0
จำเป็นไหมที่โลกนี้ต้องมีสถานะทางเพศมากกว่าแค่ชายและหญิง
ปัจจุบันมีผู้เลือกที่จะไม่ระบุสถานะทางเพศของตนว่าอยู่ในกลุ่มผู้หญิงหรือผู้ชายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะมีเหตุผลแตกต่างกันไป ขณะที่บางคนอาจจะกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเพศหนึ่งไปสู่อีกเพศหนึ่ง ขณะนี้ เยอรมนี ออสเตรเลีย เนปาล และปากีสถาน ต่างเสนอตัวเลือกเพศที่สามให้แก่พลเมืองของตนไว้ในเอกสารทางราชการ และมีอีกหลายประเทศมีแผนจะทำตาม แต่ในทางปฏิบัติคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับความเสมอภาคทางด้านกฎหมายอย่างแท้จริง อาทิ เรื่องสิทธิ์ในการแต่งงาน ขณะเดียวกัน บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็พบหลักฐานมากขึ้นที่บ่งชี้ว่า แม้แต่เพศสรีระเองก็เป็นสิ่งที่แปรผันได้ รายการ The Inquiry ของบีบีซีเวิลด์เซอร์วิส ได้พูดคุยผู้เชี่ยวชาญหลายคนเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
หนึ่งในนั้นก็คือ ไบรอัน บิกซ์บี ซึ่งเติบโตขึ้นมาในฐานะเด็กผู้ชาย และเคยใช้ชีวิตอย่างชายปกติทั่วไป เขาแต่งงานและมีลูก ก่อนที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตแบบคนที่มีอัตลักษณ์ทั้งสองเพศ ทั้งชายและหญิง เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Bigender.net ซึ่งมีทัศนะว่า เพศเป็นเพียงเรื่องของความคิด เจ้าตัวบอกว่า เลือกที่จะแสดงออกในแบบของผู้หญิง ก็เพราะใจจริงเขาอยากเป็นผู้หญิง ไม่ใช่สาวประเภทสองที่แต่งกายเลียนแบบผู้หญิง เขาชี้ว่าเรื่องเพศเป็นการตีความทางวัฒนธรรมที่กำหนดอย่างตายตัวว่าเพศคืออะไร และมีลักษณะอย่างไร โดยเฉพาะในแถบตะวันตกที่มองแบบขาวกับดำ คือมีแค่เพศหญิง และชายเท่านั้น
บิกซ์บี กล่าวว่า โดยปกติแล้วเขามักแสดงออกเป็นผู้หญิง ยกเว้นในที่ทำงานและโรงเรียนลูกที่เขาแสดงออกเป็นผู้ชาย เพราะเหนื่อยที่จะต้องอธิบายเรื่องเพศที่ไม่มีความตายตัวและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ให้ทุกคนเข้าใจ เขาได้แต่หวังว่าสังคมจะไม่ทำให้เรื่องเพศเป็นประเด็นสำคัญทางด้านวัฒนธรรมมากจนเกินไป ซึ่งนั่นจะช่วยให้ผู้คนมีเสรีภาพในการดำเนินวิถีทางเพศของตนได้อย่างสบายใจไม่ยึดติดกับความคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่ตายตัว
นักเขียน มาร์ก เจวิสเซอร์ ได้ศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศในวัฒนธรรมต่างๆ และพบว่า แม้เรื่องชายหรือหญิงข้ามเพศจะไม่ใช่สิ่งที่พบเห็นอย่างแพร่หลายในสังคมตะวันตก แต่ในหลายวัฒนธรรมก็มีกลุ่มคนเพศที่สามในสังคมมาแต่ดั้งเดิม โดยในอินเดียเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ฮิจร่า” ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของคนที่มีสองจิตวิญญาณในวัฒนธรรมชนพื้นเมืองอเมริกัน เช่นเดียวกับวัฒนธรรมของเม็กซิโก และฟิลิปปินส์ที่ต่างก็มีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับบุคคลเพศที่สามเหล่านี้ และแม้ปัจจุบันที่ยืนในสังคมของคนเพศที่สามเริ่มลดลงจากการแพร่เข้าไปของแนวคิดทางศาสนาแบบจูเดโอ-คริสเตียน (แนวคิดของศาสนายูดาย) และวัฒนธรรมตะวันตก แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังมีอยู่ในสังคม
เจวิสเซอร์ ระบุว่า คนเพศที่สามมักถูกกีดกันทางสังคม โดยในอินเดีย ฮิจร่าถือเป็นคนชายขอบที่หาเลี้ยงชีพจากการเป็นขอทานหรือผู้ขายบริการทางเพศ เขาคิดว่าคงจะเป็นเรื่องดีกว่านี้หากสังคมยอมให้คนได้แสดงออกโดยไม่ยึดติดค่านิยมตายตัวเกี่ยวกับเพศ
ดร.อิมรัน มุชทัก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ บอกว่า ปัจจุบันแพทย์ให้การยอมรับถึงความซับซ้อนในการระบุเพศมากขึ้น และว่า เพศวิถีเป็นเพียงเรื่องที่เราคิดขึ้นมา และไม่ได้มีเพศตายตัวเพียงสองเพศเท่านั้น ทั้งยังไม่ได้ขึ้นอยู่กับโครโมโซมหรือเพศสรีระ ในฐานะแพทย์เขาเริ่มรู้สึกไม่เห็นด้วยมากขึ้นกับการผ่าตัดแปลงเพศให้เด็กที่มีปัญหาโครโมโซมกับเพศสรีระไม่ตรงกัน ขณะเดียวกันก็คิดว่าไม่ควรมีการแบ่งเพศออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ หรือระบุลงในสูติบัตร
ทามารา เอเดรียน สมาชิกรัฐสภาที่เป็นสตรีข้ามเพศคนแรกของเวเนซุเอลา ระบุว่าจะต้องร่วมมือกันไปสู่โลกที่ไม่มีเพศที่ตายตัว และแนวคิดเรื่องการกำหนดให้เพศที่สามเป็นสถานะที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย ถือเป็นบททดสอบแรกของการเปลี่ยนไปสู่การยกเลิกการระบุสถานะทางเพศในเอกสารราชการหรือทางด้านกฎหมายในอนาคต เพื่อให้กลุ่มคนเพศที่สามได้รับความเสมอภาคทางกฎหมาย และแสดงอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างเสรี ‪#‎Genders‬ ‪#‎LGBT‬


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top