สีสันการชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ
การประชุมของผู้นำประเทศต่างๆ เริ่มขึ้นแล้วในอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติที่นิวยอร์ก ขณะเดียวกัน ด้านหน้าอาคารก็มีผู้ชุมนุมจากประเทศต่างๆ มาแสดงออกทางการเมือง โดยองค์การสหประชาชาติได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ เอาไว้ด้านหน้าอาคาร
นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการที่ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทาง ภายหลังปฏิเสธคำสั่งรายงานตัวต่อ คสช. บอกกับบีบีซีไทยว่าเขาไปประท้วงนายกรัฐมนตรีเช่นกัน แต่ยืนยันว่าไปในนามของตัวเองเพียงลำพัง เพื่อปกป้องสิทธิในการแสดงออกในฐานะนักวิชาการ ส่วนผู้ประท้วงกลุ่มอื่นๆ อาจจะมาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป ทั้งเรื่องของการเข้าสู่ตำแหน่งโดยการรัฐประหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ล้มรัฐธรรมนูญ เป็นต้น “ผมเรียกร้องในประเด็นที่ผมถูกละเมิดสิทธิและถูกคุกคาม คงไม่อาจหาญไปเรียกร้องแทนใครได้ แต่ถ้าหากผลของการเรียกร้องนี้จะส่งผลกว้างออกไปก็เป็นเรื่องที่ผมยินดี”
สำหรับความเห็นของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับผู้ประท้วงและต่อต้านนั้น ก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวว่าผู้ประท้วงย่อมมีสิทธิประท้วงไม่สามารถห้ามได้ แต่ขอให้นึกถึงภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งนายปวินเห็นว่าการเข้ามาสู่อำนาจโดยไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนนั้นเป็นเรื่องน่าละอายยิ่งกว่า และในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศเสรี ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงออกทางการเมืองอยู่แล้ว และเชื่อมั่นว่าผู้ชุมนุมที่มาจากต่างจุดยืนทางการเมืองจะไม่มีการเผชิญหน้าหรือปะทะกัน
สำหรับบรรยากาศในวานนี้ (26 กันยายน) จบลงไปอย่างเรียบร้อย ใกล้ๆ กันกับผู้ชุมนุมของคนไทยทั้งกลุ่มที่ต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาล มีประชาชนจากประเทศอื่นๆ เช่น สมาชิกฝ่าหลุนกง จากจีน ชาวจีนไต้หวันที่เรียกร้องการแยกประเทศจากจีนแผ่นดินใหญ่ ชาวกัมพูชา และชาวซูดาน โดยพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติก็จะยังเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองของประชาชนจากทุกมุมโลกต่อไปจนกว่าฝั่งผู้นำจะประชุมเสร็จสิ้น โดยผู้ประท้วงชาวไทยได้สิ้นสุดกิจกรรมในวันนี้ ขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลจะมาชุมนุมต่อในวันถัดไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากแผนเดิมที่จะชุมนุมวันเดียวคือวันที่ 27 มาเป็นการชุมนุมสองวันต่อเนื่องคือ 26 และ 27 กันยายน