่นคลอนความมั่นคงของประเทศไทย

อ่านให้มาก

หฤษฏ์หรือปอนสูญเสียแม่ให้แก่มะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่วัยเพียง 9 ขวบ มรดกความทรงจำที่มีค่าที่สุดที่แม่ของเขาทิ้งไว้ให้คือคำพูดที่ว่า อ่านให้มาก ความรู้สำคัญที่สุด นิสัยรักการอ่านที่คุณแม่ของเขาเพาะปลูกไว้ตั้งแต่ครั้งยังมีชีวิตผสานกับถ้อยคำข้างต้น ปอนจึงหลงใหลวนเวียนอยู่ในดินแดนของการ์ตูนและวรรณกรรมตั้งแต่เด็ก
ปอนชอบนิยายแฟนตาซี สยองขวัญ ประวัติศาสตร์ ไล่เรียงไปถึงเรื่องยากๆ อย่างปรัชญาจีน ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเขาสนใจและฝึกฝนศิลปะการต่อสู้จีนที่เรียกว่า สิ่งอี้ หรือมวยห้าธาตุและไท่จี๋ หนังสือปรัชญาจีนที่เพื่อนของปอนบอกว่า เขาชอบอ่านมากที่สุดคือฉางต่วนจิง คัมภีร์แห่งการยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลง ส่วนนิยายเล่มแรกๆ ที่ชอบคือ ฯพณฯ แห่งกาลเวลา ของ ลวิตร์หรือพัณณิดา ภูมิวัฒน์ ขณะที่งานแนวสยองขวัญแบบญี่ปุ่นที่ส่งอิทธิพลต่อเขาคืองานของโอตสึอิจิ โดยเฉพาะ GOTH คดีฆ่าตัดข้อมือ และ ฤดูร้อน ดอกไม้ไฟ และร่างไร้วิญญาณของฉัน ซึ่งภายหลังปอนก็ก้าวข้ามมันไปสู่การผลิตงานเขียนเอง เพราะเขารู้สึกว่าเริ่มไม่มีอะไรน่าอ่าน

ไลท์ โนเวล

ไม่เพียงแต่ปรัชญาจีน หฤษฏ์ยังสนใจปรัชญาการเมืองตะวันตก เขาเสพงานสำคัญที่ถือเป็นจุดหักเหของปรัชญาการเมืองตะวันตกอย่าง The Prince หรือเจ้าผู้ปกครอง งานอมตะที่ทั้งถูกยกย่องและก่นประณามของนิโคโล มาเคียวิลี มันส่งผลต่อเขายามที่เป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังถูกดูดซึมลงไปในงานเขียนยุคกลางๆ ของเขา ‘ทูตแห่งเซนทาเรียกับมงกุฏสายรุ้ง’ ที่ได้รับรางวัลที่ 3 จากการประกวดนักเขียนหน้าใส สายแฟนตาซี ครั้งที่ 2 ปี 2554 ของสำนักพิมพ์แจ่มใส ก็เหมือนกับนักเขียนคนอื่นๆ ที่เวลาเป็นตัวขัดเกลาความคิด เพื่อนๆ ของหฤษฏ์เล่าว่างานช่วงแรกๆ ของเขานั้นหมองหม่น แต่ช่วงหลังกลับออกแนวสดใส ผจญภัย และแฟนตาซี
‘ทูตแห่งเซนทาเรียกับมงกุฏสายรุ้ง’ ไม่ใช่ผลงานชิ้นแรกของหฤษฏ์ เขาเคยมีผลงานเผยแพร่มาก่อนหน้าแล้วในเว็บเด็กดีที่สร้างแฟนคลับให้เขา ปี 2548 เคยมีผลงานหนังสือทำมืออย่าง ‘หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ’ และผลงานล่าสุด ‘Noah's Guardian ผู้พิทักษ์แห่งโนอาห์’ ในปีนี้
ผลงานส่วนใหญ่ของหฤษฏ์จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ไลท์ โนเวล นวนิยายที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน เน้นแฟนตาซีและสนุกสนานชวนติดตาม ไม่มีบรรยากาศขรึมขลังเหมือนวรรณคดีหรือวรรณกรรมหนักๆ ที่หนอนหนังสือสายฮาร์ดคอร์ชื่นชม จนอาจมองไลท์ โนเวลด้วยท่าทีเหยียดเล็กน้อยว่าอยู่ในวรรณะที่ต้อยต่ำกว่า
จี.เค. เชสเตอร์ตั้น นักเขียน นักวิจารณ์การเมืองคนสำคัญของอังกฤษ ผู้เนรมิตรบาทหลวงบราวน์ นักสืบผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในโลกรหัสคดี กล่าวไว้ว่า “วรรณคดีเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย นิยายคือสิ่งจำเป็น”
สำหรับหฤษฏ์ ไลท์ โนเวล คืออนาคตของวงการหนังสือ มันเป็นงานเขียนที่ทำให้เขาสนุกและมีอะไรให้ทำตลอดเวลา เพื่อนคนหนึ่งของปอนบอกว่า เขาเป็นมนุษย์ที่มีพล็อตเรื่องไลท์ โนเวล ในสมองมากมายและอยากแปรรูปออกมาเป็นตัวหนังสือ หฤษฏ์ให้เหตุผลต่อความชื่นชอบไลท์ โนเวล ว่า มันเข้าถึงคนได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องแปะยี่ห้อความเป็นงานชั้นดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่สนใจ เขาสนใจเพียงแค่ให้คนชอบและซื้อมันไปอ่าน

“วรรณกรรมคือเสรีภาพอย่างหนึ่ง”

