กิตติศักดิ์ ไม่ปรกติ ออกมาปกป้องหัสวุฒิ ว่ามติ ก.ศป.เหมือน "มติไม่ไว้วางใจ" น่าหัวร่อมากเลย เพราะตอนศาลฎีกายึดทรัพย์ทักษิณ ผมเห็นด้วยกับนิติราษฎร์ว่ามันเหมือน "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" (คือเป็นการอภิปรายว่าทักษิณได้ประโยชน์ "โดยไม่สมควร" ทั้งที่ไม่มีพยานหลักฐานว่า "ทุจริต" แต่ศาลต้องการแค่นั้นแหละ เพราะแค่ "ไม่สมควร" ก็สามารถตีความว่า "ร่ำรวยผิดปกติ" ตามมาตรา 4 กฎหมาย ปปช.) แต่กิตติศักดิ์กลับชื่นชมสรรเสริญเหมือนมีการปฏิวัติสังคมนิยมแล้วตั้งศาลประชาชน
คราวนี้ กรณีหัสวุฒิ กิตติศักดิ์กลับต้องการหลักฐาน "มัดแน่น" ว่าหัสวุฒิเป็นผู้ใช้หรือบงการให้ทำจดหมายน้อยฝากตำรวจ
พี่น้องครับ ถ้ามีหลักฐานมัดแน่นอย่างนั้น หัสวุฒิต้องไม่โดนแค่ปลดออก (ยังได้บำเหน็จบำนาญ) แต่ต้องโดนไล่ออก และต้องดำเนินคดีอาญาด้วย
กิตติศักดิ์สับสนกับมาตรฐานการลงโทษ เพราะมติ ก.ศป.ที่ลงโทษหัสวุฒิเป็นเรื่อง "จริยธรรม" ของผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการ ไม่ใช่ "ความผิดอาญา" ซึ่งพฤติกรรมที่ "ไม่น่าไว้วางใจ" ก็เพียงพอแล้ว (จากการที่ดิเรกฤทธิ์ทำจดหมายน้อยเพื่อประโยชน์ของหัสวุฒิ ไม่ใช่ประโยชน์ของดิเรกฤทธิ์เอง แถมเมื่อเรื่องแดง หัสวุฒิก็ไม่แสดงปฏิกิริยาปฏิเสธ กลับแสดงพฤติกรรมอุ้มสมดิเรกฤทธิ์)
พฤติกรรมเช่นนี้ถ้าเปรียบเป็นนักการเมืองก็ต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่ง แต่ทีนักการเมืองละก็ นักกฎหมายทั้งหลายกลับบอกว่าต้องเอาให้ตาย เช่น ถอดถอนไม่พอ ต้องตัดสิทธิ 5 ปี ตัดสิทธิตลอดชีวิต หรือแค่ "เชื่อได้ว่า" ทุจริตเลือกตั้งก็ออกใบแดง ตัดสิทธิ ปรับเงินค่าเลือกตั้งใหม่ หรือถ้าเทียบคดีทักษิณ ศาลพิสูจน์ไม่ได้ว่าทุจริต แต่อ้างว่า "ผิดข้อห้าม" มาตรา 100 กฎหมาย ปปช.เซ็นชื่อให้เมียประมูลซื้อที่ดิน ก็ติดคุก 2 ปี หรือได้ประโยชน์โดย "ไม่สมควร" ก็ยึดทรัพย์ ทั้งที่คำว่า "ไม่สมควร" มันคือความเห็น ไม่ต่างกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั่นเองแต่เป็นการอภิปรายโดยตุลาการ 8 คน
กิตติศักดิ์ยังอ้างว่ามติ ก.ศป. ไม่ยึดตามกรรมการสอบวินัย 3-2 ที่เห็นว่าหัสวุฒิไม่ผิด นี่อย่างที่พูดออกรายการไปแล้วนะครับ ก.ศป.มีอำนาจวินิจฉัยโดยไม่จำเป็นต้องยึดตามกรรมการสอบวินัย ศาลปกครองเอง เวลาวินิจฉัยคดีข้าราชการถูกลงโทษ ก็ใช้บรรทัดฐานนี้ ว่าต่อให้กรรมการสอบวินัยมีมติเอกฉันท์ว่าไม่ผิด ก็เป็นอำนาจของอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการว่าเมื่ออ่านสำนวนแล้ว สามารถมีความเห็นต่างจากกรรมการสอบวินัยได้
