0

ขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน (Thai Health Movement) ส่งข้อความมาชี้แจงเรื่อง สสส.ที่ผมวิจารณ์ไป ตั้งแต่การไล่บี้เก็บภาษีย้อนหลังของสรรพากร กับมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ที่ได้รับทุน สสส. เรื่องที่ NGO ต้องพึ่ง สสส.สถานเดียว และเรื่องการปฏิรูป สสส.
เรื่องภาษี น้อมรับว่าฟังแล้วก็เพิ่งเข้าใจ และเห็นใจมูลนิธิองค์กรต่างๆ เรื่องนี้ถ้าไม่เป็นข่าวเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา คนนอกก็ไม่รู้ ว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร สรุปว่าเรื่องค่าจ้างบุคลากรมีการหักภาษี ค่าใช้จ่ายมีบิล ส่วนที่มีปัญหาคืองบกิจกรรม ซึ่ง สสส.ตีความว่า "ทำแทน" แต่ สตง.สรรพากร ตีความไปอีกอย่างว่า "จ้างทำ" แล้วก็มาไล่บี้เก็บภาษีย้อนหลัง กับมูลนิธิ องค์กร คนทำงาน ซึ่งโดน สสส.ลอยแพไม่ช่วยชี้แจงอีกต่างหาก
ผมเห็นด้วยนะว่าจะมาเก็บย้อนหลังก็ไม่ถูก ต้องมีการทำข้อตกลงกับกรมสรรพากร แล้วหลังจากนี้ต้องตีความให้ชัดเจนตรงกัน การรับเงินลักษณะไหนควรเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ลักษณะไหนไม่เสีย ประเด็นมันพันไปเรื่องการปฏิรูป สสส.ด้วยครับ เพราะบางทีสรรพากรในพื้นที่เขาก็เห็นคนนั้นคนนี้ไปรับเงิน สสส.มาทำกิจกรรม (แบบรับจัดงาน event) แต่ไม่ยักเสียภาษี เขาก็กังขากันมานาน กระนั้นอันที่จริงพวกข้าราชการไม่อยากยุ่งเรื่องนี้หรอก ปวดหัวเปล่าๆ แต่มันเป็น "ใบสั่ง" ไปจากทางกรมกับ สตง.
เรื่องปฏิรูป สสส.นี่เห็นด้วยเต็มที่นะครับ ขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนเขียนได้ดีมาก
..........................................
ตอบโพสต์ "ภาคประชาสังคม Vs รัฐราชการ" ของอธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง)
1. กรณีภาษีที่สรรพากรเรียกเก็บจากมูลนิธิและองค์กรต่างๆ
1.1 องค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสสส.จะได้รับงบประมาณ 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นค่าจ้างบุคคลากร และงบดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยในส่วนที่เป็นค่าจ้างบุคคลากรจะมีการเก็บภาษี ณ ที่จ่าย โดยสสส.จะมีการหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก่อนส่งให้กับมูลนิธิต่างๆอยู่แล้ว โดยในการสนับสนุนการดำเนินงานของสสส.กับภาคีนั้นจะใช้ความตกลงที่เรียกว่า "ข้อตกลงการปฏิบัติงาน" ไม่ใช่ "สัญญาจ้างทำของ" แต่ประการใด
1.2 ส่วนค่าใช้จ่ายที่งบกิจกรรมต่างๆนั้น เป็นงบประมาณที่มูลนิธิและองค์กรต่างๆ "ดำเนินงานแทนสสส." ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้เป็นรายได้เพื่อเอามาแบ่งปันกันเพื่อประโยชน์ต่อองค์กรที่รับทุน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นต้องมีการเก็บใบเสร็จหลักฐานต่างๆเอาไว้ทั้งหมด หากมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายเหล่านี้ต้องส่งคืนสสส.ตอนหมดสัญญา หากมีการจัดซื้ออุปกรณ์หรือคุรุภัณฑ์ใดๆระหว่างการดำเนินกิจกรรม อุปกรณ์เหล่านั้นถือว่าเป็นทรัพย์สินของสสส.ทั้งหมด สสส.ได้เคยขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดตีความในโครงการที่ได้รับทุนจากสสส.มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2547 โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบกลับตามหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ว่า การสนับสนุนในกรณีดังกล่าวนั้นเป็น "การดำเนินการแทน"
ส่วนในกรณีที่งบกิจกรรมนั้นต้องมีค่าจ้างบุคคลอื่น หรือต้องจ่ายสำหรับงานบริการต่างๆโดยมูลนิธินั้น จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นการทำหน้าที่แทนสรรพากรและสสส.
