0

พบเทคนิคใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดา
คณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ในสหรัฐฯ ใช้นาโนเทคโนโลยีในการพัฒนาเทคนิคใหม่ที่จะช่วยให้หลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีเกี่ยวกับหลอดไส้ร้อนแบบธรรมดามีความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยนับแต่โทมัส เอดิสัน พัฒนามันขึ้นมาใน ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880 โดยหลอดไฟชนิดนี้กำเนิดแสงโดยใช้ไฟฟ้าให้ความร้อนแก่ไส้หลอดทังสเตน จนกระทั่งมีอุณหภูมิสูงแล้วเปล่งแสงขาวนวลออกมา อย่างไรก็ตาม หลอดไฟประเภทนี้กินไฟมาก โดยพลังงานที่ใช้ถูกแปลงไปเป็นแสงสว่างราว 2-3% และสูญเสียพลังงานที่เหลือไปในรูปของความร้อน ส่งผลให้หลายประเทศยกเลิกการใช้หลอดไฟชนิดนี้ เช่น ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป แคนาดา และสหรัฐฯ ที่เลิกการผลิตและนำเข้าหลอดไส้ร้อนแบบธรรมดา
แต่ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเอ็มไอที ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ นาโนเทคโนโลยี โดยคิดค้นวิธีการนำพลังงานที่สูญเสียไปดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้ง ด้วยการใช้นาโนเทคโนโลยีในการผลิตโครงสร้างคริสตัลขึ้นมาล้อมรอบไส้หลอดไฟ ซึ่งจะทำหน้าที่รับรังสีอินฟราเรดที่รั่วออกมาแล้วสะท้อนรังสีกลับไปยังไส้หลอด ทำให้ไส้หลอดดูดซึมรังสีกลับเข้าไปแล้วเปล่งเป็นแสงสว่างอีกครั้ง
ทีมนักวิจัยบอกว่า ในทางทฤษฎี โครงสร้างคริสตัลดังกล่าวจะช่วยให้หลอดไส้ร้อนแบบธรรมดามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 40% ทำให้มันใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ประหยัดไฟ และหลอดแอลอีดีที่วางขายในปัจจุบันถึง 3 เท่า พร้อมชี้ว่า การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของหลอดไฟอาจนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของเทคโนโลยีการแปลงพลังงานชนิดอื่น ๆ ในอนาคตด้วย
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ)


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top