สั่งยิงแก๊สน้ำตาผิด สั่งใช้กระสุนจริงไม่ผิด มาตรฐาน ปปช.ชุดปานเทพ-วิชา มหาคุณ
คดีจะกลับไปวัดใจศาลอุทธรณ์ ว่าจะรับฟ้องหรือไม่ หลังศาลอาญาไม่รับฟ้องก่อนหน้านี้ อ้างว่าเป็นอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง แต่ยังดีที่อธิบดีศาลอาญาขณะนั้นทำความเห็นแย้งไว้เป็นหลักให้อ้าง ปปช.มีอำนาจชี้มูลความผิด 157 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้่าที่มิชอบ ไม่มีอำนาจชี้คดีฆ่าคนตาย แล้วฆ่าคนตายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตรงไหน?
ถ้ามาร์ค-เทือก ไม่ผิดจะต้องกลัวอะไร ก็ไปสู้กันในศาลอาญาสิ ในคดีสั่งให้ฆ่า มาตรา 288-84-87 (ออกคำสั่งโดยเล็งเห็นได้ว่าจะมีคนตาย) มีตั้ง 3 ศาลให้สู้ ถ้าถึงฎีกาแล้วศาลท่านตัดสินแบบคดีพันธมิตรขับรถชนตำรวจ (ลดโทษ 33 ปีเหลือ 2 ปี 16 เดือน) แบบคดีเสื้อแดงเผาศาลากลาง (เพิ่มโทษ 1 ปีเป็นตลอดชีวิต) ก็ถือว่าสู้ถึงที่สุดแล้วในกระบวนการยุติธรรม
เพียงแต่สังคมจะอยู่ร่วมกันได้ "ปรองดอง" กันได้ ก็ต้องมีความยุติธรรม ถ้าคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถให้ความยุติธรรม ก็จะหันไปใช้กำลัง
คสช.จะเอา ม.44 มาปรองดอง ถามว่าปรองดองด้วยอำนาจทำได้หรือ ไม่มีหรอก มีแต่ฝ่ายหนึ่งเอาชนะ ปราบอีกฝ่ายราบคาบ แล้ว "ให้ความเมตตา" (ยอมจำนนไม่ฆ่า) แต่กดหัวไว้ ถ้าคิดว่าจะกดคนที่คับแค้นจากการเข่นฆ่าและคดีความปี 53 ได้ตลอดไป ก็ลองดู
000000
ป.ป.ช. ชุดท่านวิชา มหาคุณ สั่งลาเก้าอี้ส่งท้ายปีเก่า ปิดคดีอภิสิทธิ์-สุเทพ สั่งใช้กระสุนจริงสลายการ ชุมนุมนปช. เมื่อปี "53 ว่าไม่มีความผิด แม้ทำให้คนตาย 99 ศพ ก็เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ
ต่างกับคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ ที่รัฐสภา เมื่อ 7 ตุลาฯ 51 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 ศพ ป.ป.ช.ชุดเดียวกันชี้มูลความผิดอดีตนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตรองนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตผบ.ตร. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบช.น. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ทั้งที่สั่งให้ใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม
แก๊สน้ำตาผิด กระสุนจริงไม่ผิด แน่ละ ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเสื่อมสภาพ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส แต่รัฐบาลและตำรวจก็ไม่คาดคิดมาก่อน อ้าวก่อน 7 ตุลาฯ คุณเคยเห็นแก๊สน้ำตาทำให้คนตายเจ็บขนาดนี้ไหม แต่ป.ป.ช.ก็ยังเอาผิดได้ โดยชี้ว่าเมื่อเห็นแก๊สน้ำตาทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นแล้ว ทำไมอดีตนายกฯ รองนายกฯ ผบ.ตร. ผบช.น.ไม่สั่งให้หยุด ปล่อยให้ยิงแก๊สน้ำตาตั้งแต่เช้าจนค่ำ
ขณะที่คดีอภิสิทธิ์ สุเทพ สั่งใช้กระสุนจริง พลแม่นปืน "กระชับพื้นที่" ตั้งแต่วันที่ 14-19 พ.ค. มีคนตายตั้งแต่วันแรกๆ ก็ยังไม่สั่งหยุด ท่านกลับไม่ว่าอะไร ท่านชี้ว่า ศอฉ.สั่งใช้กระสุนจริง ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ป้องกันตัวจาก "ชายชุดดำ" เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่เองที่ต้องใช้กระสุนจริงอย่างระมัดระวัง ถ้าใช้เกินสมควรแก่เหตุ ก็เป็นความผิดเฉพาะตัว
จำให้ขึ้นใจนะครับ ทหารชั้นผู้น้อย รัฐบาลสั่งให้คุณเข้าสลายม็อบโดยใช้กระสุนจริง ถ้าคุณยิงคนตายก็รับผิดชอบเอง รัฐบาลไม่เกี่ยว
แต่ช้าแต่ อภิสิทธิ์-สุเทพ อย่าเพิ่งโล่งใจ คดีนี้ยังไม่จบ เพราะที่ป.ป.ช.ชี้คือไม่ผิดมาตรา 157 "ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ" แต่คดีที่อัยการและญาติผู้ตายฟ้องคือความผิด "ฆ่าคนตาย" ตามมาตรา 288 บวก 84 ฐานใช้ให้เจ้าหน้าที่ไปฆ่าคน
คดีนี้ศาลอาญายกฟ้องเมื่อปี "57 โดยเห็นว่าโจทก์กล่าวหาว่าทำความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ เป็นการออก คำสั่งโดยมิชอบ จึงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ซึ่งต้องร้องป.ป.ช.)
