0

ประโยค Je Suis Charlie ได้เปลี่ยนโลกไปอย่างไร ?
ราว 1 ปีก่อน ประโยค "Je Suis Charlie” (ฉันคือชาร์ลี) ได้กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ผู้คนหลายล้านคนโพสต์หรือติดแฮชแท็ก ‪#‎JeSuisCharlie‬ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพในการพูด หลังเกิดโศกนาฏกรรมกราดยิงที่สำนักงานนิตสารชาร์ลี เอบโดเมื่อต้นปีที่แล้ว
นายโจอาคิม รองซางผู้กำกับศิลป์ของนิตยสารแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ผู้สร้างประโยคและภาพขาวดำ Je Suis Charlie เล่าให้ฟังว่า หลังเกิดเหตุ คนรอบตัวของเขาวางมือจากทุกอย่างที่ทำอยู่ เขาตกใจมาก แต่ไม่ได้รู้สึกเกรงกลัว เขาจึงลงมือออกแบบภาพข้อความ Je Suis Charlie โดยใช้ฟอนต์เดียวกันกับฟอนต์บนปกของนิตยสารดังกล่าว และออกแบบภาพอย่างเรียบง่ายโดยวางข้อความสีขาวไว้บนพื้นหลังสีดำ และโพสต์รูปนั้นลงบนทวิตเตอร์
ภาพข้อความ Je Suis Charlie และแฮชแท็กข้อความดังกล่าวได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การแสดงจุดยืนในโลกออนไลน์ โดยโลกออนไลน์เผยแพร่ภาพและแฮชแท็กนี้ผ่านหลายช่องทางไปกว่า 1,500,000 ครั้งในวันเกิดเหตุ และอีกกว่า 6,000,000 ครั้งในสัปดาห์ถัดมา และในอีก 4 วันหลังเกิดเหตุ ผู้คนกว่า 4,000,000 คนพร้อมใจกันถือป้ายข้อความ Je Suis Charlie ขณะเดินขบวนบนถนนหลายเส้นในกรุงปารีส และยังได้กล่าวประโยคนี้ระหว่างการเดินขบวนอีกด้วย ประโยคดังกล่าวจึงได้กลายเป็นตัวแทนของการต่อกรกับการก่อการร้าย
นายรองซางระบุว่า ประโยคและรูปภาพนี้กลายเป็นกระแสเพราะทุกคนรู้สึกถึงความเป็นเอกภาพ และเมื่อมีภัยเกิดขึ้น มนุษย์จะรู้สึกปลอดภัย หากได้อยู่เป็นร่วมกันและกลุ่มเป็นก้อน
อย่างไรก็ตาม คนอีกหลายกลุ่มไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของนิตยสารชาร์ลี เอบโด คนหลายกลุ่มทั้งในฝรั่งเศสและประเทศอื่นจึงได้ผุดกระแสแฮชแท็ก “‪#‎JeNeSuisPasCharlie‬” (ฉันไม่ใช่ชาร์ลี) และ "‪#‎JesuisAhmed‬” (ฉันคืออาห์เหม็ด) ซึ่งเป็นชื่อของตำรวจนายหนึ่งที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ด้วยเช่นกัน และตำรวจนายนี้นับถือศาสนาอิสลาม
นายดีอับ อาบู จาจา นักเขียนชาวเบลเยียม ผู้สร้างแฮชแท็ก #JesuisAhmed ชี้ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับจุดยืนนิตยสารชาร์ลี เอบโดซึ่งนำเสนอแต่ภาพแบบเหมารวมของชาวมุสลิม จึงได้สร้างแฮชแท็ก #JesuisAhmed ขึ้นมา
ภายหลังเหตุโจมตีสำนักงาน นิตยสารชาร์ลี เอบโดได้กลายเป็นจุดสนใจของนานาประเทศ สำหรับพวกเขาแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนไป มีผู้สนใจสมัครรับนิตยสารมากขึ้น เพราะต้องการร่วมแสดงจุดยืน นิตยสารชาร์ลี เอบโดจึงมั่งคั่งขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัว
นักวาดภาพการ์ตูนรายหนึ่งของนิตยสารเล่าว่า ทีมงานรู้สึกว่าชาร์ลี เอบโดที่ยากจนและเสียดสีทุกอย่างแบบเดิมไม่มีอีกแล้ว และความคาดหวังของสาธารณชนก็มีมากขึ้นไปด้วย ทั้งที่พวกเขาเสียทีมงานมือดีไปจำนวนมาก และคนที่เหลืออยู่ก็ตกอยู่ในความหวาดกลัว และต้องได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทีมงานบางคนถึงกับประกาศหยุดวาดภาพล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดและลาออกไปในที่สุด เพราะเห็นว่านิตยสารชาร์ลี เอบโดกลายเป็นสมรภูมิรบ ขณะที่พวกเขาเป็นเพียงนักวาดภาพการ์ตูน ไม่ได้เป็นทหาร
นายแพททริค เพลล็อกซ์ อดีตนักเขียนของชาร์ลี เอบโดเล่าว่า ตอนนี้ชาร์ลี เอบโดได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของจุดยืนไปแล้ว และการเป็นสัญลักษณ์นำมาซึ่งข้อผูกมัด นั่นหมายความว่า ชาร์ลี เอบโดยังต้องคงอยู่ แต่เขาเองก็ไม่ทราบว่าจะคงอยู่ไปอีกนานเท่าใด
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์การใช้แฮชแท็กต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ทำให้มองได้ถึงประเด็นเรื่องการใช้ “สัญลักษณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ถ้อยคำเรียบง่าย แต่จดจำได้ง่ายบนโลกออนไลน์ และสำหรับนายรองซางเอง เขาบอกว่าวลี Je Suis Charlie เป็นวลีง่าย ๆ ที่แสดงถึงจุดยืนเพื่อเรียกร้องสันติภาพ และสำหรับเขา สันติภาพหมายถึงการมีชีวิตอยู่ต่อไป


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top