1.3 เจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานกับมูลนิธิและองค์กรต่างๆต้องเสียภาษีเงินได้ตามเงินเดือนที่แต่ละคนได้รับตามความเป็นจริงทุกประการ
1.4 ปัญหาความเดือดร้อนขณะนี้เกิดขึ้นจากกรณีที่สรรพากรไล่เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง พร้อมเบี้ยปรับ 5-6 เท่า ของงบประมาณดำเนินการที่มูลนิธิและองค์กรต่างๆได้รับเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว เพราะงบประมาณเหล่านี้เป็นงบการดำเนินกิจกรรมไม่ใช่การ "รับจ้างทำของ" ขณะนี้มีการไล่บี้จากสรรพากรไปเก็บภาษีกลุ่มชาวบ้าน ข้าราชการในท้องถิ่นที่ทำงานร่วมกัน และชุมชนต่างๆที่ได้รับเงินสนับสนุนเป็นโครงการย่อยจากมูลนิธิต่างๆด้วย สร้างความตระหนกให้กับคนกลุ่มดังกล่าว
สรรพากรในพื้นที่บางแห่งยังได้เรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีรายได้ของเจ้าหน้าที่มูลนิธิต่างๆด้วย โดยถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากยอด "การหักภาษี ณ ที่จ่าย" ซึ่งสสส.ได้หักออกก่อนส่งให้มูลนิธิ ทั้งๆระเบียบปฏิบัติของมูลนิธิต่างๆนั้นเมื่อได้รับเงินจากสสส.ก็จะเข้าบัญชีของมูลนิธิทั้งหมดหาได้เป็นรายได้ของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใดไม่ โดยมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 5-6 ปี หากไม่สามารถชี้แจงได้ก็ต้องถูกบังคับให้ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมซ้ำซ้อนกับภาษีรายได้ที่ตนเองได้จ่ายไปแล้ว
เราเรียกร้องให้มีการดำเนินการในการเก็บภาษีในส่วนที่เป็น "รายได้" หรือ "ค่าตอบแทน" ต่อมูลนิธิและองค์กรต่างๆที่รับทุนจากสสส.เฉกเช่นเดียวกันกับบุคคลหรือองค์กรอื่นๆ ที่เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ หาได้เรียกร้องให้มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
1.5 นับตั้งแต่เกิดเหตุกรณีการเรียกเก็บภาษีทั้งในกรณี 1.2 และ 1.3 สำนักงานและผู้บริหารของสสส.ซึ่งถูกตรวจสอบจากสตง.และคตร.อย่างเข้มงวดไปพร้อมๆกันด้วย มิได้มีบทบาทในการช่วยเหลือหรือชี้แจงกรมสรรพากรแต่ประการใด มูลนิธิและองค์กรต่างๆรวมทั้งกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องดิ้นรนแก้ปัญหาเรื่องนี้ไปตามลำพัง และมีการรวมตัวกันนับร้อยองค์กรเพื่อกดดันให้สำนักงานสสส.มาช่วยแก้ปัญหานี้เมื่อเร็วๆนี้ จนบัดนี้ปัญหาดังกล่าวยังไม่คลี่คลายลงแต่ประการใด สร้างความทุกข์ให้กับเจ้าหน้าที่ รวมถึงข้าราชการจำนวหนึ่งที่ทำงานและเป็นอาสาสมัครในองค์กรสาธารณประโยชน์เหล่านี้
2. กรณีการขอรับทุนการดำเนินกิจกรรมจากสสส.
มูลนิธิและองค์กรต่างๆเห็นว่าสสส.เป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับประเด็นสุขภาวะ และเห็นว่าเป็นสิทธิขององค์กรต่างๆเหล่านี้ที่จะขอรับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของตน เมื่อสัญญาที่สสส.ได้ลงนามกับมูลนิธิและองค์กรต่างๆถูกระงับ ชะลอ หรือไม่มีการอนุมัติงวดเงินตามสัญญา ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานในหลากหลายรูปแบบ ทั้งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ด้อยโอกาสที่จะเสียประโยชน์ และผลกระทบต่อองค์กรต่างๆเอง ตั้งแต่การขาดค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงการไม่สามารถจ่ายค่าสถานที่หรือค่าจ้างกิจกรรมต่างๆที่ได้ตกลงไปล่วงหน้าแล้วกับบุคคลอื่น การลุกขึ้นมาเรียกร้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมูลนิธิและองค์กรต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสสส.กับรัฐบาลชั่วคราว
การมีอยู่ของมูลนิธิและองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆในแต่ละสังคมเป็นพัฒนาการของแต่ละสังคม ดังที่เมื่อ 3 ทศวรรษก่อนได้เริ่มเกิดองค์กรสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมากในสังคมไทยและส่วนใหญ่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ แต่เมื่อแหล่งทุนสนับสนุนจากต่างประเทศได้ย้ายไปให้การสนับสนุนแก่ประเทศที่มีรายได้น้อย พร้อมกับการเกิดขึ้นขององค์กรภาครัฐที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมบางด้านเช่นสสส. เรื่องนี้เป็นสิทธิขององค์กรภาคประชาสังคมจะขอรับการสนับสนุนจากองค์กรภายในประเทศแทนองค์กรระหว่างประเทศตามที่เคยเป็นมา และในอนาคตภายหน้าหากสังคมไทยไม่เห็นความจำเป็นการมีอยู่ของมูลนิธิและองค์กรสาธารณประโยชน์ใด องค์กรเหล่านั้นก็ค่อยหมดบทบาทไปในที่สุดเอง
3. ปัญหา ความบกพร่องและความจำเป็นในการปฏิรูปสสส.
