(เครดิตภาพ: คิม ไชยสุขประเสริฐ)
อนุกรรมการ กสม. ตรวจสอบพื้นที่เหมืองทอง จ.เลย เผยผลเจรจาบริษัทฟ้องหมิ่นประมาทนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอสวัย 15 ปี ยังไม่ได้ข้อยุติ
กรณีข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมที่ จ.เลย ระหว่างชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิดกับบริษัททุ่งคำ ซึ่งทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งบริษัทได้ฟ้องร้องเยาวชนอายุ 15 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากนำเสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับค่ายเยาวชนในพื้นที่ผ่านทางรายการนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในวันนี้ คณะอนุกรรมการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งดูแลเรื่องสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ ได้เดินทางลงพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับความขัดแย้งและผลกระทบด้านทางด้านสิ่งแวดล้อม หลังึ่ืื่รับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา
มีรายงานว่าการประชุมร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการ กสม.กับหน่วยงานระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ไม่มีตัวแทนจากบริษัทเหมืองทองเข้าร่วมประชุม ขณะที่การเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เหมืองทองคำ ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิดและนักศึกษาราว 10 คน ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย หลังจากอนุกรรมการ กสม.ได้เจรจากับนายอัครเดช โจ ที่ปรึกษาบริษัททุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัททุ่งคำ จำกัด ราวครึ่งชั่วโมง โดยให้ทุกคนลงชื่อเอาไว้
ที่ปรึกษาบริษัททุ่งคาฯ ชี้แจงว่าไม่มีเจตนาที่จะฟ้องร้องนักข่าวพลเมืองให้เกิดความเสียหาย แต่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสงครามวิทยาให้มีการเจรจาเพื่อยุติปัญหา แต่ก็ถูกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกดดันไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยว และหาก กสม.จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการประสานงานนำเยาวชนที่ถูกฟ้องคดีมาพูดคุยกับทางบริษัท ทางบริษัทก็ยินดีที่จะถอนฟ้อง
นางสาวรัตนมณี พลกล้า อนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ธรรมชาติ ที่ร่วมเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันนี้กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ทำเหมืองใน 2 ประเด็น คือ การตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องเสียงเครื่องจักรที่เปิดทำงานในเวลากลางคืน ทั้งที่ยังอยู่ระหว่างขออนุญาตเปิดทำเหมืองจากกรมป่าไม้ ซึ่งทางบริษัทชี้แจงว่า เป็นเพียงการเดินเครื่องจักรเพื่อบำรุงรักษาในระหว่างที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเหมือง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับเครื่องจักร
อีกประเด็นหนึ่ง คือ การไกล่เกลี่ยเพื่อยุติการฟ้องร้องนักข่าวเยาวชนนั้นการเจรจาของประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ กับทางบริษัทยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัททุ่งคาฯ ได้เริ่มดำเนินการบำบัดบ่อกักเก็บกากแร่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดการฟื้นฟูที่กำหนดในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ที่เสนอต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น