คดีนี้ ความเห็น ก.ศป.ต่างจากกรรมการสอบวินัย ในแง่ที่ว่ากรรมการเสียงข้างมากมุ่งไปที่พยานหลักฐาน ต้องการ "มัดแน่น" แต่ ก.ศป.เห็นว่าไม่จำเป็น แค่พยานหลักฐานแวดล้อมส่อว่า "รู้เห็น" ก็เพียงพอ ก็ถือว่าผิดจริยธรรมตุลาการ ไม่สมควรที่จะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ต่อไป เพียงเป็นความผิดในระดับที่ "ปลดออก" ไม่ใช่ไล่ออก ดังกล่าวแล้ว
ส่วนที่กิตติศักดิ์อ้างว่า กรรมการสอบวินัยเสียงข้างน้อยเล่นแง่ คัดค้านกรรมการจาก ก.พ. ก็เพราะ ก.พ. (ที่มีวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน) ส่งธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่ปัจจุบันยังกินเงินเดือนที่ปรึกษาศาลปกครอง เดือนละ 60,000 มาเป็นกรรมการสอบ = เป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากคนที่จ้างที่ปรึกษาหรือสำนักงานศาลปกครองที่อยู่ใต้อำนาจประธาน (แล้วพอหัสวุฒิถูกพักงาน-ถูกออก ตอนนี้รักษาการประธานก็จะเลิกจ้างรวด 11 คน รวมอักขราทร จุฬารัตน)
ที่ว่าเรื่องนี้เป็นการเมืองในศาลไหม ดูตัว ก.ศป.แล้วก็เห็นได้ว่าไม่มีการเมืองเลย ไม่มีสีไม่มีฝ่าย ข้ามสีไปมา เพราะวันตัดสินผิด 7-0 ก.ศป. 3 ใน 7 คนที่ลงมติคือ กู้เกียรติ สุนทรบุระ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.เลือกมา (กู้เกียรติเป็นประธานที่ประชุมด้วย) อุดม รัฐอมฤต (รองอธิการ มธ.พวกเหลืองนกหวีดก๊กเดียวกับกิตติศักดิ์นั่นละ) นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช (อดีตผู้ว่าฯ) ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ สนช.เลือกมา (ส่วนตอนลงมติชี้โทษ 6-0 วีรวิทย์ลาไปทำธุระ)
00000
มติคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่ให้ “ปลด” นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ฐานมีส่วนรู้เห็นอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองทำ “จดหมายน้อย” ฝากตำรวจ แม้ยังวิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบ แต่ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ฟ้องเพิกถอนคำสั่ง (จะไปออกรายการทีวีวิทยุแทน) เรื่องก็จบแล้ว คือท่านต้องพ้นตำแหน่งสถานเดียว
นักกฎหมาย “ขาม็อบ” กิตติศักดิ์ ปรกติ แย้ง ก.ศป.ว่าลงโทษโดยไม่ยึดตามคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งลงมติ 3-2 ไม่ผิด ทั้งยังย้อนว่าตอนตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรรมการเสียงข้างน้อยก็คัดค้านกรรมการที่ ก.พ. ส่งมา “อย่างไม่มีเหตุผล”
ที่จริงมีเหตุผลนะครับ เพราะคนที่ ก.พ.ส่งมาคือ นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานศาลปกครองยังจ้างให้กินเงินเดือนที่ปรึกษา 60,000 บาท กรรมการคนอื่นจึงแย้งว่ามีประโยชน์ทับซ้อน
