ภาพประกอบ ซากช้างแมมมอธที่ถูกค้นพบในครั้งนี้
ซากช้างแมมมอธในรัสเซียพิสูจน์ว่า มนุษย์ตั้งถิ่นฐานแถบอาร์กติกเร็วกว่าหลักฐานเดิม 10,000 ปี
ซากช้างแมมมอธที่ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีและถูกขุดจากตะกอนน้ำแข็งทางภาคเหนือไกลของรัสเซีย พิสูจน์ว่ามีมนุษย์อยู่ในแถบขั้วโลกเหนือเมื่อประมาณ 45,000 ปีก่อน เร็วกว่าที่หลักฐานเดิมบ่งชี้ถึง 10,000 ปี
รายงานซึ่งตีพิมพ์ในวารสารไซน์ ฉบับประจำสัปดาห์นี้ระบุว่า กระดูกของช้างแมมมอธดังกล่าว มีรอยแตกชัดเจน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากอุปกรณ์ล่าสัตว์และเครื่องมือชำแหละที่ทำด้วยหินและมีปลายทำด้วยงาช้างเท่านั้น
การสามารถใช้ประโยชน์จากแมมมอธคือกุญแจสำคัญที่ทำให้บรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานยุคแรกเหล่านี้ สามารถแพร่กระจายและอยู่รอดได้ในแถบขั้วโลกเหนือ เพราะแมมมอธเป็นทั้งแหล่งอาหารให้พลังงานสูง และกระดูกกับงายังเป็นวัตถุที่เหมาะสำหรับใช้ทำอาวุธในสภาพภูมิประเทศที่หาก้อนหินเหมาะสมได้ยากด้วย
นายวลาดิเมียร์ พิทัลโก สมาชิกทีมนักสำรวจที่ค้นพบซากแมมมอธดังกล่าวบอกบีบีซีว่า ลักษณะที่ผู้ตั้งถิ่นฐานในขั้วโลกเหนือเหล่านี้ล่าแมมมอธ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นพรานและช่างทำเครื่องมือที่มีทักษะและทำงานเป็นระบบ
ซากแมมมอธตามรายงานข่าวนี้ ถูกขุดพบจากบริเวณชายฝั่งอันสูงชันทางตะวันออกของอ่าวเยนิเซอันห่างไกลในไซบีเรีย ใกล้กับสถานีอุตุนิยมวิทยาซาปัดชนายา คาร์กา ที่ละติจูด 72 องศาเหนือ โดยมีร่องรอยบาดเจ็บหลายแห่งที่หัวและซี่โครง แต่ที่น่าทึ่งที่สุดคือรอยเจาะที่โหนกแก้มจากแรงกระแทกหนักหน่วง ซึ่งอาจเกิดจากการแทงพลาดเป้าที่เล็งไว้ที่ฐานงา #Mammoth #Siberia
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น