นักวิทยาศาสตร์อังกฤษพบ "ยีน" คือคำตอบ ทำไมบางคนสูบบุหรี่จัดแต่ปอดยังสุขภาพดี
หลายคนอาจเคยสงสัยว่า เหตุใดบางคนที่สูบบุหรี่จัดติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี กลับมีสุขภาพปอดดีไม่มีโรคปอดมารบกวน แต่บางคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยกลับป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดเสียได้ เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์จากสภาวิจัยการแพทย์อังกฤษ ค้นพบคำตอบว่า ขึ้นอยู่กับหน่วยพันธุกรรม หรือ "ยีน" ของแต่ละคนนั่นเอง
ผลการวิจัยดังกล่าว ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Respiratory Medicine โดยผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและพันธุกรรมของอาสาสมัครกว่า 50,000 คนในโครงการ Biobank ของอังกฤษ ซึ่งอาสาสมัครในกลุ่มนี้มีทั้งผู้ที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่
นักวิจัยติดตามวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลทางพันธุกรรม กับการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) พบว่า ผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนส่วนหนึ่งในแบบที่เป็นประโยชน์ จะทำให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น และได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่น้อยลง เพราะปอดมีการเติบโตและตอบสนองต่ออาการบาดเจ็บได้ดีกว่าคนทั่วไป รวมทั้งมีความเสี่ยงเป็นโรคปอดน้อยกว่าด้วย แม้จะเป็นคนสูบบุหรี่จัดก็ตาม ซึ่งผลการค้นพบในส่วนนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนายาที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังเตือนว่าไม่ควรสูบบุหรี่ แม้จะเป็นผู้มียีนที่ทำให้ปอดสุขภาพดีก็ตาม เพราะการสูบบุหรี่ไม่ได้นำมาซึ่งโรคปอดเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงโรคหัวใจและมะเร็งชนิดอื่นๆอีกด้วย นอกจากนี้ นักวิจัยยังค้นพบว่ายีนมีส่วนทำให้บางคนมีการทำงานของสมองที่แปลกไปซึ่งทำให้เสพติดนิโคตินในบุหรี่ได้ง่ายกว่าคนอื่น

 
Top