วิกฤตหนี้นอกระบบทำชาวนาสูญเสียที่ดิน : แฟนเพจท่านใดมีประสบการณ์ตรงส่งข้อความมาแลกเปลี่ยนกันนะครับ
ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรระบุชาวนาไทยเป็นหนี้นอกระบบถึงขั้นวิกฤต ส่งผลให้ที่ดินหลุดมือ ด้านศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้เผยชาวนาเกือบครึ่งเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ เพราะความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงิน และมีบางส่วนที่ติดการพนัน ชี้ทัศนคติเจ้าหน้าที่รัฐที่มองเกษตรกรว่าไม่รู้จักพอเพียง ส่งผลให้ช่วยเหลือไม่เต็มที่ ด้านมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนเสนอให้ส่งเสริมคนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตร
วันนี้ (11 ม.ค.) มีการเสวนาเรื่องวิกฤตหนี้นอกระบบ เกษตรกรกับทางออกที่ยั่งยืน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าชาวนาไทยส่วนใหญ่มีเจ้าหนี้หลายราย ทั้งในและนอกระบบ บางครั้งเป็นการกู้เงินเพื่อนำไปชำระหนี้ซึ่งกันและกัน หรือเพื่อชดเชยที่ไม่สามารถกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ได้ ทั้งนี้ เจ้าหนี้นอกระบบส่วนใหญ่จะกำหนดอายุสัญญาเงินกู้สั้น 3 หรือ 6 เดือน ซึ่งไม่เป็นธรรม หากชาวนาไม่สามารถชำระหนี้ได้เมื่อครบกำหนด ที่ดินที่นำไปค้ำประกันก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้นอกระบบโดยถูกกฎหมายทันที
ในด้านต้นทุนการผลิต นางกิมอังกล่าวว่า ชาวนาใช้เงินลงทุนปลูกข้าวต่อไร่ราว 6,500 บาท หรือ 81.25 บาทต่อถัง แต่โรงสีรับซื้อในราคา 61.25 บาทต่อถัง นับเป็นการขาดทุนตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ชาวนายังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การระบาดของแมลงศัตรูพืชและภัยธรรมชาติ ซึ่งหากผลผลิตเสียหายติดต่อกันสองรอบของการเพาะปลูก ชาวนาก็จะต้องหาทางออกด้วยการไปเป็นหนี้นอกระบบ
ทางด้าน พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงได้สำรวจเกษตรกรราว 4,800 คน พบว่า เกือบ 51% เป็นหนี้นอกระบบ และอีกราว 49% เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยมีสาเหตุจากความต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วนในการลงทุนเพาะปลูก จับจ่ายใช้สอย และมีบางส่วนนำเงินที่กู้มาไปเล่นการพนัน
พ.ต.ท.วิชัย กล่าวว่า ภาครัฐต้องมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ทั้งให้ความรู้ ลดปัจจัยที่จะนำไปสู่การเป็นหนี้นอกระบบ เช่น การเล่นพนันลง บังคับใช้กฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบอย่างเคร่งครัด ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกฟ้องคดี และปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ให้ทันสมัย ส่วนสถาบันการเงินของรัฐเองจะต้องไม่สร้างหลักเกณฑ์อนุมัติเงินกู้ที่มากเกินไป ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้
พ.ต.ท.วิชัย เห็นว่าหน่วยงานของรัฐทั้ง ธกส. กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรทำงานร่วมกันมากขึ้น และช่วยเหลือเกษตรกรจนถึงที่สุด มิใช่เพียงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ นอกจากนี้ ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มองว่าเกษตรกรไม่รู้จักพอเพียง ส่งผลให้การให้ความช่วยเหลือของรัฐเป็นไปอย่างไม่เต็มที่
ด้านนางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เสนอว่าการจัดทำตลาดที่เกษตรกรนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายเองในหมู่บ้าน จะช่วยทำให้ได้ความรู้และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้ตรงกับความต้องการของตลาด นางสุภา เสนอให้มีการจับคู่เกษตรกรที่มีที่ดินและไร้ที่ดินเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กลับมาทำการเกษตร และจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งให้เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักวิจัย และกำหนดทิศทางอนาคตของตนเอง
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น