0


สถานการณ์เลวร้ายในตลาดหลักทรัพย์จีนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เรียกความทรงจำถึงเหตุการณ์คล้ายกันช่วงกลางปี 2558 ที่ฟองสบู่ตลาดหุ้นแตกและตามมาด้วยการดำเนินนโยบายแบบคาดไม่ถึงของรัฐบาลแดนมังกร
ความพยายามยับยั้งการทิ้งดิ่งของตลาดหุ้นด้วยมาตรการระงับการซื้อขายทั้งวันที่เหลือ (circuit breaker) หลังดัชนี CSI 300 ของหุ้นพื้นฐานดีในตลาดเซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้น ร่วงมากกว่า 7% ตั้งแต่วันแรกที่เปิดตลาดวันแรกของปี 2559 และซ้ำรอยในอีก 3 วัน

ถัดมา ถูกนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า แทบไม่ต่างจากการใช้มาตรการเหนือความคาดหมายเพื่อกอบกู้ตลาดหุ้นในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมปีที่แล้ว โดยเฉพาะการห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้นเป็นเวลา 6 เดือน

"ทางการจีนอยู่ในสภาพหมดสิ้นหนทาง" นายจาง กัง นักวิเคราะห์จากเซาธ์เวสต์ ซีเคียวริตีส์ให้ความเห็น พร้อมระบุว่า การร่วงหนักของดัชนีตลาดหุ้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจในภาวะที่มาตรการห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น ซึ่งแช่แข็งหลักทรัพย์มูลค่ากว่า 1.24 ล้านล้านหยวน (189,3000 ล้านดอลลาร์) กำลังหมดอายุลง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเหมือนการปล่อยผีที่จะตามมาด้วยการเทขายขนานใหญ่ เว้นแต่ภาครัฐจะตัดสินใจขยายมาตรการดังกล่าวออกไปอีก จนกว่าจะคลอดกฎเกณฑ์ถาวรในการควบคุมการซื้อขาย

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนอาจจะลืมไปว่าปัจจัยที่ส่งต่อความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นไม่ได้อยู่ที่การวางกฎระเบียบเท่านั้น

อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันหรืออาจมีอิทธิพลมากกว่าด้วยซ้ำคือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน ที่หลายคนวิตกกันว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปีที่แล้วส่อเค้าลดต่ำกว่า 7% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้

อีกปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ การฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนหลังเดือนสิงหาคมปีกลาย จนราคาหุ้นกลับมาสูงเกินพื้นฐานอีกครั้งแม้ว่าจะต่ำกว่าช่วงก่อนฟองสบู่แตกก็ตาม เมื่อแรงผลักดันเหล่านี้มาผนวกกันจึงเกิดภาวะเทขายอย่างหนักตั้งแต่วันแรกที่เปิดตลาดหลังฉลองปีใหม่

ขณะนี้ เกิดความกังวลว่าคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของจีน จะไม่สามารถดูแลราคาหุ้นที่ระดับปัจจุบันได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะหาทางให้ราคาหุ้นขยับขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลจีนมีกำหนดจะเปิดเผยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในวันที่ 19 มกราคมนี้ ที่ถูกคาดการณ์ว่า จะลดต่ำสุดในรอบ 25 ปี

นายเฟรเซอร์ โฮวี ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาตลาดทุนจีนถึงกับออกปากว่า "ปีศาจของปี 2558 ที่เคยคิดว่ากำจัดหมดแล้วกลับมาหลอกหลอนอีกครั้งในปี 2559"

ไฟแนนเชียล ไทมส์ มองว่า ใจกลางของปัญหามาจาก "ความลักลั่นย้อนแย้ง" รูปแบบคลาสสิกที่พรรคคอมมิวนิสต์ยุคใหม่ต้องเผชิญ ในการดำเนินนโยบายให้กลไกตลาดเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็วิตกกับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับกลไกตลาด จึงไม่พร้อมที่จะสละอำนาจในการชี้นำตลาดเสียทั้งหมด นำไปสู่ปัญหา "การเอาแน่เอานอนไม่ได้" ของทางการจีนในการกำกับดูแลตลาดหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน

ตัวอย่างความย้อนแย้งที่ชัดเจน เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนยอมปล่อยให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น จากเดิมที่จะกำหนดค่าเงินหยวนอ้างอิงรายวันตามต้องการ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ธนาคารกลางจีนกลับเทขายทุนสำรองที่เป็นเงินดอลลาร์ออกมาเพื่อพยุงค่าเงินหยวนไม่ให้ร่วงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับดอลลาร์

ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของธนาคารกลางจีนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันพุธที่ผ่านมา แบงก์ชาติจีน กำหนดค่าเงิน อ้างอิงรายวันแข็งค่ากว่าระดับการปิดตลาดของวันอังคารอย่างมีนัยสำคัญ และต่อมาในวันพฤหัสฯ กลับปรับลดค่าอ้างอิงลงจากวันพุธถึง 0.5% ซึ่งสร้างความสับสนให้กับนักลงทุนและซ้ำเติมความผันผวนในตลาดหุ้น

"ผู้กำกับดูแลตลาดเงินในจีนยังขาดความเข้าใจว่า ควรบริหารจัดการตลาดเงินยุคใหม่ให้เหมาะสมอย่างไร" นายอาเธอร์ ครอเบอร์ จากบริษัทที่ปรึกษากาเวกัล ดรากอนโนมิกส์กล่าว แต่ น.ส.เจ้า เฉียวเล่ย

นักเศรษฐศาสตร์จากแกแล็กซี่ ซีเคียวริตีส์เห็นต่างว่า ไม่ยุติธรรมที่จะกล่าวหาว่า ก.ล.ต.จีนกลับไปกลับมา เพราะตลาดหุ้นจีนยังขาดความสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องเคลื่อนไหวตามสถานการณ์เฉพาะหน้า "ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก"

ดราม่าที่เกิดขึ้นช่วงสัปดาห์แรกของปีนี้ กระตุ้นเกิดความคาดหมายว่า ทางการจีนจะยื่นมือเข้ามาแทรกแซงตลาดหุ้นครั้งใหญ่อีกรอบ ไม่เช่นนั้นอาจจะได้เห็น เซอร์กิตเบรกเกอร์ทุกวันในตลาดหุ้นจีน

source :-  http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1452335304


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top