แต่ท่านธงชัย เสนามนตรี อธิบดีศาลอาญาขณะนั้น ทำความเห็นแย้งว่าโจทก์ฟ้องความผิด "ฆ่าคนตาย" ไม่ใช่ฟ้องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คำฟ้องระบุว่าจำเลยสั่งอนุมัติใช้อาวุธกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืน จำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลว่าเจ้าพนักงานจะใช้อาวุธสงครามยิงประชาชนได้ จึงเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งราชการ เป็นการก่อหรือใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
ท่านธงชัยยังเห็นว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนเฉพาะ ความผิด 157 ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนความผิดฆ่าคนตายซึ่งมีโทษจำคุก 15-20 ปีไปจนประหารชีวิต ถ้าป.ป.ช.ชี้ว่าไม่มีมูลก็มีผลเฉพาะ 157 ไม่มีผลต่อความผิดฐานใช้ให้ฆ่าผู้อื่น
ดังนั้น ก็ต้องรอฟังศาลอุทธรณ์ว่าจะสั่งรับคดีหรือไม่ อย่าเพิ่งโล่งใจ ญาติผู้เสียชีวิตที่ศาลชี้ว่าตายด้วยกระสุนทหาร ยังมีอายุความให้ฟ้องถึงปี 2573 โดยแนะนำให้ฟ้องมาตรา 288+84+87 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าโดยพฤติการณ์อาจเล็งเห็นได้ว่า" ผู้ออกคำสั่งก็ต้องรับผิดอย่างเลี่ยงไม่พ้น
อ้าว ถ้าไม่ได้ทำผิดจะต้องกลัวอะไร ก็สู้คดีกันไปสิครับ ถ้าคดีถึงที่สุดมีคำพิพากษาให้เห็นกระจ่าง แบบคดีเผาศาลากลางอุบลฯ ที่ศาลฎีกาท่านเพิ่มโทษจาก 1 ปีเป็นจำคุกตลอดชีวิต หรือคดีพันธมิตรขับรถชนตำรวจ ที่ศาลฎีกาท่านลดโทษจากจำคุก 33 ปี เป็น 2 ปี 16 เดือน ก็ถือว่าได้ต่อสู้จนถึงที่สุดแล้วในกระบวนการยุติธรรม
คสช.กำลัง คิดจะใช้ ม.44 "ปรองดอง" แต่การปรองดองไม่สามารถเกิดได้ถ้าไม่มีความยุติธรรม ซ้ำถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถให้ความยุติธรรม คนก็จะข้ามไปต่อสู้ในกระบวนการอื่น ซึ่งเลี่ยงไม่พ้นใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง ใช้อารมณ์ ความโกรธแค้น
การปรองดองไม่เคยเกิดได้ด้วยการใช้อำนาจ นั่นไม่ใช่ปรองดอง แต่เป็นการใช้กำลังปราบฝ่ายตรงข้ามให้ยอมจำนน บังคับให้ตกเป็นเบี้ยล่างตลอดไป
ถามจริงจะบังคับให้คนเจ็บแค้นเจ็บปวดจากคดีชุมนุมปี "53 เป็นเบี้ยล่างตลอดไปได้ไหม ถ้าคิดว่าทำได้ ก็ลองดู
source :- http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1452258075
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น