0
กลุ่มสิทธิมนุษยชนยื่นรายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานผู้ต้องหา ให้เจ้าหน้าที่จังหวัดชายแดนใต้สอบข้อเท็จจริงและกำหนดนโยบายห้ามเด็ดขาด ด้านโฆษก กอ.รมน.ชี้ เป็นข้อมูลบิดเบือน ขอศึกษาเนื้อหารายงานก่อนพิจารณาว่าจะฟ้องกลับหรือไม่

กลุ่มสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจและเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานีได้ร่วมกันจัดทำ ”รายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558” ซึ่งมาจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหาย 54 คนที่ถูกกระทำในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวน 32 ราย ส่วนอีก 17 รายถูกกระทำในระหว่างปี 2547-2556 เสนอต่อแม่ทัพภาคที่ 4 และ พลโทอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาเพื่อสันติสุขของไทย ขอให้สอบสวนและออกนโยบายห้ามการซ้อมทรมานอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่

รายงานที่ทางกลุ่มส่งให้สื่อมวลชน มีเนื้อหาระบุว่าผู้จัดทำได้สัมภาษณ์ผู้ถูกกระทำซึ่งเป็นชายชาวมลายูมุสลิม อายุระหว่าง 19-48 ปี ที่ระบุว่าถูกทำร้ายและทรมานโดยเจ้าหน้าที่เพื่อจะให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพ การซ้อมทรมานเกิดขึ้นทั้งในขั้นตอนการจับกุม การเดินทาง ระหว่างการควบคุมตัว ลักษณะการซ้อมทรมานมีทั้งการทุบตี เตะ ต่อย ตบหัว ถีบ การใช้น้ำเย็นสาดหัว การให้อยู่ในห้องเย็นโดยเปลื้องเสื้อผ้า ทำให้สำลักน้ำ บีบคอ บดหรือขยี้ตามร่างกายและในจุดที่อ่อนไหวเช่นอวัยวะเพศ หน้าอก ศรีษะ จุ่มน้ำ ทำให้สำลักน้ำขณะนอนบนกระดาน (water boarding) ใช้ไม้หรืออุปกรณ์ต่างๆตีหรือเฆี่ยน ใช้ไฟฟ้าช็อต ใช้ถุงดำครอบศีรษะ เป็นต้น

รายงานยกตัวอย่างผู้ให้สัมภาษณ์วัย 34 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่สอบถามเรื่องอาวุธและถูกเตะด้วยรองเท้าบู๊ทของทหาร ถูกเหยียบข้อมือและเอาปืนใส่เข้าไปในปาก มีผู้ถอดรองเท้าและใช้เท้าลูบที่ใบหน้า ผู้ให้สัมภาษณ์อีกรายวัย 29 ปี ถูกจับเมื่อต้นปี 2557 ถูกทหารพรานประมาณสิบคนช่วยกันซ้อมเพื่อให้รับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำผิด ถูกตบหน้า เตะ ถีบ ต่อย เอาปืนจ่อเข้าไปในปาก ถูกทุบ ตบ ถูกนำถุงดำมาคลุมศีรษะ เอาน้ำสาดที่หัว เอาสายไฟรัดคอจนพอเห็นว่าหายใจไม่ได้ก็ปล่อย ในช่วงเช้าเขาถูกพาไปให้แพทย์ตรวจร่างกาย แพทย์ไม่ได้ตรวจแต่ให้ใบรับรองแพทย์ว่าไม่มีการทำร้ายร่างกาย ระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวถูกบังคับให้ลงนามในเอกสาร ถูกขู่ว่าจะเผาบ้าน จะทำร้ายคนในครอบครัว ทั้งถูกให้อยู่ในห้องเย็น ไม่ได้ละหมาด ในที่สุดทนความเจ็บปวดทางร่างกายไม่ไหวต้องยอมลงชื่อ

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่าการจัดทำรายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ปัญหา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้แก้ไขจุดบกพร่องทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เรื่องราวการถูกซ้อมทรมานเช่นนี้คล้ายกับเรื่องร้องเรียนที่เคยส่งให้กับคณะกรรมการต่อต้านการซ้อมทรมานของสหประชาชาติจำนวน 92 กรณีเมื่อปี 2557 และบอกว่า ที่ผ่านมาการพยายามเอาผิดกับผู้กระทำแต่ละคนเป็นไปด้วยความยากลำบาก การร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ยังไม่นำไปสู่การสอบข้อเท็จจริงที่ทำให้ได้ข้อมูลมากพอจะระบุตัวผู้ลงมือรายบุคคลได้ อีกด้านหนึ่งก็ไม่มีข้อมูลว่าภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองมีการค้นหาความจริงกับเรื่องร้องเรียนเช่นนี้มากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่เห็นคือมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ในปัญหาเช่นนี้น้อยมาก

ด้าน พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า จะขอศึกษารายละเอียดของรายงานที่ได้รับ แต่เชื่อว่าเป็นข้อมูลที่บิดเบือน ไม่น่าจะต่างจากที่ทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนเหล่านี้เคยนำเสนอให้สหประชาชาติมาแล้ว

“เป็นความเพ้อเจ้อที่น่าจะเข้าข่ายอีหรอบเดิม คือเป็นจินตนาการที่ไม่มีการตรวจสอบก่อน การรับฟังจากผู้ต้องหาฝ่ายตรงข้ามรัฐจะเขียนอย่างไรก็ได้ เรื่องการซ้อมทรมานนี้เป็นเรื่องที่เราก้าวข้ามไปแล้ว พลเอกอักษราลงมาในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นใจให้องค์กรต่าง ๆ เกี่ยวกับการพูดคุยสันติสุข การมาเสนอประเด็นนี้เป็นการทำลายบรรยากาศ แทนที่จะคุยเรื่องสร้างสรรค์”

พันเอกปราโมทย์กล่าวว่าเรื่องการซ้อมทรมานเป็นประเด็นใหญ่ที่กองทัพเรียนรู้มาโดยตลอด และปัจจุบันแทบจะไม่มีการร้องเรียนเกิดขึ้น ในการจับกุมคนร้ายแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่พยายามใช้กำลังให้น้อยที่สุดและแจ้งผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาให้รับรู้ด้วย

(ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ: ภาพสาธิตวิธีการซ้อมทรมานด้วยการทำให้สำลักน้ำขณะนอนบนกระดาน หรือ water boarding )


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top