ปัจจุบัน ศาลปกครองจ้างที่ปรึกษา 11 คน ตั้งแต่ท่านอดีตประธาน อักขราทร จุฬารัตน ไปถึงคนที่เพิ่งพ้นตำแหน่งเช่นอดีตรองประธาน นายวิชัย ชื่นชมพูนท โดยไม่มีหลักเกณฑ์ว่าใครจะได้เป็นบ้าง เพราะบางคนอย่างนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ อดีตรองประธานที่ก่อตั้งศาลปกครองมาด้วยกันกับท่านอักขราทร ก็ไม่ยักจ้าง
ซึ่งหลังจากปลดนายหัสวุฒิ รักษาการประธานก็จะเลิกจ้างที่ปรึกษาทั้งหมด
คำถามสำคัญคือ กรรมการสอบวินัยชี้ว่าไม่ผิด 3-2 แล้ว ก.ศป.มีอำนาจพลิกผลสอบหรือไม่ มีสิครับ หลักง่ายๆ อำนาจเป็นของใคร ในคดีวินัยข้าราชการมีตัวอย่างถมไป ที่อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการ ตั้งกรรมการสอบวินัยข้าราชการ แล้วกรรมการลงมติเอกฉันท์ไม่ผิด แต่อธิบดีดูรายละเอียดในสำนวนสอบสวนแล้วเห็นว่าผิด ลงโทษปลดออกไล่ออก ข้าราชการมาฟ้องศาลปกครอง ศาลก็เห็นว่าเป็นอำนาจอธิบดี เว้นแต่อธิบดีลงโทษโดยไม่มีพยานหลักฐาน
กรณีนี้ก็เป็นอำนาจ ก.ศป.เช่นกัน แต่ข้อที่โต้แย้งกันคือกิตติศักดิ์เห็นว่าต้องมีพยานหลักฐานมัดแน่นว่าประธานใช้เลขาธิการศาลปกครองไปทำจดหมายขอย้ายตำรวจ ขณะที่ ก.ศป.เห็นว่าแค่ “มีส่วนรู้เห็นเป็นใจและรับทราบ” ก็ผิดจริยธรรมตุลาการแล้ว โปรดสังเกต ก.ศป.ลงโทษปลดออกไม่ใช่ไล่ออก นายหัสวุฒิยังได้บำเหน็จบำนาญ ซึ่งถ้ามีพยานหลักฐานมัดคงไม่แค่ปลดออก แต่ไล่ออกแล้วต้องดำเนินคดีอาญาด้วย
นี่คือข้อที่กิตติศักดิ์เห็นว่าเหมือน “ลงมติไม่ไว้วางใจ” แต่ ก.ศป.เห็นว่าวินิจฉัยจากหลักฐานแวดล้อมก็เพียงพอ ที่จะตัดสินว่าสมควรเป็นตุลาการต่อไปหรือไม่ เทียบกับนักการเมืองนี่คือการ “ถอดถอน” จากตำแหน่ง ซึ่งนักการเมืองหนักกว่าด้วยเพราะแค่ “ลงมติไม่ไว้วางใจ” โดยสภาที่คณะรัฐประหารตั้งก็ถูกตัดสิทธิ 5 ปี
เรื่องที่ตั้งแง่กันว่าเป็น “การเมือง” ในศาล ก็เหลวไหลนะครับเพราะมติ 7-0 ที่ชี้ผิด 3 เสียงในนั้นคือ นายกู้เกียรติ สุนทรบุระ ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีเลือกมา นายอุดม รัฐอมฤต, นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ สนช.เลือกมา
นักกฎหมายถ้าไม่มีมาตรฐานก็สับสน กับนักการเมืองทำอย่างไรก็ได้ แต่กับศาลเรียกร้องให้หาหลักฐานแน่นหนาเสียก่อน ไม่แยกแยะว่าการลงโทษมีหลายระดับคือ จริยธรรมต่อการดำรงตำแหน่ง ความผิดวินัยร้ายแรง หรือความผิดที่มีโทษทางอาญาด้วยซึ่งในเรื่องจริยธรรม ตุลาการต้องถูกเรียกร้องสูงกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ
ใบตองแห้ง
source : FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/