เปิดโครงการขุดหากระดูกทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมียนมาร์หรือพม่า นอกจากโครงกระดูกแล้วยังพบอาวุธเก่าทั้งของพม่าและอังกฤษ บวกชิ้นส่วนรางรถไฟที่เชื่อว่าเป็นส่วนต่อจากสายมรณะที่กาญจนบุรี
แหล่งข่าวในโครงการจัดเก็บโครงกระดูกทหารญี่ปุ่นในพม่าเปิดเผยว่า ขณะนี้เอกชนญี่ปุ่นโดยการสนับสนุนของรัฐบาลกำลังค้นหาและเก็บกระดูกของทหารญี่ปุ่นในพม่า ทหารเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่ถูกส่งไปรบในพม่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และผลของการค้นหาซึ่งเริ่มอย่างจริงจังช่วงปลายปีพบกระดูกทหารญี่ปุ่นแล้ว 2,200 ศพ และยังพบหลักฐานอื่นๆอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ในพม่าของกองกำลังญี่ปุ่น ทั้งที่ตั้งค่าย อาวุธเก่า พร้อมกับคำบอกเล่าของชาวพม่าจำนวนมากที่เคยรู้จักหรือสัมพันธ์กับทหารญี่ปุ่นเหล่านั้น
โครงการดังกล่าวอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในพม่าซึ่งญี่ปุ่นเข้ายึดครองในช่วงระหว่างปี 2485- 2488 โดยในช่วงแรกญี่ปุ่นให้เหตุผลว่าเป็นการปลดปล่อยพม่าจากเจ้าอาณานิคม แต่หลังจากนั้นได้เกิดขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในพม่าที่มีส่วนร่วมสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย ก่อนที่ญี่ปุ่นจะพ่ายแพ้คือในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ญี่ปุ่นกับทหารอังกฤษสู้รบกันอย่างดุเดือดในสมรภูมิที่พม่า จากการปะทะกันที่แนวชายแดนพม่าและอินเดีย ทีมงานค้นหากระดูกทหารญี่ปุ่นชุดนี้บอกว่าพวกเขาค้นพบหลักฐานมากมายของการสู้รบและการหนีตายของทหารญี่ปุ่นที่ย้อนกลับเข้าพื้นที่ส่วนกลาง กระจายตัวกันออกไปในหลายเส้นทาง ผลของการสู้รบ อาการบาดเจ็บและโรคภัยตลอดจนการถูกไล่ล่าจนถึงขนาดมีการตั้งค่าหัวนั้น ทำให้ในที่สุดทหารญี่ปุ่นทิ้งชีวิตไว้ในพม่าไม่ต่ำกว่า 75,000 คน ขณะที่อีก 45,000 คนสูญหายไป
การติดตามค้นหากระดูกของทหารญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ของโครงการพบเส้นทางหนีของพวกเขาซึ่งแยกออกเป็นหลายสาย แต่มีเส้นทางหลักที่เรียกกันว่า White Bone Route หรือเส้นทางกระดูกขาว “ที่เรียกกันแบบนี้เพราะว่าเส้นทางนี้จะมีซากศพของทหารที่ตายแล้ว คนที่หนีตามๆกันมาใช้วิธีเดินตามเส้นทางโดยใช้โครงกระดูกของคนที่ตายไปก่อนหน้าเป็นตัวนำทาง” เส้นทางหนีพวกนี้นำทหารญี่ปุ่นเข้าสู่เมืองไทย ตามทางพบหลุมศพอยู่ตามจุดต่างๆรวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง เช่นที่ขุนยวม แม่ฮ่องสอน เจ้าหน้าที่บอกว่าพบกระดูกทหารญี่ปุ่นอยู่จำนวนหนึ่ง
เจ้าหน้าที่ในโครงการค้นหากระดูกซึ่งขอสงวนชื่อเนื่องจากความอ่อนไหวของการทำงานที่ต้องเข้าสู่พื้นที่ภายใต้การดูแลของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ได้เล่าถึงโครงการว่า โครงการนี้ดำเนินการมาแล้วอย่างเงียบๆตั้งแต่ปลายปี 2555 ผ่านการประสานงานของเอกชนญี่ปุ่นที่เข้าไปทำงานกับภาคเอกชนในพม่าจนได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่าและต่อมาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น โครงการเริ่มด้วยการอบรมบรรดาผู้ที่จะทำหน้าที่ช่วยค้นหา มีการนำเอาข้อมูลที่รัฐบาลญี่ปุ่นเก็บไว้เรื่องพลรบของตนที่แน่ชัดว่าหายไปในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในพม่าเข้ามาเทียบเคียงเพื่อหาจุดเริ่มต้นสำหรับสถานที่ มีการลงสำรวจ สัมภาษณ์ชาวบ้านหรือผู้อาวุโสในชุมชน ค้นหาที่ที่น่าจะเป็นหลุมฝังศพ และขุดกระดูกที่ยังเหลืออยู่นำกลับไปตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอและเปรียบเทียบ พวกเขาพบว่า ในช่วงระยะแรกทำงานอย่างยากลำบาก แต่หลังจากที่เจ้าหน้าที่เริ่มมีประสบการณ์แล้วนั้น การทำงานก็เริ่มง่ายขึ้น
