นักบินอวกาศรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์บนสถานีอวกาศอย่างไร ?
จริงอยู่ที่ไม่เคยเกิดเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ครั้งใหญ่บนสถานีอวกาศนานาชาติมาก่อน แต่หากเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ?
ตอนที่ทิม พีค นักบินอวกาศอังกฤษ ทะยานขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เขารู้ว่าการฝึกอบรมด้านการแพทย์รวม 40 ชั่วโมงที่เขาได้รับ ทำให้เขาพร้อมรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพส่วนใหญ่ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ประจำอยู่บนสถานีอวกาศ โดยนอกจากทักษะด้านการช่วยชีวิตแล้ว เขายังได้เรียนรู้วิธีเย็บแผล ฉีดยา และแม้กระทั่งถอนฟัน
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐฯ (นาซา) เปิดเผยว่า การฝึกอบรมนี้จะเตรียมเขากับนักบินอวกาศบนสถานีให้พร้อมรับปัญหาด้านการแพทย์ที่พบบ่อยที่สุดบนสถานี เช่น อาการเมาสถานี ปวดศีรษะ ปวดหลัง อาการทางผิวหนัง ไฟลวก และกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับฟัน แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ร้ายแรงกว่านี้พวกเขาจะทำอย่างไร ?
อุปกรณ์การแพทย์บนสถานีอวกาศนั้น มีเฉพาะอุปกรณ์พื้นฐาน อย่างชุดปฐมพยาบาล หนังสือว่าด้วยอาการทางร่างกายเล่มโต และอุปกรณ์การแพทย์ที่เป็นประโยชน์บางอย่าง เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ อัลตราซาวนด์แบบพกพา อุปกรณ์สำหรับมองเห็นลึกเข้าไปในดวงตา และน้ำเกลือ 2 ลิตร แม้เครื่องอัลตราซาวนด์น้ำหนักเบาจะสามารถทำให้เห็นภาพภายในร่างกายมนุษย์ แล้วส่งกลับไปยังทีมแพทย์บนโลกเพื่อวินิจฉัย แต่บนสถานีอวกาศไม่มีวิธีที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเลย
ดร. เดวิด กรีน อาจารย์อาวุโสด้านสรีรวิทยาอวกาศแห่งคิงส์คอลเลจในลอนดอนกล่าวว่า ทางเลือกที่ดีกว่านั้น คือการส่งคนไข้กลับโลกโดยยานอวกาศโซยูซ ซึ่งจอดเทียบสถานีอวกาศอยู่ และจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง แต่บนยานโซยูซก็ไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตเช่นกัน นอกจากนี้คนไข้ยังจะต้องเผชิญกับความกดต่อร่างกายขณะกลับเข้าสู่บรรยากาศของโลก ซึ่งในกรณีนักบินอวกาศที่มีสุขภาพแข็งแรง ก็ยังสร้างความไม่สบายตัวอย่างมากอยู่แล้ว ดังนั้นในกรณีคนไข้หนักยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ดร. กรีนกล่าวต่อไปว่า นักบินอวกาศบนสถานีได้รับการสอดส่องสุขภาพจากทีมที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นความเสี่ยงที่จะเกิดอาการป่วยรุนแรงจึงน้อยมาก แต่ก็ยังคงมีอยู่ คือราว 1-2 เปอร์เซ็นต์ต่อคนต่อปี
ในเมื่อนาซามีแผนการจะส่งยานที่มีมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ดาวอังคาร และอื่น ๆ ความจำเป็นในการปรับปรุงการดูแลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์จึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว การส่งแพทย์ผู้มีคุณสมบัติเดินทางไปด้วยจึงอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ยามอยู่ห่างไกลจากโลกนับพันนับหมื่นกิโลเมตร
นอกจากนี้นาซายังมีแผนจะเปลี่ยนแปลงหุ่นยนต์ให้เป็นศัลยแพทย์บนอวกาศ โดยขณะนี้หุ่นยนต์ “โรโบนอท2” ได้ประจำอยู่บนสถานีอวกาศแล้ว เพื่อทำหน้าที่ด้านการแพทย์ขั้นพื้นฐานซึ่งควบคุมได้จากบนพื้นโลก โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า มันจะทำการผ่าตัดอันซับซ้อนได้ในที่สุด แม้ว่าในขณะนี้จะยังอยู่ห่างไกลความเป็นจริงมากพอสมควรก็ตาม #ISS #SpaceExploration
แฟ้มภาพ (ภาพประกอบ) นักบินอวกาศในยานโซยูซ
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น