0
ความตื่นตระหนกทางศีลธรรม
Posted: 02 May 2016 08:59 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ความตื่นตระหนกทางศีลธรรม หรือที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Moral Panic กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกครับ ไม่เว้นแต่ในอเมริกาเอง เพียงแต่มันอาจมีแง่มุมของ Moral Panic ที่แตกต่างกัน
ผมกล่าวเช่นนี้ เพราะเชื่อว่าแม้แต่ในวงการนักวิชาการด้านศีลธรรมหรือนักวิชาการด้านศาสนาในเมืองไทยเองก็มีทัศนะที่แตกต่างกันไป สุดแล้วแต่ใครจะมองครับ ซึ่งผมคิดว่าสำหรับนักวิชาการกระแสหลักของไทยแล้ว ความตื่นตระหนกทางศีลธรรมยังเป็นแค่ประเด็นความน่าสะพรึงกลัวในแง่ของความไร้ศีลธรรมหรือความไม่สนใจศีลธรรมของผู้คนในยุคปัจจุบันเท่านั้น พูดง่ายๆก็คือมองว่า Moral Panic ยังเป็นปัญหาศีลธรรมเชิงปัจเจกแบบพื้นๆ โดยทั่วไป แบบคนดีกับโจร เป็นต้น  ซึ่งแน่นอนว่ามันสัมพันธ์กับการกำเนิดค่านิยม 12 ประการและแบบเรียนศีลธรรมของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดกันมายาวนาน 
ความตื่นตระหนกทางศีลธรรมในโลกตะวันตกมีความหมายลึกกว่านี้มาก โดยเฉพาะการถือเอาประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งของความตื่นตระหนกทางศีลธรรมนั้น อีกนัยหนึ่งโลกตะวันตกมองว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นการละเมิดศีลธรรมขั้นพื้นฐาน เพราะเป็นการละเมิดต่อตัวมนุษย์ตามคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์นั่นเอง เหมือนที่ Immanuel Kant (1724–1804) เคยกล่าวไว้ว่า ศีลธรรมเป็นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการทรงคุณลักษณะความเป็นมนุษย์ แต่แล้วท่าทีหรือความคิดของค้านท์เอง กลับถูกตีความแบบไทยๆ ให้แคบอยู่ในความหมายของศีลธรรมพื้นๆ  โดยทั่วในทำนองของ “การตั้งอยู่ในศีลในธรรมของมนุษย์”เท่านั้น
แท้จริงแล้ว ภาพรวมของศีลธรรมในโลกตะวันตกยังได้ผนวกเอาเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความเป็นมนุษย์ไว้ด้วย เช่น สิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออก (การพูด) เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่กำหนดโดยรัฐ หรือนโยบายที่ส่งผลกระทบกับคุณลักษณะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่สูงกว่ากว่าการเบียดเบียนทำร้ายกันทางร่างกายหรือทางจิตใจเพียงอย่างเดียว
นั่นแสดงว่า โลกตะวันตกมองว่าการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์และทำให้ความเป็นมนุษย์นั้นสมบูรณ์และเจริญงอกงาม ศีลธรรมในรูปแบบสิทธิมนุษยชนจึงถูกกำหนดขึ้นมา ซึ่งหากมองจากแง่มุมของอเมริกันแล้ว มันได้ถูกตั้งค่าให้เป็นมาตรฐานในแบบที่เรียกว่า American Standard เลยทีเดียว และกลายเป็นปมของความขัดแย้งกับมาตรฐานทางด้านศีลธรรมของบางประเทศที่ไม่ได้รวมเอาสิทธิและเสรีภาพเข้าไว้ในฐานะ “คุณลักษณะของความเป็นมนุษย์”ไว้ด้วย ซึ่งท่าดังกล่าวนับเป็นความตื่นกระหนกทางศีลธรรมของรัฐอเมริกันอย่างหนึ่ง นอกเหนือไปจากสิ่งสำคัญคือ ความเชื่อมโยงกับการกำหนดหรือสร้างระบอบการปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย”ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อคุณลักษณะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้รัฐอเมริกันจึงเชื่อว่า ความดีหรือความมีศีลธรรมของประชาชน ไม่สามารถประเมินหรือวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม และรัฐไม่สามารถไปบังคับให้พลเมืองต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม หากรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองพลเมืองให้มีมีสถานภาพของความเป็นผู้มีเสรีภาพและมีสิทธิในความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐาน เช่น การแสดงออกซึ่งความเห็นต่างๆ เป็นต้น