อีกหนึ่งบทบาทของหฤษฏ์คือประธานชุมนุมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 สมัย เพื่อนสนิทของเขาคนหนึ่งเล่าว่า ชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ในยุคของเขาเป็นยุคที่มีการเคลื่อนไหวคึกคัก เขาพยายามผลักดันคนในชุมนุมให้เขียนงานและส่งออกไปปะทะกับโลกภายนอกชุมนุมด้วยการร่วมเวทีประกวดหรือส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณา รวมถึงการจัดกิจกรรมเสวนาต่างๆ
ปี 2556 หฤษฏ์สมัครเข้าร่วมสมาคมนักเขียนในฐานะสมาชิกวิสามัญรายปี นอกจากต้องการร่วมกิจกรรมต่างๆ กับทางสมาคมแล้ว เขายังมุ่งหวังที่จะเชื่อมโลกของนักเขียนรุ่นใหม่ โลกแฟนตาซี โลกของไลท์ โนเวล กับโลกของนักเขียนรุ่นเก่ากับวรรณกรรมหนักๆ เข้าด้วยกัน
“วรรณกรรมไม่ใช่ตัวชี้นำสังคม แต่เป็นเสรีภาพ เขามองว่า การเขียนงานวรรณกรรมเพื่อประกวดนั้นไม่สามารถวัดได้ว่า งานนั้นดีจริงหรือไม่ เขามองว่างานจะดีจริงหรือไม่จริง ต้องให้คนอ่านเยอะๆ พอมีคนอ่าน คนวิจารณ์ เราก็จะรู้ว่างานเราดีจริงๆ หรือไม่ เขาเลยสนใจการวิจารณ์งานและอยากอ่านคนวิจารณ์เยอะๆ เขามองว่าการวิจารณ์จะทำให้วรรณกรรมพัฒนาขึ้น ถึงหลายคนจะไม่อยากให้เขาวิจารณ์เพราะรับไม่ได้กับการพูดตรงๆ ก็เถอะ” เพื่อนคนหนึ่งของหฤษฏ์บอกเล่า
กล่าวอย่างรวบรัดถึงสไตล์งานวิจารณ์ของหฤษฏ์คือ ปากเสีย เอาแต่ใจ สร้างศัตรู ขวานผ่าซาก และด่าตรงๆ โดยไม่กลัวว่าจะขัดแย้งกับใคร เขามักเตือนเพื่อนๆ ให้อยู่ห่างจากการ์ตูนแย่ๆ และแนะนำการ์ตูนชั้นดีที่กราฟฟิกไม่เตะตาต้องใจ บางงานวิจารณ์ของเขายังแนะนำได้ว่าคนสไตล์ไหนเหมาะกับการ์ตูนเรื่องไหน
งานและความคิดของหฤษฏ์สะท้อนให้เห็นว่า วรรณกรรมสำหรับเขาไม่ใช่สิ่งสูงส่ง เขามักจะพูดกับเพื่อนๆ ว่า การเขียนวรรณกรรมไม่ใช่การสร้างงานศิลปะ แต่เป็นการสร้างโลกใหม่ วรรณกรรมในยุคปัจจุบันที่ขายยากขึ้นๆ ไม่ใช่เพราะคนไม่มีเงินซื้อหามาเสพ แต่เพราะวรรณกรรมไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับคนทั่วไปได้ นี้คือเหตุผลที่หฤษฏ์เขียนไลท์ โนเวล ที่มุ่งกลุ่มนักอ่านวัยรุ่น ปรับเปลี่ยนเนื้อหายากๆ มาย่อยสลายให้เข้าใจง่าย เช่น ‘Noah's Guardian ผู้พิทักษ์แห่งโนอาห์’ ที่เล่าถึงกลุ่มคนไร้ประโยชน์บนยานอวกาศของมนุษย์กลุ่มสุดท้ายที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้ไร้ประโยชน์อย่างที่ใครๆ ตราหน้า ซึ่งทำให้ผู้อ่านเห็นระบบวรรณะ ความซับซ้อนทางสังคม และการเสียสละเพื่อปกป้องคนอื่น วรรณกรรมของหฤษฏ์จึงมักพูดถึงการค้นหาตัวตนและเสรีภาพ เขาพูดกับเพื่อนว่า
“วรรณกรรมคือเสรีภาพอย่างหนึ่ง”

อย่าทิ้งความหวัง

เพื่อนสนิทคนหนึ่งที่รู้จักหฤษฏ์มาตั้งแต่ ม.2 เล่าว่า หฤษฏ์ไม่ได้ต้องการให้งานเขียนของตนยิ่งใหญ่ แต่ต้องเป็นงานที่คนอ่านเสพอย่างสนุกสนาน
“ปอนมีความฝันว่า เขาจะสร้างงานที่คนอื่นอ่านแล้วสนุก ปอนยังเชื่อว่าคนเรามีห่วงโซ่ความผูกพันที่ผูกผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน และการอ่านจะทำให้ความผูกพันนั้นกระจายออกไป”
ภายหลังจากที่หฤษฏ์ถูกควบคุมตัวและถูกตั้งข้อหา เขาและคนอื่นๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว พวกเขายังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เพื่อนๆ ของหฤษฏ์ร่วมกันเปิดเพจ Starless Night-Harit Mahaton เพื่อเป็นช่องทางบอกเล่าความคิด ผลงาน และเป็นกำลังใจให้แก่เขา
เนื้อหาชิ้นหนึ่งยกสเตตัสของหฤษฏ์มากล่าวถึงกฎสำคัญในชีวิตของเขา
“กฎสำคัญที่สุดข้อแรกคือ อย่าตาย และข้อสอง อย่าทิ้งความหวัง”
...อย่าทิ้งความหวังแม้จะเป็นคืนที่ฟ้าไร้ดาว

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top