เราเห็นว่าการดำรงอยู่ของสสส. สปสช. หรือกลไกอื่นๆที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพที่กระจายการผูกขาดและรวมศูนย์เกี่ยวกับการส่งเสริมระบบสุขภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสุขภาพและการที่ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูประบบสุขภาพไม่ให้รวมศูนย์อยู่ภายใต้ระบบราชการเหมือนที่เคยเป็นมา สสส.เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบ
เราเห็นสอดคล้องกับหลายฝ่ายว่า สสส.ควรปรับปรุง ในเรื่องต่างๆ ตามที่คุณใบตองแห้ง และคนอื่นๆแสดงความเห็น เช่น การลดกิจกรรมที่เป็นงานจัดประชาสัมพันธ์หรือการจัดอีเว้นท์ต่างๆลง เพิ่มการสนับสนุนโครงการแก่องค์กรและประชาชนเพื่อสร้างความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มโครงการ กิจกรรม และทุ่มเทงบประมาณที่มีเป้าหมายสำหรับกลุ่มคนด้อยโอกาส รวมถึงการทบทวนทัศนคติท่าทีในการรณรงค์ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าปัญหาพฤติกรรมเกี่ยวกับการเสพสุราเป็นปัญหาเฉพาะคนยากจน ขาดความเข้าใจมิติทางสังคมวัฒนธรรม และรวมไปถึงการตั้งคำถามกับตัวเองว่าท่าทีและการดำเนินงานแบบใดที่ทำให้ถูกมองว่ายกตนเองว่าเหนือกว่าบุคคลอื่น การยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ
ในฐานะที่เป็นภาคีซึ่งสัมพันธ์กับ สสส.มาโดยต่อเนื่องเราเห็นว่า "สสส." ประกอบไปด้วยคณะและกลุ่มบุคคลที่มีสถานะและบทบาทหลากหลายมาประกอบกัน แต่ละกลุ่มต่างมีทั้งข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดแตกต่างหลากหลายออกไป ตัวอย่างเช่น กลุ่มแพทย์และบุคคลากรอาวุโสซึ่งมีส่วนในการบุกเบิก สสส.มาตั้งแต่เริ่มต้น กลุ่มองค์กรหรือมูลนิธิซึ่งสังกัดหรือเกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขที่ใกล้ชิดกับ สสส. คณะกรรมการบริหารของ สสส.ซึ่งมาจากภาคราชการและภาคประชาสังคม กลุ่มของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสำนักงานกองทุนฯ และภาคีซึ่งประกอบไปด้วยมูลนิธิและองค์กรขนาดเล็กที่ทำงานกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
พร้อมกับการต่อสู้เพื่อต่อต้านอำนาจไม่ชอบธรรมที่ต้องการยึดครอง สสส. ขบวนการฯซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่มาจากกลุ่มมูลนิธิและองค์กรขนาดเล็ก เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสสส.ภาคส่วนต่างๆข้างต้นต้องปฏิรูปและปรับปรุงองค์กรไปพร้อมๆกันด้วย เช่น ต่อต้านการนำองค์กรไปใกล้ชิดกับกลุ่มผู้มีอำนาจหรือมีผลประโยชน์ทางการเมือง สนับสนุนให้ออกระเบียบใหม่ที่ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการและผู้ได้ประโยชน์จากการรับทุนอย่างเข้มงวด การเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการและกรรมการระดับต่างๆให้มีผู้ที่มีผลงานและประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาด้านต่างเข้ามามีบทบาทใน สสส.ให้เพิ่มมากขึ้นไม่ให้จำกัดเฉพาะกลุ่มเดิม ปรับทิศทางการทำงานให้ใกล้ชิดกับองค์กรภาคประชาสังคมโดยตรงมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรประชาชน แทนการทำงานผ่านผู้เชี่ยวชาญซึ่งอยู่ในเครือข่ายใกล้ชิด สสส.เป็นหลักเช่นที่ผ่านมา กระจายระบบการสนับสนุนทุนให้มีการตัดสินใจในระดับภูมิภาค ประเมินผลการดำเนินงานของ สสส. และการประเมินการทำงานของผู้บริหารของ สสส.โดยโปร่งใสและมีส่วนร่วมโดยภาคีให้มากขึ้น เป็นต้น
ขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนเห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นกับ สสส.ได้ทำให้ทั้งภาคีต่างๆ รวมทั้งประชาชน และสื่อมวลชนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการนำเสนอความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนากลไกการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อให้เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เราเชื่อมั่นในพลังของประชาชนมากกว่าการฝากอนาคต “การปฏิรูป” ในมือของผู้มีอำนาจ
ขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน (Thai Health Movement)
9 มกราคม 2559


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top