ความดีในความหมายของอเมริกันจึง ไม่ได้หมายถึงการมีจิตสาธารณะเพียงอย่างเดียวดังแบบอย่างของค่านิยม 12 ประการเท่านั้น หากยังหมายถึงคุณสมบัติในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในทางที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางศีลธรรมต่อส่วนรวม (สังคม) ขึ้น แต่รัฐก็ไม่ควรหวาดวิตกกับเรื่องการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองดังกล่าว หากควรส่งเสริมให้พลเมืองได้มีสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเสียด้วยซ้ำ เพราะการแสดงออกดังกล่าวถือกันว่าเป็นบันไดไปสู่นวัตกรรม
Thomas Humphrey Marshall กล่าวถึงสิทธิพลเมืองไว้ 3 ประการ กล่าวคือ (1) Civil rights หมายถึงสิทธิบุคคลในกฎหมาย เสรีภาพบุคคลที่จะเลือกดำรงอยู่ ความเสมอภาคความเป็นธรรม (2) political rights หมายถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง และการแสดงความเห็นต่อรัฐบาลหรือผู้ปกครอง และ (3) social rights หมายถึงสิทธิเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สวัสดิการ ความมั่นคง การดูแลด้านสุขภาพ รวมถึงการดูแลพลเมืองหากเกิดการเลิกจ้างงาน หรือการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งรัฐต้องให้การคุ้มครอง
ในแง่ของศีลธรรม ดูเหมือนโลกตะวันตก จะมองไกลไปมากกว่าโลกตะวันออก กับเรื่อง“ของกลาง”ของสังคมมนุษย์ คือ สถานะความเป็นพลเมือง ขณะที่โลกตะวันออกยังคงถกเถียงหรืออภิปรายกันถึงการรู้แจ้งหรือการแก้ไขปัญหาส่วนบุคคลมากกว่าการมองในแง่ของปัญหาการอยู่ร่วมกันของสังคม 
พูดง่ายๆ คือ โลกตะวันออกมองแกนของปัญหาสังคมว่าเกิดจากปัจเจกบุคคล ส่วนโลกตะวันตกมองแกนของปัญหาว่าเกิดจากการกระทำร่วมกันของคนหลายคนในสังคม  โดยเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคนหลายคนในสังคมขนาดต่างๆ ตั้งแต่ระดับครอบครัวขึ้นไปจนถึงระดับรัฐ ซึ่งในระดับรัฐก็หมายถึง ผู้ปกครองนั่นเอง

ในแง่ของพัฒนาการ ก็คือ ตะวันตกได้แยกสกัดประเด็นด้านศีลธรรมซึ่งว่าด้วยการวัตรปฏิบัติเชิงปัจเจกออกจากการเมืองการปกครอง หลังจากผ่านยุคสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment) มาแล้ว จนเกิดสิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองขึ้นมา ซึ่งสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว “เป็นของกลาง” ที่อยู่นอกเหนือไปจากวัตรปฏิบัติทางด้านศีลธรรมเชิงปัจเจก
วัตรปฏิบัติ ส่วนตัวด้านศีลธรรม (ศีลธรรมเชิงปัจเจก) มีความสัมพันธ์กับสิทธิและหน้าที่ของความเป็น พลเมืองในรัฐบ้าง แต่ก็น่าจะเป็นแบบคนละเรื่องเดียวกันมากกว่า เป็นความเหมือนที่แตกต่าง ระหว่างความดีกับการเป็นพลเมืองดี พลเมืองดีไม่ได้หมายถึงคนดี (เชิงศีลธรรม)และคนดี(เชิงศีลธรรม) ก็ไม่ได้หมายถึงผู้ที่เป็นพลเมืองดี
ความเป็นพลเมือง จึงหมายถึง “สถานะแบบกลางๆ ที่ทุกคนพึงเข้าถึงด้วยความเสมอภาค” นั่นคือ การมีสิทธิ เสรีภาพ และทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ถึงที่สุด ขณะที่ “คนดี” เป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องวัตรปฏิบัติส่วนตน ใครจะเข้าถึงความเชื่อของตนอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
