0
กรณีสมยศ: บรรณาธิการต้องความผิด ติดคุก10 ปี เพราะศาลเชื่อว่าเขาคิดเหมือนพยานโจทก์
Posted: 26 May 2016 05:27 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เมื่อเดือนมกราคม 2013 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกบรรณาธิการนิตยสารเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากกระทำผิดกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ 2 ชิ้น ศาลพิสูจน์ความผิดของบรรณาธิการคนนั้นด้วยการให้พยานมาอ่านบทความที่ถูกกล่าวหาและตีความให้ศาลฟัง เมื่อได้ฟังการตีความของพยานเหล่านั้นแล้ว ศาลสรุปว่า บรรณาธิการคนนั้นเมื่ออ่านบทความ 2 ชิ้นนั้นแล้ว ก็จะต้องตีความแบบเดียวกับพยานส่วนหนึ่ง จึงแสดงให้เห็นว่าบรรณาธิการมีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่บทความทั้ง 2 ชิ้น ศาลจึงลงโทษบรรณาธิการผู้นั้นด้วยการจำคุกเป็นเวลา 10 ปี
สมยศ พฤกษาเกษมสุข นอกจากเป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณซึ่งตีพิมพ์บทความที่ถูกกล่าวหาแล้ว ยังเป็นนักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ทำงานต่อสู้เพื่อผู้ใช้แรงงานมาตลอดหลายสิบปี ในท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่สถาบันกษัตริย์เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในเหตุการณ์ สมยศได้รณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น
ในอดีตประเทศไทยเคยมีกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 ซึงมีบทบัญญัติให้บรรณาธิการต้องรับผิดในข้อความหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นในสิ่งพิมพ์ที่ตนเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วในปี 2007 โดยพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พุทธศักราช 2550 ซึ่งกฎหมายใหม่นี้ไม่ระบุให้บรรณาธิการต้องรับผิดต่อข้อความหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นในสิ่งพิมพ์ที่ตนพิมพ์เผยแพร่อีกต่อไป เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปในวงการของผู้พิมพ์หนังสือและนักหนังสือพิมพ์นับแต่นั้นว่า หากมีความผิดฐานหมิ่นประมาทเกิดขึ้นในสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ผู้ที่ต้องรับผิดก็คือผู้ประพันธ์เท่านั้น บรรณาธิการไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป หลังจากมีกฎหมายใหม่นี้ ก็เกิดคดีความฟ้องร้องและมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานแล้วว่า บรรณาธิการไม่ต้องรับผิดต่อข้อความหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นในสิ่งพิมพ์ เช่น กรณีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันลงตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อหาการดำเนินรายการทางสถานีวิทยุ ในทำนองว่า ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ต่อมามีการฟ้องบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2007 ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง และตัดสินลงโทษปรับ ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า “ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาได้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งตามมาตรา 3 ได้ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 อีกทั้ง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการต้องเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป”
ในการต่อสู้คดี สมยศ พฤกษาเกษมสุขก็ได้ยก พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีบทยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด แต่ศาลกลับปฏิเสธที่จะวินิจฉัย โดยกล่าวในคำพิพากษาว่า “ที่จำเลยต่อสู้ว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ได้มีบทบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง นั้น เป็นเรื่องกฎหมายบัญญัติว่า ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ย่อมหมายความว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 เท่านั้น ส่วนการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามฟ้อง ไม่ได้ถูกยกเลิกโดยผลของกฎหมายดังกล่าวด้วย ข้อต่อสู้ดังกล่าวของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้เขียนบทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้นั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำที่ถูกฟ้อง และไม่ใช่ประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะรับวินิจฉัย จึงไม่รับวินิจฉัย”
สรุปคำกล่าวของศาลก็คือ เพราะโจทก์ฟ้องว่าจำเลยหมิ่นประมาทกษัตริย์ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสาร ที่จำเลยอ้างว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ได้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ไปแล้ว จึงไม่ใช่การกระทำที่ถูกฟ้อง
ทั้งที่ ถ้าหาก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ยังไม่ถูกยกเลิก และมีผลบังคับใช้อยู่ ความผิดที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ก็คือ การเป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์ และเผยแพร่นิตยสารที่มีข้อความหมิ่นประมาท แต่ศาลพิพากษาว่ามันไม่ใช่การกระทำที่ถูกฟ้อง
ในการสืบพยานและไต่สวนโดยตลอด ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใด ๆ นอกจากพยานหลักฐานที่พิสูจน์ว่าสมยศคือบรรณาธิการของนิตยสารดังกล่าว และในการพิสูจน์เจตนากระทำผิดของสมยศก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใด นอกจากความเห็นของพยานจำนวนหนึ่งที่ให้การต่อศาลหลังจากที่อ่านบทความแล้ว
ในการสืบพยานเพื่อชี้เจตนากระทำผิดศาลใช้วิธีให้พยานอ่านบทความและแสดงความเห็นว่าบทความ 2 ชิ้นดังกล่าวหมิ่นประมาทหรือไม่ โดยพยานเหล่านั้นมีความเห็นแตกต่างกันออกไปคือ กลุ่มแรก มีความเห็นว่าหมิ่นประมาททั้ง 2 ชิ้น  กลุ่มที่สอง มีความเห็นว่า ชิ้นหนึ่งหมิ่นประมาท อีกชิ้นหนึ่งไม่ทราบว่าหมิ่นประมาทหรือไม่ กลุ่มที่สาม มีความเห็นว่าไม่หมิ่นประมาททั้ง 2 ชิ้น และกลุ่มที่ 4 อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่ทราบว่าบทความต้องการหมายถึงเรื่องอะไร
คดีนี้จึงต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ศาลได้พิพากษาให้บรรณาธิการคนหนึ่งมีความผิดเพราะเชื่อว่า บรรณาธิการคนนี้อ่านบทความแล้วจะต้องมีความเห็นแบบเดียวกับพยานกลุ่มที่หนึ่งเท่านั้น โดยไม่มีหลักฐานใด ๆ เลย และไม่มีกฎหมายระบุให้บรรณาธิการต้องรับผิดต่อความผิดที่เกิดขึ้นในสิ่งพิมพ์ที่ตนตีพิมพ์

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top