0

ทั้งรักทั้งชัง: ความสัมพันธ์ระหว่าง “ฮุนเซน” กับเฟซบุ๊ก
สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หันมาใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองอย่างจริงจัง ทั้งการปราศรัยสดผ่านเฟซบุ๊ก โพสต์รูปถ่ายส่วนตัว รวมไปถึงเผยแพร่ข่าวสารอย่างเป็นทางการ แต่ขณะเดียวกันก็ขู่ใช้กฎหมายจัดการผู้ใช้เฟซบุ๊กที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวผู้นำและรัฐบาลไปด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฮุนเซนเตือนผู้ใช้โซเชียลมีเดียให้เลิกดูหมิ่นจาบจ้วงตัวเขาหรือไม่อย่างนั้นก็จะต้องถูกจับ และบอกว่าการปกปิดตัวตนในอินเตอร์เน็ตนั้นใช้ไม่ได้ผล “ถ้าผมต้องการจัดการคุณ เราก็จะถึงตัวคุณภายในเวลาเจ็ดชั่วโมงเป็นอย่างมาก” เขาระบุชื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งในระหว่างการปราศรัย อีกสองสามวันต่อมา ฮุนเซนก็เตือนอีกครั้งหนึ่งสำหรับ “พวกสุดโต่ง” ในพรรคฝ่ายค้าน กล่าวหาว่าพวกเขาตัดต่อภาพถ่ายของภรรยาของเขาและเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก เขาบอกว่าคนที่ทำต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
เฟซบุ๊กได้กลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างจริงจังในกัมพูชาตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2556 ที่ฮุนเซนเกือบแพ้ ในปีนั้น ผู้ออกเสียงรุ่นใหม่รณรงค์สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านโดยใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและประสานงานต่างๆ ตอนนี้เฟซบุ๊กกลายเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของชาวกัมพูชารองลงมาจากโทรทัศน์
การหวุดหวิดจะแพ้ครั้งนั้นที่พรรคของเขาเสียที่นั่งในสภาไป 22 ที่นั่ง ทำให้ต้องมีการปรับตัวเรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดียจากฝ่ายตรงข้าม ในเดือนกันยายน ฮุนเซนยอมรับว่าหน้าเฟซบุ๊กที่ได้ใช้ชื่อเขามานานแล้วคือเพจที่เป็นทางการของเขา (ถึงจะปฏิเสธว่าไม่ได้จัดการเองก็ตาม) หลังจากหน้าดังกล่าวมีผู้กดไลค์ไปหนึ่งล้านครั้ง ส่วนเพจของคู่ปรับคนสำคัญของเขาคือ สม รังสี มีผู้กดไลค์เกือบสองล้านครั้ง
ตอนนี้ผู้นำกัมพูชามีการปราศรัยสดทางเฟซบุ๊ก โพสต์รูปเซลฟี และอัพโหลดเอกสารและภาพถ่ายต่างๆ ตั้งแต่รูปหลานๆ ไปจนถึงสหายเก่าแก่ที่นอนป่วยอยู่บนเตียง นอกจากนี้เขายังมีเว็บไซต์ส่วนตัวใหม่และแอ็พพ์ฮุนเซนสำหรับโทรศัพท์แอนดรอยด์ (ไอโอเอสจะตามมาในเร็วๆ นี้) และตอนนี้หน้าเฟซบุ๊กของเขามีคนกดไลค์ 1.7 ล้านครั้งและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่ถึงจะหันมาใช้โซเชียลมีเดียอย่างขมักเขม้น สมเด็จฮุนเซนก็ไม่ยอมลดราวาศอกให้กับสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น บล็อกเกอร์ชาวกัมพูชารายหนึ่งบอกว่าการนิยามว่าอะไรคือการดูหมิ่นในตำราของฮุนเซนนั้นเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้เลย และการเตือนของฮุนเซนทำให้หลายคนต้องคิดแล้วคิดอีกก่อนจะโพสต์อะไรลงไป
เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นักศึกษารัฐศาสตร์อายุ 25 ปีรายหนึ่งถูกตัดสินจำคุกในข้อหายุยงปลุกปั่นหลังจากเขียนลงในเฟซบุ๊กว่าเขาอยากให้ประชาชนมาเข้าร่วม “การปฏิวัติสี” เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม และในเดือนเดียวกัน ฮุนเซนสั่งให้จับกุมวุฒิสมาชิกสังกัดพรรคฝ่ายค้านรายหนึ่งในข้อหาโพสต์คลิปวิดิโอบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเอกสารรัฐบาลที่ถูกปลอมแปลง นอกจากนี้ยังมีการออกหมายจับนายสม รังสีกับพวกอีกสองคนในทีมงานโซเชียลมีเดียที่ได้หนีออกไปจากกัมพูชาแล้วเกี่ยวกับการโพสต์ของวุฒิสมาชิกคนดังกล่าว

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top