การค้นหาเริ่มขึ้นจริงจังเมื่อปลายปีที่แล้ว และดำเนินการโดยความร่วมมือกับคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ พวกเขามีทีมค้นหาที่แยกออกเป็นกลุ่มย่อยรวม 12 กลุ่มด้วยกัน พื้นที่หนึ่งที่พวกเขาลงค้นหาคือจุดที่เคยเป็นเขตการปะทะในเขตแดนพม่าตรงข้ามเมือง Imphal ของอินเดีย ที่ซึ่งทหารญี่ปุ่นสูญเสียอย่างหนัก นอกจากนั้นโครงการลงตรวจสอบพื้นที่หลายจุดทั่วไปในภูมิภาคที่เรียกว่าสกายซึ่งเป็นเชตปกครองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐกะเหรี่ยง ยะไข่หรืออารากัน และคะฉิ่น
ที่น่าสนใจคือเจ้าหน้าที่บอกว่า ความทรงจำในเรื่องของทหารญี่ปุ่นในพม่าของคนในชุมชนจำนวนมากยังคงแจ่มชัดแม้จะผ่านไปกว่า 70 ปีแล้วก็ตาม “มีรายหนึ่งอายุ 90 กว่าแล้ว แต่ยังจำได้ดีมาก เขาจำได้แม้แต่ชื่อของนายทหารที่อยู่ที่นั่นชื่อกัปตันอิชกาว่า” แหล่งข่าวเล่า “แล้วเขาพูดว่า บิวริน บิวริน ผมฟังอยู่นาน ในที่สุดเริ่มเข้าใจว่าเขากำลังพูดคำว่า broin ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่าโรงพยาบาล และเขายังพูดภาษาญี่ปุ่นพอได้นิดหน่อย ผมแปลกใจมากจริงๆ”
จากการค้นหา พวกเขาพบที่ที่เคยเป็นค่ายทหาร มีอาวุธที่ยังตกค้างเช่นปืน ชิ้นส่วนรถถัง ทั้งของญี่ปุ่นและของอังกฤษ ที่น่าแปลกใจสำหรับทีมงานทุกคนก็คือการค้นพบรางรถไฟเก่าที่ถือได้ว่าเป็นสายที่ต่อจากเส้นทางรถไฟที่กาญจนบุรีซึ่งเรียกกันว่าเส้นทางรถไฟสายมรณะเนื่องจากได้มีการใช้แรงงานต่างชาติโดยเฉพาะเชลยสงครามในการก่อสร้างจนเสียชีวิตกันไปจำนวนมาก ในส่วนของรางรถไฟที่คันพบในพม่านั้น คาดว่าไปถึงใกล้เมืองเมาะละแหม่ง นอกจากนี้ยังพบป่าช้าขนาดใหญ่อีกสองแห่งซึ่งทีมงานคาดว่าอาจเป็นที่ฝังศพคนที่ทำงานสร้างรางรถไฟก็ได้
“จุดที่เราพยายามจะค้นหาให้ได้ก็คือจุดที่เป็นโรงพยาบาล เพราะที่นั่นจะมีคนตายเยอะ” นอกจากนั้นเขาระบุว่ากระดูกของทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งจะมีแต่ตัวไม่มีหัว จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่พบว่า ในช่วงหนึ่งทหารฝ่ายตรงข้ามใช้วิธีตั้งรางวัลสำหรับคนที่นำหัวทหารญี่ปุ่นไปแสดงได้
“คนทำสงครามทุกคนก็มีเหตุผลทั้งนั้น” แหล่งข่าวกล่าว “ผมไม่ได้สนับสนุนสงคราม และผมคิดว่าญี่ปุ่นก็สร้างเรื่องร้ายๆไว้เยอะมาก แต่ผมคิดว่าเราต้องชำระประวัติศาสตร์ ในสงครามคนชนะเป็นผู้ถูกต้องเสมอ คนแพ้ไม่มีพื้นที่ให้พูด ประวัติศาสตร์มักเป็นเช่นนั้น ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นตัวร้าย เข้าครอบครองเอเชีย แต่ถ้าเราทบทวนบทเรียนที่เกิดขึ้น เราจะพบว่าแต่ละอย่างมีเหตุและผลของมัน ก่อนที่ญี่ปุ่นจะลุกขึ้นมาต่อสู้ โลกตกอยู่ในยุคล่าอาณานิคม รวมทั้งในเอเชีย สิ่งที่ญี่ปุ่นทำอย่างน้อยมันบอกว่า อย่าได้ดูถูกผู้คน เพราะคนเขาจะไม่ยอมและเขาจะสู้ ผมไม่ได้บอกว่าญี่ปุ่นทำถูก แต่ต้องทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อมโยงของเหตุการณ์” ทีมงานชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งกล่าว
ขอบคุณภาพประกอบจากโครงการ



 
Top