ในยุคศาสนาในยุโรปหรือยุคกลาง (Middle Ages) เอง มีการเรียนรู้ (บทเรียน)เรื่องนี้มากที่สุด และเป็นระยะเวลาของการแยกตัวออกจากันระหว่าง “ศีลธรรมเชิงปัจเจก”กับ “ความเป็นพลเมือง” หลังจากยุโรปได้รับบทเรียนการตีความคำสอนหรือหลักศาสนาที่แผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมถึงสถานะความเป็นพลเมือง จนท้ายที่สุดกลายเป็นการจองจำพลเมืองให้ปราศจากเสรีภาพไปโดยปริยาย (ด้วยเงื่อนไขทางศีลธรรมของศาสนา) ต่อมามีการก่อกบฏขึ้น ด้วยการถอดสลักหรือตัวควบคุมโดยศาสนาที่เกิดจากการตีความทำให้เป็นรัฐศีลธรรมของบุคคลในทางศาสนา ก่อให้เกิดการติด “กับดักศักดินา”จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้าง เรียกยุคนั้นว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย การเปลี่ยนผ่านที่รุนแรง ได้แก่การปฏิวัติฝรั่งเศสในระหว่างปีค.ศ. 1789  ถึง 1799 จนเหตุการณ์นี้ ได้กลายเป็นโมเดลสำคัญของการปฏิวัติประชาชนของโลกมาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นความสำเหนียกในความเป็นพลเมือง ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อพูดถึงสิทธิของความเป็นพลเมืองแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ของความเป็นพลเมืองอีกด้วย อย่างน้อยหน้าที่ในขั้นพื้นฐานคือ การเคารพต่อสัญญาประชาคม หรือกฎของการอยู่ร่วมกัน หมายความว่านอกเหนือไปจากความเคารพต่อความเป็นปัจเจกซึ่งกันและกันแล้ว พลเมืองยังต้องมีหน้าที่ต่อกันด้วย ซึ่งการมีหน้าที่ต่อกันดังกล่าวโยงไปที่ศูนย์กลางคือรัฐ ดังนั้นหน้าที่ของพลเมืองต่อรัฐ ก็คือหน้าที่ต่อเพื่อนพลเมืองด้วยกันด้วยนั่นเอง ในการที่จะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันบนโลกแห่งความเป็นจริงและสามัญลักษณ์โดยสันติ ซึ่งสันติจะเกิดขึ้นได้ถ้าพลเมืองและผู้ปกครองสำเหนียกถึงสิทธิและหน้าที่ของตนตามคุณลักษณะทางด้านศีลธรรมพื้นฐานของมนุษย์ที่ตั้งอยู่บนความมีเสรีภาพเป็นประการสำคัญ
ความตื่นตระหนกทางศีลธรรมทางศาสนาแบบไทยๆ ไม่ใช่สิ่งที่เสียหายแต่อย่างใด หากแต่การตื่นตระหนกดังกล่าว ทำให้ “ความดี (ศีลธรรม)เชิงปัจเจก” ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น การตีความเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเมือง) อยู่เนืองๆตลอดมา ความดีเชิงปัจเจกหรือในเชิงศาสนาแบบที่รัฐไทยนำมาใช้นั้น จึงถูกอธิบายโดยหลักธรรมต่างๆ ในรูปแบบการควบคุมทางศีลธรรมโดยรัฐ)
ขณะที่อีกส่วนหนึ่งของแวดวงวิชาการของไทยมีการนำหลักธรรมทางศาสนาไปสู่กระบวนการตีความ “ความเป็นพลเมือง” เสียใหม่ให้สอดคล้องกับกระแสประชาธิปไตย เช่น ในเรื่องของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะของความเป็นมนุษย์โดยปราศจากเงื่อนไขชนชั้น วรรณะ รวมถึงความยุติธรรมเชิงประชาธิปไตยตามพลวัตของโลก ซึ่งหากเป็นในกรณีของพุทธศาสนา “ดร.อัมเบดการ์” ผู้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีเพียงฉบับเดียวของอินเดีย (ที่ไม่เคยมีประวัติการฉีกทิ้งเลย) ได้แสดงให้เห็นว่าพลังในการตีความคำสอนทางศาสนาจำเป็นและยิ่งใหญ่เพียงใด ซึ่งนี่ก็เป็นกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการด้านศาสนาของไทย ถึงแม้จะน้อยมากก็ตามที
โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า ความแตกต่างระหว่างความตื่นตระหนกทางด้านศีลธรรมภายใต้รัฐไทยกับภายใต้รัฐตะวันตกก็คือ ผลจากความตื่นตระหนก ความตื่นตระหนกฯภายใต้รัฐไทยนำไปสู่การสร้างกระบวนการควบคุมด้านศีลธรรมขึ้นมานอกเหนือจากกฎหมายโดยรัฐ ขณะที่รัฐฝ่ายตะวันตกนำไปสู่การวางเฉยไม่ยุ่งเกี่ยว หรือคือการปลดปล่อยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของปวงชน.

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top