ทีดีอาร์ไอเผย การจ้างงานในยุค คสช. ยังหดตัว
รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เผยว่าผลจากเศรษฐกิจชะลอตัวช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การจ้างงานยังหดตัว แนะ รัฐบาลต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับเกษตรกรซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภัยแล้ง
รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ กล่าวว่าจากการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดซึ่งสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาส 3 ของปี 2558 จากภาพรวมของการจ้างงานพบว่า มีการจ้างงานโดยรวม 38.33 ล้านคนเศษ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2 หรือประมาณ 90,000 คนเศษ โดยอัตราการว่างงานปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปี 2557 เป็น 0.36 ล้านคน หรือร้อยละ 0.9 โดยมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000
จากข้อมูลการสำรวจพบว่าคนที่ว่างงานครึ่งหนึ่งหรือ 0.18 ล้านคนยังไม่เคยทำงานมาก่อนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือผู้จบการศึกษาใหม่ยังไม่ได้งานทำงานจำนวนมากโดยผู้ว่างงานที่กล่าวมามีภูมิหลังทางการศึกษาในระดับ ป.ตรี ว่างงานสูงที่สุดถึงร้อยละ 1.8 ขณะที่การว่างงานของแรงงานตามระดับการศึกษาอื่นๆอยู่ในช่วงเพียงร้อยละ 0.2-1.2 เท่านั้น
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ชี้ว่าจากข้อมูลที่พบ แสดงให้เห็นว่าการที่เศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตอย่างช้าๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อความสามารถในการจ้างงานของประเทศในการดูดซับแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่และเก่า ถึงแม้ภาพรวมการมีงานทำจะลดลงไม่ถึง 1 แสนคน แต่ที่ถูกกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มคนที่ทำงานในสาขาเกษตรลดลงจากปีก่อนมากกว่า 5 แสนคน หรือมากกว่าร้อยละ 3 ทำให้รัฐบาลต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับเกษตรกรซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภัยแล้งซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายการทำงานของรัฐบาลในปีนี้
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น